“อ่านเหมือนไม่ได้อ่าน” สถานการณ์ของความสนใจ
นักเรียนหลายคนอาจเคยเจอสถานการณ์ที่ตัวเองอ่านหนังสือหรือทบทวนบทเรียนซ้ำไปมาหลายรอบแต่สุดท้ายก็ยังไม่เข้าใจความหมายและมักจะพูดกับตัวเองด้วยประโยคที่ว่า “อ่านก็เหมือนไม่ได้อ่าน” แล้วเคยสงสัยหรือไม่ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ภาพที่ 1 การอ่านหนังสือ
ที่มา https://pixabay.com , Pezibear
สาเหตุของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนนี้มีความเกี่ยวข้องกับระบบความคิดและประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่เข้าใจกระบวนการทำงานดีพอนัก ดังนั้นความรู้ด้านกระบวนการทางสรีรวิทยา (Physiological processes) ที่ควบคุมดูแลการทำงานที่เกี่ยวข้องที่มีนั้นยังไม่สามารถอธิบายได้เพียงคำตอบเดียว จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากหลักฐานทางการศึกษาร่วมด้วย
แม้ว่าคุณจะไม่ทราบว่าคุณอ่านบทเรียนเกี่ยวกับชีววิทยาในเรื่องอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตจบได้อย่างไรโดยที่ไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน ข้อมูลดังต่อไปนี้แม้จะเป็นเพียงการพิจารณาถึงเหตุและผลแต่ก็เป็นสาระสำคัญที่พยายามจะตอบคำถามถึงสาเหตุของสถานการณ์ดังกล่าว
ทฤษฎีเฮ็บเบียน (Hebbian theory)
เมื่อคุณกำลังอ่านบางสิ่งบางอย่าง สมองจะเชื่อมต่อเนื้อหาที่อ่านเข้ากับหน่วยความจำ ทั้งนี้ทฤษฎีเฮ็บเบียน (Hebbian theory) เป็นทฤษฎีเกี่ยวข้องกับประสาทวิทยาที่เสนอโดยโดนัลด์ เฮ็บบ์ ในปี ค.ศ. 1949 โดยได้อธิบายเกี่ยวกับการปรับตัวของเซลล์ประสาทในสมองในช่วงที่มีการเรียนรู้ไว้ว่า "การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทสองเซลล์จะนำไปสู่การเพิ่มกำลังของไซแนปส์ (Synaptic strength) ของเซลล์เหล่านั้นได้หากเซลล์ประสาทมีการทำงานที่เกิดขึ้นพร้อมกัน" ซึ่งเพื่อให้เกิดการทำงานดังกล่าว การให้ความสนใจกับสิ่งที่กำลังอ่านจึงเป็นสิ่งจำเป็นหรือหมายความว่า เราควรทำบางอย่างกับตัวอักษรหรือบทความในขณะกำลังอ่านตรงหน้า เช่น การสร้างมโนภาพขึ้นในหัวหรือการสรุปความในใจ เป็นต้น การกระทำเหล่านี้เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้น (Working memory) ที่สามารถช่วยสร้างการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทในสมองได้
ในทางตรงกันข้ามขณะที่คุณกำลังคิดถึงเรื่องอื่นที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่กำลังอ่านอยู่ หน่วยความจำระยะสั้นจะถูกครอบงำโดยความคิดเหล่านั้น นั่นทำให้ไม่สามารถสร้างการเชื่อมต่อกับภายในฐานความรู้ได้ ดังนั้นแม้ว่าเราจะอ่านจบทั้งเล่มก็ไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากสมองไม่สามารถประมวลผลให้เข้าใจถึงความหมายของสิ่งที่อ่านได้
ภาพที่ 2 สมาธิก็เหมือนกับไฟสปอร์ตไลท์บนเวทีการแสดง
ที่มา https://pixabay.com , Pexels
สิ่งที่ควรกระทำคือ การมีสมาธิ โดยให้คิดว่าสมาธิเป็นเหมือนไฟสปอร์ตไลท์บนเวทีการแสดงที่ช่วยนำทางและดึงดูดความสนใจ และเพ่งความสนใจเฉพาะสิ่งที่อยู่ภายใต้ไฟสปอร์ตไลท์ แม้ว่าจะมีสิ่งต่างๆ มากมายเกิดขึ้นนอกสปอร์ตไลท์ก็ตาม การกระทำเช่นนั้นจะทำให้เราเข้าใจความหมายของสิ่งที่แสดงให้เห็นภายใต้ไฟสปอร์ตไลท์ได้สมบูรณ์มากขึ้น ในทำนองเดียวกันเมื่อคุณกำลังอ่านหนังสือ แต่ความคิดของคุณไม่ได้มีความสัมพันธ์กับตัวหนังสืออย่างเต็มที่ นั่นทำให้ไม่เกิดความเข้าใจในสิ่งที่เพิ่งอ่านอย่างสมบูรณ์ได้เนื่องจากสปอตไลท์ของคุณมุ่งเน้นอยู่ที่อื่น
ระบบความใส่ใจของมนุษย์ (Human attentional system)
ระบบความใส่ใจของมนุษย์เป็นอีกหนึ่งสาระสำคัญที่จะช่วยอธิบายสถานการณ์ความล้มเหลวในการอ่านของคุณ อย่างไรก็ดีในชีวิตประจำวันมีข้อมูลมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาในสมองของเรา และคงจะไม่เป็นเรื่องดีแน่ หากว่ามนุษย์ไม่มีวิธีจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น แต่ด้วยมนุษย์มีระบบความสนใจซึ่งเป็นเหมือนหน่วยคัดกรองข้อมูลที่ตรงกับความต้องการจริง ๆ จึงทำให้เราไม่ต้องปวดหัวกับข้อมูลจำนวนมหาศาล
ทั้งนี้ตามที่ดาเนียล เลวิติน นักวิทยาศาสตร์และผู้เขียนหนังสือ The Organized Mind ระบุไว้ว่าระบบความสนใจของมนุษย์แบ่งออกได้ 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนการบริหารข้อมูลส่วนกลาง ส่วนการสำรวจความคิด ส่วนคัดกรองความสนใจ และส่วนการสับเปลี่ยนความสนใจ โดยแต่ละส่วนจะทำหน้าที่สัมพันธ์กัน
ภาพที่ 3 การอ่านหนังสือด้วยการมีสมาธิและให้ความสนใจจะช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา https://pixabay.com , libellule789
การใช้เวลาในการอ่านหนังสือมากขึ้นไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจความหมายของสิ่งที่อ่าน ดังนั้นส่วนคัดกรองความสนใจจะค่อย ๆ กันส่วนที่เป็นภาพกว้างของเนื้อหาออก ในทางกลับกันความสนใจของคุณจะถูกจัดการโดยส่วนการบริหารข้อมูลส่วนกลาง ซึ่งในส่วนนี้จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรามักจะรู้สึกเหนื่อยล้าจากการอ่านเพื่อทำความเข้าใจคำถามแต่ละคำถามในการสอบที่ยาวนาน เนื่องด้วยการให้ความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างจะทำให้สมองทำงานหนักขึ้นและส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น
สมองของมนุษย์มีการออกแบบการทำงานในลักษณะของความพยายามที่จะลดความมุ่งมั่นตั้งใจลง ซึ่งทำให้การกำหนดเป้าหมายในการอ่านถูกจัดอยู่ในส่วนของการสำรวจความคิด ผลก็คือเรายังสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสนใจจุดประสงค์ของเนื้อหา ในขณะเดียวกันก็สามารถคิดถึงบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่อ่านได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ส่วนของการสำรวจความคิดเป็นส่วนที่ไม่ได้ส่งผลดีต่อการประมวลผลข้อมูล เนื่องด้วยผลลัพธ์ก็คือ คุณจะไม่เข้าใจสิ่งที่อ่านแม้ว่าคุณจะอ่านทบทวนซ้ำแล้วหลายร้อยรอบก็ตาม
แม้ว่าการมีสมาธิต่อเรื่องที่กำลังอ่านจะเป็นเรื่องยาก แต่เพื่อการอ่านที่มีประสิทธิภาพ การให้ความสนใจกับสิ่งที่กำลังอ่านจึงเป็นสิ่งสำคัญ คำแนะนำดังต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณสามารถให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการอ่านได้มากขึ้น
- ศึกษาบทนำหรือสารบัญของเรื่องที่กำลังอ่าน
- มีสมาธิกับส่วนสำคัญของเนื้อหาที่ต้องเข้าใจ
- พยายามทำความเข้าใจหรือหาจุดเริ่มต้นในแต่ละส่วนของเรื่อง
- สร้างมโนภาพของเรื่องที่กำลังอ่านขึ้นและค่อย ๆ ทำความเข้าใจภาพเหล่านั้นทีละฉาก
- ทบทวนภาพรวมของกรอบความคิดหรือค้นหาคำสำคัญ
- คาดเดาการสื่อความหมายในส่วนของเนื้อหาที่ทำให้ไม่เข้าใจจากบริบทโดยรอบ
แหล่งที่มา
Ashish. (2018, January 23). How Can We Sometimes Keep Reading, But Not Understand Anything We Read?. Retrieved May 24, 2018, From https://www.scienceabc.com/eyeopeners/how-can-we-sometimes-keep-reading-but-not-understand-anything-we-read.html
Hebbian Learning Rule. Retrieved May 24, 2018, From http://penta.ufrgs.br/edu/telelab/3/hebbian_.htm
Appedix D: Artificial Neural Network. Retrieved May 24, 2018, From http://web.mit.edu/mcraegroup/wwwfiles/ChuangChuang/thesis_files/Appendix%20D_Artificial%20Neural%20Network.pdf
What to Do When You Don't Understand What You're Reading. Retrieved May 24, 2018, From http://www.shsu.edu/centers/testing-center/tips/dontk5.html
-
8490 “อ่านเหมือนไม่ได้อ่าน” สถานการณ์ของความสนใจ /article-biology/item/8490-2018-07-18-04-29-55เพิ่มในรายการโปรด