วิทยาศาสตร์อธิบายประสบการณ์ใกล้ตายได้หรือไม่?
การทำความเข้าใจถึงประสบการณ์ใกล้ตายของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ยากเช่นเดียวกับการตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่มนุษย์ได้ตายแล้ว เหตุการณ์ที่บอกใบ้หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนที่เคยประสบอยู่ในสถานการณ์ใกล้ตาย อาทิ แสงสีขาวสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว การได้พบกับญาติที่เสียไป หรือในบางครั้งอาจเป็นการพบกันอีกครั้งของสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเช่นนั้น วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้
ภาพการมองเห็นแสงสว่างสีขาวเป็นหนึ่งในประสบการณ์ใกล้ตาย
ที่มา https://pixabay.com/,geralt
ประสบการณ์ใกล้ตายคืออะไร
ประสบการณ์ใกล้ตาย (near-death experience) เป็นเหตุการณ์ทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้ง พร้อมด้วยองค์ประกอบที่ลึกลับ โดยทั่วไปแล้วจะเกิดขึ้นในคนที่ใกล้ตาย หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความเจ็บปวดทางร่างกายหรืออารมณ์อย่างรุนแรง แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หลังจากเกิดอาการหัวใจวาย การบาดเจ็บที่สมอง หรือแม้แต่ในระหว่างการทำสมาธิ และเป็นลมหมดสติ (อาการหมดสติเนื่องด้วยความดันโลหิตลดลง)
ประสบการณ์ใกล้ตายที่ถูกบอกเล่าผ่านผู้ที่เคยประสบด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะให้ผลบวก ทั้งยั้งช่วยลดความวิตกกังวล และเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากที่ได้พิสูจน์เห็นแล้วถึงชีวิตหลังความตาย แต่ทั้งนี้ประสบการณ์ใกล้ตายบางครั้งก็ให้ผลในทางลบ และกระทบกับความรู้สึก เนื่องจากการขาดการควบคุมและตระหนักรู้ถึงความไม่มีอยู่ ภาพชั่วร้าย หรือการรับรู้การตัดสินจากสิ่งที่สูงกว่า แต่ถึงเป็นเช่นนั้นวัฒนธรรมและอายุอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้ตายด้วยเช่นกัน
เหตุใดประสบการณ์ใกล้ตายจึงเกิดขึ้น?
Olaf Blanke และ Sebastian Dieguez นักประสาทวิทยาได้เสนอทฤษฎีของประสบการณ์ใกล้ตายไว้ 2 ประเภท โดยประเภทแรกนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองซีกขวาในส่วนของ bilateral frontal และ occipital lobe ซึ่งส่วนใหญ่มีผลต่อ right temporal parietal junction ก่อให้เกิดปรากฏการณ์จิตหลุดออกร่าง (out-of-body experience) ความรู้สึกเหมือนลอยได้ และความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลา ในขณะที่อีกประเภทหนึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองซีกซ้าย
ในส่วนของ bilateral frontal และ occipital lobe เช่นเดียวกัน และความเสียหายของสมองในซีกนี้จะมีผลต่อ left temporal parietal junction นำไปสู่การเกิดขึ้นของความรู้สึกถึงการมีอยู่ของผู้อื่นหรือสิ่งอื่นทั้งที่ไม่ได้ยินหรือเห็น (feeling of presence) การมองเห็นแสงสว่างรอบตัวเอง รวมถึงการสื่อสารกับวิญญาณด้วย
สมองส่วน temporal lobes มีบทบาทสำคัญต่อประสบการณ์ใกล้ตาย โดยสมองส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลข้อมูลทางประสาทสัมผัสและความทรงจำ ดังนั้นหากมีกิจกรรมที่ผิดปกติเกิดขึ้นในส่วนของสมองส่วนนี้จึงสามารถสร้างการรับรู้และความรู้สึกที่ประหลาดไปจากเดิมได้
แม้จะมีหลายทฤษฎีที่ถูกนำเสนอเพื่อใช้อธิบายประสบการณ์ใกล้ตาย แต่การไปถึงจุดที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ เชื่อว่า ประสบการณ์ใกล้ตายเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตหลังความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกออกจากกันระหว่างวิญญาณและร่างกาย ในขณะที่คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ต่อประสบการณ์ใกล้ตายจะหมายความรวมถึง บุคลิกวิปลาส (Depersonalisation Disorder) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดตัวตนใหม่ที่แยกออกจากตัวตนเดิมเป็นความรู้สึกที่แบ่งแยกระหว่างโลกทางกายภาพกับสิ่งที่คิด ทั้งนี้มักจะรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้
อย่างไรก็ดี ยังคงมีหลายทฤษฎีที่ถูกนำเสนอเพื่ออธิบายสิ่งเหล่านี้ นักวิจัยบางท่านอธิบายว่า ความเครียดจากความตายปูทางไปสู่การระลึกถึงการเกิดใหม่อีกครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ผู้ที่เคยประสบกับเหตุการณ์ใกล้ตายมองเห็นแสงสว่างในอีกฟากหนึ่งอุโมงค์ ในขณะที่นักวิจัยบางท่านอ้างว่า ฮอร์โมนเอ็นโดฟินที่ปล่อยออกมาในระหว่างสถานการณ์ความเครียดอาจสร้างประสบการณ์ใกล้ตาย โดยการลดความเจ็บปวดและเพิ่มความรู้สึกสบาย ในทำนองเดียวกัน ยาชา เช่น คีตามีน (ketamine) สามารถช่วยในการจำลองปรากฏการณ์จิตหลุดร่างได้ หรือแม้แต่ในบางทฤษฎีแนะว่า ประสบการณ์ใกล้ตายเกิดขึ้นจาก dimethyltryptamine (DMT) ซึ่งเป็นสารหลอนประสาทที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในพืชบางชนิด แต่โดยรวมแล้วทฤษฎีที่เกี่ยวกับสารเคมีนั้นยังไม่มีความแม่นยำและไม่สามารถอธิบายประสบการณ์ที่ใกล้ตายได้อย่างเต็มรูปแบบในแง่ของการอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ประสบกับความตาย
นอกจากนี้ นักวิจัยบางท่านได้อธิบายถึงประสบการณ์ใกล้ตายผ่านการขาดออกซิเจนของสมอง (cerebral anoxia) โดยได้ยกกรณีของนักบินที่ประสบภาวะหมดสติระหว่างการเร่งความเร็วของเครื่องยนต์นั้น ซึ่งได้รับการบอกเล่าถึงการการมองเห็นอุโมงค์ ทั้งนี้การขาดออกซิเจนอาจทำให้เกิดการชักของสมองส่วน Temporal lobe ซึ่งเป็นสาเหตุของการมองเห็นภาพหลอน (hallucinations) โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจคล้ายกับประสบการณ์ใกล้ตาย
อย่างไรก็ดี คำอธิบายที่แพร่หลายที่สุดสำหรับประสบการณ์ใกล้ตายคือ สมมติฐานของสมองที่กำลังจะตาย (dying brain hypothesis) ซึ่งเสนอว่า ประสบการณ์ใกล้ตายเป็นภาพหลอนที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในสมองเมื่อเซลล์เริ่มตายแล้วและเมื่อเกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติ ผู้รอดชีวิตจากความตายจึงมีเรื่องราวที่บอกเล่าต่อกันมาได้ และแม้ว่าสมมติฐานนี้จะมีความเป็นไปได้ แต่ปัญหาก็คือยังไม่สามารถใช้เพื่ออธิบายลักษณะที่อาจเกิดขึ้นระหว่างประสบกับความตายได้ เช่น เหตุใดจึงปรากฏการณ์จิตหลุดออกจากร่าง เป็นต้น ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า เหตุใดประสบการณ์ใกล้ตายจึงเกิดขึ้น แต่ความมุ่งมั่นในการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องของนักวิจัยยังคงมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่ยังคงเป็นปริศนาเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เหนือธรรมชาติหรือเป็นประสบการณ์ใกล้ตายที่วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีความสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเผชิญกับความตายได้มอบความหมาย ความหวัง และเป้าหมายให้คนจำนวนมากได้ตระหนักถึงความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการมีชีวิตรอดหลังความตาย
แหล่งที่มา
Neil Dagnall and Ken Drinkwater. (2018, Dec 4). Are near-death experiences hallucinations? Experts explain the science behind this puzzling phenomenon. Retrieved December 28, 2018, From https://theconversation.com/are-near-death-experiences-hallucinations-experts-explain-the-science-behind-this-puzzling-phenomenon-106286
Robert Mehling, and Travis Nye. (2018, July 24). Macabre Grimoire Chapter 9 Near Death Experiences.
Retrieved December 28, 2018, From https://thesiouxempire.com/macabre-grimoire-chapter-9-near-death-experiences/
-
9579 วิทยาศาสตร์อธิบายประสบการณ์ใกล้ตายได้หรือไม่? /article-biology/item/9579-2018-12-13-07-37-32เพิ่มในรายการโปรด