ความสำคัญของเห็บในสัตว์
เห็บ (Tick) เป็นปรสิตภายนอกที่สำคัญของสัตว์ เช่น โค กระบือ ม้า และสัตว์เลี้ยงในบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาต่อการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ หากมีเห็บเป็นจำนวนมากจะดูดกินเลือดจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือติดเชื้อในกระแสเลือด หรือทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น พาหะนำโรคไข้เห็บโค (Babesiosis) ซึ่งเกิดจากเชื้อปรสิตที่มีเห็บเป็นพาหะเข้าทำลายเม็ดเลือดแดง ซึ่งเชื้ออาจรุนแรงจนทำให้โคเสียชีวิตได้
ภาพที่ 1 เห็บระยะตัวกลางวัย (Nymph)
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
เห็บมีวงจรชีวิต 4 ระยะ ระยะแรกคือไข่ (Eggs) ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งเดียวซึ่งจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน ไข่ทั้งหมดจะรวมอยู่กันเป็นกอง ๆ ประมาณ 2,000 ถึง 4,000 ฟอง จากนั้นตัวอ่อน (Larva) จะมีการออกจากตัวสัตว์เลี้ยง 3 ครั้งเพื่อลอกคราบ โดยสามารถอาศัยอยู่ตามพื้นบ้าน ผนัง มุมกรงเลี้ยงสัตว์หรือโรงเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนสนามหญ้าที่สัตว์เดินผ่านหรืออาศัย จากนั้นเห็บตัวเมียจะลงมาวางไข่นอกตัวสัตว์ ระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนนี้จะมีเพียง 6 ขาและเคลื่อนที่ได้ไวมาก ระยะนี้จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสัตว์อย่างน้อย 2 - 3 วัน เมื่ออิ่มแล้วจะหล่นจากตัวสัตว์ไปหาที่ลอกคราบกลายเป็นตัวกลางวัย (Nymph) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนอย่างเห็นได้ชัดและมี 8 ขา ตัวกลางวัยนี้จะกินเลือดบนตัวสัตว์อีกครั้ง และจะหล่นลงสู่พื้นเมื่อกินอิ่มแล้วเช่นกัน จากนั้นจะลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย (Adult) และขึ้นไปบนตัวสัตว์อีกเพื่อดูดเลือดและผสมพันธุ์ต่อไป วงจรชีวิตของเห็บแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาที่สมบูรณ์แตกต่างกันเช่น ในสุนัขจะใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน เป็นต้น แล้วแต่อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ เห็บสามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมากถ้าหากผู้เลี้ยงไม่เอาใจใส่ดูแลสัตว์ที่เลี้ยงอยู่สม่ำเสมอ ปล่อยให้มีเห็บทั้งบนตัวสัตว์ กรงเลี้ยง โรงเลี้ยง หรือภายในบ้าน อาจทำให้พบเห็บในปริมาณมากและอาจส่งผลร้ายต่อสัตว์อาจถึงตายได้ หรือสัตว์อาจจะมีอาการเสียเลือดมากทำให้ผอม อ่อนเพลียหรือเกิดโรคร้ายแรง อันมีสาเหตุมาจากเห็บ
นอกจากนี้เห็บยังต้องการเนื้อเยื่อของเหลวและเลือดในการเจริญเติบโต สามารถเกาะและกินอาหารบริเวณลำตัวของโฮสต์ (Host) บางชนิดชอบเกาะบริเวณใต้ลำคอ ไหล่ และบริเวณระหว่างต้นขาหลังด้านใน ตัวเมียของเห็บดูดกินเลือดของโฮสต์นานประมาณ 7 หรือ 12 วัน ส่วนตัวผู้ของเห็บจะดูดกินเลือดโฮสต์ทีละน้อยใช้เวลาหลายวัน เห็บจะพบมากบริเวณบนลำตัว แผงคอ รักแร้ ขาหนีบ ท้อง และอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ เห็บตัวอ่อนและตัวเต็มวัยบางครั้งพบในหูของสัตว์ ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นจะพบเห็บระบาดตลอดปี อีกทั้งพบว่าเห็บยังเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อในกระแสเลือดในโคนมที่เป็นชนิดเฉียบพลันทำให้ตายได้ในทันที ชนิดรุนแรงจะทำให้สูญเสียผลผลิตเช่น ปริมาณน้ำนมลดในโคนม หรือปริมาณน้ำหนักเนื้อลดลงในโคเนื้อ และสร้างความรำคาญ ทำให้เกิดอาการแพ้ (allergy) ในเห็บบางชนิดยังสามารถเกาะดูดเลือดคนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับสัตว์ที่เลี้ยงได้เช่นกัน
ภาพที่ 2 เห็บระยะตัวเต็มวัย
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
แหล่งที่มา
จักริน ศรีวโรทัย และคณะ. (2551, มกราคม - กุมภาพันธ์). การตรวจหาโรคไข้ เห็บโดยวิธี PCR ในโคนมพันธุ์ TZM. วารสารวิจัย มข, 1 (13), 55-62.
ปราณี พาณิชย์พงษ์. วงจรชีวิตของเห็บ. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จาก http://region1.dld.go.th/index.php/en/2013-04-17-05-36-51/173-2013-04-17-06-42-25
อาคม สังข์วรานนท์. 2538. กีฏวิทยาทางการแพทย์. (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี: สหมิตรพริ้นติ้ง.
-
9110 ความสำคัญของเห็บในสัตว์ /article-biology/item/9110-2018-10-18-08-53-29เพิ่มในรายการโปรด