จริงหรือไม่ที่บอกว่าผงชูรสห้ามเลือดได้
คุณเคยได้ยินเรื่องเล่าสมัยที่มีสงครามมาบ้างหรือไม่ว่า ในช่วงเวลานั้นหากทหารเกิดการบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเป็นบาดแผลฉกรรจ์จากการสู้รบ บาดแผลที่ทำให้เสียเลือดนั้น "ผงชูรส ใช้ห้ามเลือดได้" ที่ผ่านมายังไม่มีผลสรุปทางการแพทย์ออกมายืนยันชัดเจนว่า ผงชูรสสามารถใช้ห้ามเลือดได้ จะมีก็เพียงแต่งานวิจัยและทดลองพอที่จะให้คำตอบได้อยู่บ้าง วันนี้จึงนำข้อมูลเหล่านั้นมานำเสนอให้ได้อ่านกัน
ในผลงานวิจัยตอนหนึ่งของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อศึกษาการใช้สมุนไพรในการบำบัดภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพของประชาชนในภาคกลาง โดยให้หมอชาวบ้านใช้สมุนไพรในการห้ามเลือดจากบาดแผล ซึ่งใช้สมุนไพรมากกว่าถึง 47 ชนิด ซึ่ง 1 นั้นก็มีผงชูรสเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่สามารถห้ามเลือดได้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่การใช้ผงชูรสนี้ผู้ทรงคุณวุฒิในงานวิจัยให้ความเห็นว่าใช้ได้ผลดีเพียงในการบำบัดภาวะเลือดกำเดาออกเสียมากกว่า โดยวิธีใช้สำลีชุบน้ำหมาด ๆ ชุบผงชูรสและนำมาอุดจมูกไว้สักพัก ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ภาพ ห้ามเลือด
ที่มา https://pixabay.com , Meditations
ในขณะเดียวกันก็มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการพิสูจน์ว่าผงชูรสสามารถห้ามเลือดได้จริงหรือไม่ โดยผู้วิจัยได้นำผงชูรสอิ่มตัวลงในพลาสมา (plasma) หรือน้ำเลือด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดที่เป็นของเหลว ในสัดส่วน 1 : 1 ผลการทดลองพบว่าพลาสมาเกิดการตกตะกอน และจากการตรวจสอบตะกอนนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าตะกอนดังกล่าวเป็นไฟบริโนเจน (fibrinogen) หรือเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ซึ่งทำให้อาจสรุปได้ว่าผงชูรสทำให้ไฟบริโนเจนตกตะกอนกลายเป็นไฟบริน (fibrin) ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเหนียว ประสานกันเป็นร่างแหอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือดบริวณปากแผลได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดออกโดยใช้เวลาที่สั้นลงนั่นเอง
นอกจากนี้ยังพบงานวิจัยที่ทดลองเกี่ยวกับกลไกการแข็งตัวของเลือด เพื่อศึกษากลไกการรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกายของสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งวิเคราะห์จากองค์ประกอบที่ทําให้เกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ เกล็ดเลือด, เส้นใยไฟบริน ต่าง ๆ เป็นต้น โดยใช้หนูแรทซึ่งเป็นเป็นสัตว์เลือดอุ่นมาทดลองเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยแบ่งเป็นหนูแรท 3 กลุ่มดังนี้คือ
- หนูแรทกลุ่มทดลองที่ได้รับโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) หรือ NaCl
- หนูแรทกลุ่มทดลองที่ได้รับผงชูรส (Monosodium glutamate) หรือ C5H8NO4Na
- หนูแรทกลุ่มมควบคุมที่ไม่ได้รับสารใด ๆ
โดยการวิจัยและทดลองเพื่อศึกษาหาข้อมูลและมีผลการทดลอง ดังต่อไปนี้
- การทดสอบระยะเวลาที่เลือดหยุดไหลเมื่อเกิดเส้นใยไฟบรินของเลือดซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เลือดหยุดไหลนั่นเอง จากการทดลองพบว่าหนูแรทกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารใด ๆ มีการแข็งตัวของเลือดที่ช้ากว่ากลุ่มที่ได้รับสารโซเดียมคลอไรด์ และผงชูรส ทั้งนี้ก็เพราะว่าในกระบวนการแข็งตัวของเลือดเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่มีสารใด ๆ ไปเร่งการทำงานที่เกี่ยวกับกระบวนการแข็งตัวของเลือด
- ลักษณะการสานกันของเส้นใยไฟบรินของเลือด จากการทดลองพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ได้รับสารละละลายผงชูรสในการห้ามเลือด มีลักษณะการสานกันของเส้นใยไฟบรินที่หนาแน่น ทำให้อุดบริเวณปากแผลและหลอดเลือดได้ดีกว่าหนูแรทกลุ่มที่ไม่ได้รับสารห้ามเลือด
ทั้งนี้ ก็สามารถสรุปผลการทดลองได้โดยรวมว่า หนูแรทที่ได้รับสารห้ามเลือดทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว สามารถห้ามเลือดได้ เนื่องมาจากสารทั้งสองชนิดมี Na+ เป็นองค์ประกอบ ซึ่ง Na+ ดังกล่าว มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดนั่นเอง
แหล่งที่มา
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. การใช้สมุนไพรในการบำบัดภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพของประชาชนในภาคกลาง. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561. จาก http://ird.stou.ac.th/Researchlib/uploads/2555_014/บทที่ 4.pdf
นิศารัตน์ โอภาสเกียรติกุล, กาญจนา ม่วงกล่ำ, ยุวดี วงศ์กระจ่าง. ผลของผงชูรสต่อไฟบริโนเจนในพลาสมา. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561. จาก http://www.si.mahidol.ac.th/department/clinical_pathology/home/publiction/th1987_7.htm
ไฟบริโนเจน. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ไฟบริโนเจน
องค์ประกอบ หน้าที่ และคุณสมบัติทั่วไปของเลือด. สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561. จาก http://fat.surin.rmuti.ac.th/teacher/songchai/bloodweb/blood composition.htm
อุเทน ทักคุ้ม, ประสานพันธ์ และ รองเดช ตั้งตระการพงษ์ . การศึกษาผลกระทบของผงชูรส ต่อการห้ามเลือดในหนูทดลอง (เพศผู้).สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2561. จาก http://www.thaiscience.info/Journals/Article/NUSJ/10888707.pdf
-
8505 จริงหรือไม่ที่บอกว่าผงชูรสห้ามเลือดได้ /article-chemistry/item/8505-2018-07-18-04-51-29เพิ่มในรายการโปรด