ชีวิตนี้เพื่อคน
สิ่งมีชีวิตที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ เกิดมาเพื่อถูกฆ่า แต่การตายของพวกมันสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั่นเอง ทั้งหมดคือเรื่องจริงของชีวิตสัตว์ทดลอง เจ้ามันเกิดมาเพื่อคนโดยแท้ สัตว์ทดลองหรือเรียกเพื่อให้เป็นเกียรติแก่พวกมันหน่อยก็คือสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้ามันพูดได้มันจะยอมไหมหนา
ภาพ หนูทดลอง
ที่มา https://pixabay.com , tiburi
ส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทดลองหรืองานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์อย่างหนึ่งก็คือ สัตว์ทดลอง (Laboratory animal) เพราะมันคือหน้าที่ที่ต้องเสียสละเพื่อแลกมาด้วยคุณประโยชน์ทางความรู้ต่าง ๆ มากมาย เช่น เพื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ ความปลอดภัยแก่มวลมนุษย์ เพื่อผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
สัตว์ทดลองคือสัตว์ที่จัดกลุ่มไว้เพื่อใช้ทดลองในห้องปฏิบัติการ เปรียบได้กับตัวแทนชีวิตของคนที่อยู่ในโลก เหตุที่เราต้องทดลองโดยใช้สัตว์ทดลองก็เพราะว่า ในแง่ของการศึกษาวิจัย กรณีแรก การนำยาตัวหนึ่งใส่ในคน คนบางคนอาจจะบอกว่าไม่เจ็บ ทั้ง ๆ ที่เจ็บ แต่สัตว์ทดลองจะไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะแสดงปฏิกิริยาให้ทราบทันที เพราะเจ็บก็คือเจ็บ กรณีที่สอง การทดสอบความเป็นพิษของยา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมจากการทดลองกับสัตว์ได้มากกว่าทดลองกับคน นำผลมาซึ่งความถูกต้องของข้อมูลนั่นเอง
การทดลองในสัตว์เริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. 2164 โดย 2 นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียนคือ Theophilus Muller และ Johannes Faber ได้ทดลองโดยผ่าตัดหนูเพื่อทำการศึกษาถึงอวัยวะภายใน โดยลักษณะของสัตว์ที่จะนำมาทดลอง จะมีคุณสมบัติที่เหมาะคือ มีขนาดเล็ก จับง่าย ควบคุมได้ ปลอดโรค มีพันธุกรรมแน่นอน และสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เช่น หนูแรท หนูเม้าส์ หนูตะเภา กระต่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีก หลายประเภท เช่น หมึก ปลาหางนกยูง กบ กิ้งก่า งู เต่า ไก่ เป็ด ห่าน ช้าง ม้า วัว ควาย นก สุนัข แมว ลา ลิง ชะนี หมู แกะ แพะ เป็นต้น แต่สัตว์ยอดนิยมที่ถูกนำมาทดลองเป็นส่วนใหญ่คือ หนู ด้วยเหตุที่ว่า หนูเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไว
หลักการเลือกใช้สัตว์ทดลองในการทดลองและวิจัย
- แหล่งผลิตที่มีประวัติการสืบสายพันธุ์
- มีข้อมูลทางด้านพันธุกรรมและมีคุณสมบัติทางพันธุกรรมคงที่
- ระบบการเลี้ยงและการจัดการที่ดี
- มีความพร้อมให้บริการทุกรูปแบบและต่อเนื่อง
- มีการตรวจสอบคุณภาพสุขภาพและเผยแพร่รายงานสม่ำเสมอ
ในแง่ของการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ที่ใช้ในการทดลอง มีข้อมูลในแหล่งวิชาการที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ไว้ว่า การที่สัตว์ได้รับการเลี้ยงและดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขอนามัยที่ดี มีที่อยู่สะดวกสบาย ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ หรืออธิบายง่าย ๆ คือ “ความสุขกาย สบายใจของสัตว์” โดยยึดหลักการ 5 ประการ (Five Freedoms)
1.อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst)
2.อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort)
3.อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย (Freedom from pain injury and disease)
4.อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress)
5.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior)
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้สัตว์และผู้เลี้ยงสัตว์ยึดถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันคือ จรรยาบรรณการใช้สัตว์ สรุปเป็นใจความสำคัญไว้ดังนี้
1.ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ ใช้สัตว์เฉพาะกรณีที่ได้พิจารณาถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นสูงสุดและได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมกว่า
2.ตระหนักถึงความแม่นยำของผลงานโดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงคุณสมบัติทางพันธุกรรมของสัตว์ที่นำมาใช้ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการใช้สัตว์ เพื่อการใช้สัตว์น้อยที่สุด และได้รับผลงานที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด
3.ไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า
4.สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอน แต่การขนส่ง การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยง เทคนิคในการเลี้ยง และการปฏิบัติต่อสัตว์ โดยไม่ให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดความเครียดหรือความทุกทรมาน
5.ต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน วนพร้อมจะเปิดเผยชี้แจงได้ทุกโอกาส
ในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ โดยพบปัญหาผู้ใช้สัตว์จำนวนไม่น้อยละเลยคุณธรรมที่พึงมีต่อสัตว์ ความกดดันที่สัตว์ได้รับเนื่องจากถูกกักขัง สูญเสียอิสรภาพ อันนำมาซึ่งความทรมานและสร้างความเจ็บปวดแก่สัตว์
หลายประเทศเริ่มมีนโยบายการต่อต้านผลิตภัณฑ์ซึ่งมีที่ใช้สัตว์ทดลอง และมีแนวคิดช่วยเหลือที่จะช่วยให้ลดปริมาณการใช้งานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัยต่าง ๆ ถึงแม้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็พยายามหาวิธีที่จะช่วยเหลือให้มากที่สุด เช่น การนำวิธีการทางด้านคณิตศาสตร์ ด้านคอมพิวเตอร์ และ In vitro biological system มาใช้แทนการใช้สัตว์ เพื่อลดจำนวนการใช้สัตว์ลง แต่วิธีการเหล่านี้ได้ผลเฉพาะบางกรณีเท่านั้น อย่างกรณีของคิดค้น ชิพสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ โดยการคิดค้นของ Jonathan Dordick นำมาใช้ทดลองแทนการใช้สัตว์ทดลอง โดยในชิพดังกล่าวจะบรรจุเซลล์และเอนไซม์ของมนุษย์ลงไป แม้ชิพตัวนี้ยังใช้การได้ไม่ดีนักแต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการผลิตวิทยาการเพื่อนำมาใช้ทดลองแทนการนำสัตว์มาใช้ทดลองโดยตรง
สุดท้ายก็อยากฝากไว้ว่า ชีวิตคนเรามีค่าและสำคัญนัก การดำรงชีวิตที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องแลกมาด้วยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า สัตว์ทดลอง จงรักและรักษามันด้วยชีวิตด้วยเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ . แหล่งผลิต "ตัวแทนชีวิตคน . สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/km-lab-animals/41-km-infoanimals/133-euthanasia-physical-method-4
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ . แหล่งผลิต ตัวแทนชีวิตคน . สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/km-lab-animals/41-km-infoanimals/133-euthanasia-physical-method-4
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สลช.วช.) . สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ . สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.labanimals.net/images/Download/May2013/4.pdf
Pornphanh. (2560, 4 กุมภาพันธ์) . เรื่องจริง! 7 สัตว์ทดลอง ที่ถูกนำมาช่วยเหลือมนุษย์ .สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก https://teen.mthai.com/variety/90065.html
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ . สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare). สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/veterinarian/animal-welfare
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ . จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/research/research/35-research
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ . หลักการใช้สัตว์ทดลอง. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2561, จาก http://www.nlac.mahidol.ac.th/acth/index.php/km-lab-animals/41-km-infoanimals/134-euthanasia-physical-method-5
-
8485 ชีวิตนี้เพื่อคน /article-biology/item/8485-2018-07-18-04-22-35เพิ่มในรายการโปรด