พฤติกรรมการเข้าทำลายพืชของเพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อน (aphid)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aphis gossypii Glover วงศ์ : Aphididae อันดับ : Homoptera
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย : เพลี้ยอ่อนเป็นศัตรูของพืชผัก พืชไร่ และไม้ผลหลายชนิด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคพืชหลายชนิด เพลี้ยอ่อนพบระบาดมากในช่วงอากาศค่อนข้างแห้งแล้งหรือในฤดูหนาว
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ : เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงปากดูดตัวเล็ก ขนาด 1-2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีการลอกคราบเป็นระยะตัวอ่อน 4-8 วัน ตัวเต็มวัยมีทั้งชนิดมีปีกและไม่มีปีก รูปร่างค่อนข้างกลมคล้ายลูกแพร์ หัวและอกเล็ก ส่วนท้องโต พบตามใต้ใบพืช เพลี้ยอ่อนขยายพันธุ์โดยการผสมพันธุ์หรือไม่ผสมแบบ parthenogenesis ก็ได้ การแพร่กระจายมีผลต่อการบินของตัวแมลง อาจทำให้แมลงต้องร่อนลงเพื่อหาที่หลบซ่อน กระแสลมยังทำให้รูปแบบการบินอพยพเปลี่ยนแปลงไป
พืชอาหาร : ฝ้าย ยาสูบ พริก มันฝรั่ง มะเขือเทศ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว และพืชตระกูลกะหล่ำ
การแพร่กระจาย : พบเห็นทั่วไปตามแหล่งปลูกถั่วลิสงทั่วประเทศ มักเกิดระบาดในช่วงอากาศแล้ง ฝนไม่ตกตามปกติ ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงห้ำต่าง ๆ เช่น แมลงเต่า (lady birds beetles, Coccinella septempunctata) และหนอนแมลงวัน (Syrphids, Ischiodon scutellaris) เป็นแมลงห้ำที่สำคัญของเพลี้ยอ่อน
ภาพที่ 1 เพลี้ยอ่อน
ที่มา https://pixabay.com/, PollyDot
พฤติกรรมการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงพวกปากดูดทำลายพืชด้วยการดูดน้ำเลี้ยงจากใบ,ยอด และลำต้น ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง หากระบาดเป็นจำนวนมากต้นพืชจะแคระแกร็น จัดเป็นศัตรูพืชที่สำคัญเพราะถึงแม้ว่าจะพบในปริมาณต่ำแต่สามารถถ่ายเชื้อไวรัสแก่ต้นพืช ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ เป็นตัวพาหะถ่ายเชื้อไวรัสไปสู่ต้นพืชและผักโดยเฉพาะมะเขือเทศ เพลี้ยอ่อนมีทั้งที่บินได้ และไม่มีปีกบินไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยเคลื่อนย้ายตัวไปไกล ๆ ชอบเกาะกลุ่มอยู่กับที่ตรงแหล่งที่หากินนั้น ตามปกติเพลี้ยกระจายตัวไปยังบริเวณใกล้เคียงช้า มีมดชนิดต่าง ๆ เป็นตัวสำคัญคอยนำเพลี้ยไปปล่อยตามต้นฝ้าย โดยได้มูลของเพลี้ยอ่อนซึ่งมีน้ำหวานเป็นอาหาร
อาการที่เกิดจากการทำลาย ส่วนใหญ่ชอบลำต้นพืช ใบพืช และดอกไม้ที่ยังอ่อน ๆ มีปากลักษณะเจาะดูด หลังจากพืชถูกทำลายจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาและอาจถึงตาย มูลของแมลงชนิดนี้มีน้ำหวานทำให้พืชผักปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค
วิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อน ควรป้องกันไม่ให้แมลงชนิดนี้เข้ามาในแปลงปลูก โดยวิธีการใช้พลาสติกสีเงินคลุมแปลงเพาะปลูก ควรมีการปลูกข้าวโพดสลับกับพืชชนิดอื่น เนื่องจากข้าวโพดไม่ใช่พืชอาศัยของแมลงชนิดนี้
- ควรกำจัดวัชพืชในบริเวณแปลงปลูก เพราะเป็นที่หลบอาศัยของเพลี้ยอ่อน
- ถ้าพบพืชมีอาการยอดหงิกให้ตัดส่วนที่แสดงอาการออกและเผาทำลาย
- ถ้าพบการระบาดให้ใช้อิมิดาโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล 10% SL) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร เลือกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ควรพ่นสารเคมีติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน
เนื่องจากเพลี้ยอ่อนทำความเสียหายมากในระยะต้นอ่อน จึงควรทำการป้องกันกำจัดแต่เนิ่น ๆ โดยใช้ carbofuran 3% G (Furadan 3% G) อัตรา 4 กก.ต่อไร่ หรือ โรยในแถวปลูกหลังจากถั่วงอกได้ 20-25 วัน จะสามารถป้องกันเพลี้ยอ่อนและแมลงศัตรูชนิดอื่นในระยะต้นอ่อนได้เป็นอย่างดี ถ้าพบเพลี้ยอ่อนในระยะออกดอกหรือติดฝักอ่อน มากกว่า 10 ตัวต่อใบ ให้พ่นด้วย triazophos 0.1% (Hostathion 40% EC) หรือ methamidophos 0.05% (Tamaron 600 SL) 60% 1-2 ครั้ง โดยพ่นเป็นจุด ๆ ที่พบเพลี้ยอ่อนลงทำลายทุก 10-15 วัน
ภาพที่ 2 ลักษณะการเข้าทำลายพืชของเพลี้ยอ่อน
ที่มา https://pixabay.com/th, congerdesign
แหล่งที่มา
กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ. (2561, 26 สิงหาคม). เพลี้ยอ่อน มด กับโรคใบหยิกในพริก. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561, จาก https://www.gotoknow.org/posts/570215Satja
prasongsa. เพลี้ยอ่อนข้าวโพด. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561, จาก http://hort.ezathai.org/?p=4027
H2O Hydro Garden. แมลงที่พบบ่อยในผักไฮโดรโปนิกส์วิธีการป้องกันและกำจัดสืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2561, จาก www.h2ohydrogarden.com/ความรู้เบื้องต้น/แมลงผักไฮโดรโปนิกส์วิธีการป้องกันและกำจัด.html
-
8671 พฤติกรรมการเข้าทำลายพืชของเพลี้ยอ่อน /article-biology/item/8671-2018-09-11-08-08-01เพิ่มในรายการโปรด