เลือดเทียมมีจริงหรือไม่
เคยได้ยินคำว่าเลือดเทียมกันมาบ้างหรือเปล่า ก่อนหน้านี้มีความเข้าใจผิดในเหล่าชาวบ้านในช่วงที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึงพื้นที่ต่างจังหวัด ชาวบ้านมักจะเข้าใจผิดว่า น้ำเกลือผสมวิตามินออกเป็นสีเหลือง ๆ เป็นเลือดเทียม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่
ภาพ บริจาคเลือด
ที่มา Pixabay
ปัจจุบันเราสามารถสังเคราะห์พลาสมา (Plasma) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือด ที่แยกเอาเม็ดเลือดออกแล้ว ซึ่งก็คือ น้ำเลือดหรือน้ำเหลืองนั่นเอง ซึ่งสามารถใช้รักษาคนไข้ที่เสียเลือดมาก ๆ ได้ เรียกว่า พลาสมาเทียม หรือ ไอโซพลาสมา (Isoplasma) ด้วยปัจจัยของชนิดเลือดที่เป็นที่ต้องการ และกลุ่มเลือดที่หายากต่าง ๆ ในปัจจุบัน เราก็ยังต้องเผชิญกับอายุของเลือดที่ได้รับการบริจาคมา ซึ่งสามารถเก็บในอุณหภูมิต่ำได้เพียงเดือนครึ่งเท่านั้น ทำให้ความต้องการเลือดไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
ความสำเร็จทางการแพทย์เกี่ยวกับการสังเคราะห์เลือดเทียมเกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนเลือดจริงตามธรรมชาติได้ 100 % เนื่องจากว่าในความเป็นจริงเลือดไม่ได้ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดงเพียงอย่างเดียว และไม่ได้มีหน้าที่เพียงส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่อื่น ๆ ที่เลือดเทียมไม่สามารถทำงานได้เหมือเลือดจริงตามธรรมชาติ เช่น การต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาสู่ร่างกายได้ การสมานบาดแผลหรือกลไกการห้ามเลือดตามธรรมชาติ ดังนั้น ณ ตอนนี้ สิ่งที่เลือดเทียมสามารถทำได้และนำมาทดแทนการทำงานได้แทนเลือดจริงก็คือ การขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกายและดึงเอาคาร์บอนไดออกไซต์ออกจากเซลล์ต่าง ๆ
การสังเคราะห์เลือดเทียมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับ Perfluorocarbon หรือพอลิเมอร์ (Polymer) ที่มีฟลูออรีนเป็นส่วนประกอบร่วมกับคาร์บอน ด้วยคุณสมบัติที่สามารถจับออกซิเจนได้ โดยผ่านกรรมวิธีละลายในตัวทำละลายและสารประกอบอินทรีย์อื่น ๆ เพื่อคงสภาพให้สามารถใช้งานและไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย เลือดเทียมดังกล่าวมีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า Fluosol ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวไปข้างต้นถึงแม้ว่าจะสามารถทำงานทดแทนหน้าที่หลักของเลือดได้ แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนเลือดได้ทั้งหมด
วิวัฒนาการทางการแพทย์ไม่ได้หยุดการค้นหาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการหาเลือดเทียมเพียงเท่านี้ ในเวลาต่อมามีการทดลองการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่น่าหนักใจที่ว่า หากมันไม่ได้อยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดงมันก็เป็นพิษต่อร่างกายเรา เพราะมันจะไปทำปฏิกิริยากับเซลล์อื่น ๆ ที่กระจายอยู่ในเลือดและทำให้เกิดปัญหาได้ จนถึงปัจจุบันก็ยังมีการวิจัยทดลองเพื่อการค้นพบทางเลือกใหม่เกี่ยวกับการสังเคราะห์เลือดเทียมให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเหมือนกับเลือดตามธรรมชาติอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ดีว่า การค้นพบใหม่แต่ยังไม่สำเร็จ 100 % ก็คือ การสังเคราะห์เลือดจากการใช้เซลล์เริ่มต้น (stem cells) ของผู้บริจาคเลือด หรือจากไขสันหลัง มาเป็นทางออกของเรื่องนี้ เพื่อการผลิตจำนวนมากตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรรอความช่วยเหลือจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน สิ่งที่ทำได้ตอนนี้เลยก็คือ การบริจาคเลือดนั่นเอง
แหล่งที่มา
Somsak. เลือดเทียม. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2561. จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/6234
Plook Creator. เลือดเทียมเพื่อทดแทนการบริจาค. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2561. จาก http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/61734/-scihea-sci-
-
8500 เลือดเทียมมีจริงหรือไม่ /article-biology/item/8500-2018-07-18-04-47-26เพิ่มในรายการโปรด