กิ้งก่าเปลี่ยนสีเพื่อ พรางตัว จริงหรือ?
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากิ้งก่า (chameleon) นั้นสามารถเปลี่ยนสีเป็นสีต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสีที่ทำให้มันสามารถกลมกลืนกับธรรมชาติรอบ ๆ ตัว เพื่อการพรางตัว ซึ่งอาจจะเป็นการพรางตัวเพื่อล่าเหยื่อ หรืออาจจะเป็นการพรางตัวเพื่อหลีกหนีจากภัยอันตรายต่าง ๆ แต่ว่าการเปลี่ยนสีของกิ้งก่านั้นมีจุดประสงค์อื่นอยู่ นั่นคือ เพื่อการสื่อสารกันอีกด้วย
ภาพ กิ้งก่าเปลี่ยนสี
ที่มา https://pixabay.com/th , FrankWinkler
การเปลี่ยนสีของกิ้งก่า
การที่กิ้งก่าสามารถเปลี่ยนสีได้เป็นเพราะว่าพวกมันมีเซลล์สะท้อนแสงพิเศษบนผิวหนัง โดยในเซลล์ดังกล่าว มีสิ่งที่เรียกว่า นาโนคริสตัล (Nanocrystal) อยู่ ซึ่งเจ้านาโนคริสตัลเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นปริซึมสะท้อนแสงเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน โดยที่กิ้งก่า สามารถจัดเรียงแก้ว คริสตัลเล็ก ๆ เหล่านี้ให้สะท้อนคลื่นแสงที่มีความยาวต่างกันได้ เราจึงเห็นเป็นสีที่ต่างกัน
แล้วกิ้งก่าเปลี่ยนสีทำไม?
แน่นอนว่าเมื่อพวกมันอยู่ในป่า ความสามารถนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่องของการอำพรางตัว แต่ว่าความสามารถนี้ก็มีจุดประสงค์อย่างอื่นอีก นั่นก็คือเพื่อสื่อสารถึงกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพวกกิ้งก่าตัวผู้ต้องการเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย ก็จะทำการเปลี่ยนสีตัวเองให้เป็นสีสันที่สดใสและสวยงามอย่าง สีเหลือง สีแดง และสีส้ม แต่เมื่อพวกมันต้องทำการต่อสู้กัน เช่นเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาณาเขต พวกมันจะเปลี่ยนสีให้ตัวเองเป็นสีที่ดูแล้วน่ากลัว มีอำนาจ หรือเป็นสีที่แสดงความเกรี้ยวโกรธใส่กัน เพราะฉะนั้น กิ้งก่าไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนสีของตัวเองเพื่อการอำพรางตัวเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนสีเพื่อเป็นการสื่อสารถึงกันอีกด้วย และบางทีนี่อาจจะเป็นจุดประสงค์หลักของการเปลี่ยนสีของกิ้งก่าก็เป็นได้
หุ่นยนต์กิ้งก่า
ในตอนนี้มีงานวิจัยที่สามารถสร้างหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนสีได้คล้ายกีบการเปลี่ยนสีของกิ้งก่าได้แล้ว โดยพวกเค้าเป็นทีมวิศวกรที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นในประเทศจีน ที่สามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่สามารถเปลี่ยนสีผิวให้เหมือนกับสีพื้นหลังของสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกิ้งก่า โดยหวังว่าจะนำมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการพรางตัวในอนาคต โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยมีผิวเป็นจอพลาสมาที่ผลิตแสงสีต่าง ๆ ได้ด้วยไฟฟ้า การเปลี่ยนสีผิวนั้นใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) โดยเซ็นเซอร์ที่ผิวหุ่นยนต์จะตรวจจับแสงสีในสภาพแวดล้อม แล้วนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อการเปลี่ยนโทนสีผิวให้ตรงกับสีที่ตรวจพบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หุ่นยนต์กิ้งก่าพรางตัวยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาขั้นต้น ทำให้เปลี่ยนสีได้ตามฉากพื้นหลังเพียง 3 สี คือแดง เขียว และน้ำเงินเท่านั้น แต่ในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะสามารถใช้กับสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อน และอาจนำไปสู่การพัฒนาระบบตรวจจับขั้นสูงซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกสี
แหล่งที่มา
DMCTODAY. (2559, 17 กุมภาพันธ์). หุ่นยนต์กิ้งก่าพรางตัว. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก http://dmctoday.blogspot.com/2016/02/blog-post_643.html
BBCNEWS. (2561, 23 สิงหาคม). กิ้งก่าเปลี่ยนสีเพื่ออะไร? อำพรางตัวหรือสื่อสารถึงกันและกัน. สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561, จาก https://www.bbc.com/thai/international-45287013
-
8644 กิ้งก่าเปลี่ยนสีเพื่อ พรางตัว จริงหรือ? /article-biology/item/8644-2018-09-11-07-46-58เพิ่มในรายการโปรด