สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อขาดน้ำ
เหงื่อออก อาเจียน ท้องร่วง หรือการรับประทานยาที่มีผลข้างเคียงให้ปัสสาวะมาก สาเหตุเหล่านั้นสามารถทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ได้มากกว่าที่คิด และหากสิ่งที่เสียไปทำให้ร่างกายขาดสมดุล วิธีการเดียวที่จะสามารถรักษาภาวะขาดน้ำได้ ก็คือการแทนที่ของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ร่างกายของสูญเสียไปด้วยการดื่มน้ำ
ภาพการดื่มน้ำเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย
ที่มา https://pixabay.com ,Engin_Akyurt
ภาวะขาดน้ำคืออะไร เหตุใดจึงเกิดขึ้น?
เมื่อกล่าวถึงการสูญเสียน้ำในร่างกาย ทางการแพทย์จะหมายความถึง ภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง (volume depletion) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาตรน้ำลดลงในหลอดเลือด ถือเป็นภาวะปริมาตรน้ำในร่างกายลดลงจากองค์ประกอบในหลอดเลือด ในขณะที่ ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำจากทั้งหลอดเลือดและเซลล์ของร่างกาย ภาวะขาดน้ำจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำจากหลอดเลือดและเซลล์ของร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง แต่ก็ยังคงมีอาการหลายอย่างที่ทับซ้อนกัน เช่น ความกระหาย ความดันโลหิตลดต่ำลงจนก่อให้เกิดความสับสน นอกจากนี้ภาวะขาดน้ำยังสัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะดึงน้ำออกจากเซลล์เพื่อลดระดับน้ำตาล ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรรักษาระดับน้ำของร่างกายให้สมดุล และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ
การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ควรระมัดระวัง เนื่องจากมีการสูญเสียของเหลวจากทั้งในเซลล์ภายในและนอกเซลล์ ดังนั้นการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดระดับน้ำตาลลงอย่างปลอดภัยทั้งยังช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ดีแพทย์มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะทั้งสองถึงการรักษาสมดุลของร่างกาย เนื่องจากน้ำช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยในการหล่อลื่นของข้อต่อ และที่สำคัญเซลล์ร่างกายของเราพึ่งพาน้ำเพื่อการทำงานภายในระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดภาวะของเหลวในร่างกายพร่องอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดการช๊อกและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
น้ำมีอยู่ทุกที่ในร่างกาย
คนที่มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยน้ำประมาณ 40 ลิตร (40 กิโลกรัม) โดย 2 ใน 3 ของน้ำเหล่านั้นคิดเป็นน้ำภายในเซลล์ (intracellular) และอีก 1 ส่วนคือน้ำภายนอกเซลล์ (Extracellular) ทั้งนี้น้ำภายนอกเซลล์นั้น ร้อยละ 20 เป็นน้ำที่อยู่ในพลาสมา (ประมาณ 3 ลิตร) กับน้ำในเซลล์เม็ดเลือดแดงประมาณ 2 ลิตร รวมทั้งสิ้น 5 ลิตร ซึ่งไหลเวียนภายในร่างกาย และช่วยรักษาสมดุลขององค์ประกอบทางชีวเคมีของมนุษย์แต่ละคน และช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ
ปริมาตรน้ำในร่างกายรวมทั้งน้ำภายในหลอดเลือดและน้ำในเซลล์ต่าง ๆ ของแต่ละคนที่สูญเสียไปในแต่ละวันจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ปริมาณการดื่มน้ำของมนุษย์จะถูกควบคุมโดยไต ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมปริมาตรและองค์ประกอบของของเหลวในร่างกาย
เมื่อคุณดื่มน้ำปริมาณมาก ร่างกายจะขับน้ำผ่านทางปัสสาวะที่เจือจางและมีปริมาณมาก ในขณะเดียวกัน เมื่อดื่มน้ำในปริมาณน้อย ปริมาณน้ำปัสสาวะก็จะลดลงและมีสีเข้ม นั่นทำให้คุณตระหนักได้ว่าถึงเวลาที่ต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นแล้ว นอกจากนี้การสูญเสียน้ำในกรณีที่เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน หรือมีเลือดออก สามารถสังเกตภาวะของเหลวในร่างกายพร่อง ได้จากอาการดังต่อไปนี้
-
อาการกระหายน้ำ และริมฝีปากแห้ง
-
เวียนศีรษะ โดยเฉพาะอยู่ในท่ายืน เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ และเมื่อสูญเสียน้ำในระดับที่รุนแรง จะก่อให้เกิดอาการสับสน ซึ่งเป็นผลมาจากออกซิเจนภายในสมองไม่เพียงพอ
-
ผิวหนังจะสูญเสียความยืดหยุ่น
-
อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ด้วยร่างกายพยายามรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติ
-
น้ำหนักลดลง เนื่องจากการสูญเสียของเหลวภายในเซลล์ โดยการเสียของเหลว 1 ลิตร จะอ่านค่าได้ว่าน้ำหนักลดลง 1 กิโลกรัม
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะปริมาตรน้ำในร่างกายพร่อง หรือการสูญเสียน้ำ ได้แก่
-
ผู้สูงอายุ ด้วยน้ำในร่างกายจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และผู้สูงอายุเองจะรู้สึกกระหายน้ำลดลง ทั้งนี้ผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีปัญหาสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่นโรคไตเรื้อรัง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกรองของเสียและขับน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำในร่างกายมีปริมาณลดลง
-
เด็กทารก เพราะพวกเขาไม่สามารถพูดได้เมื่อพวกเขากระหายน้ำ พวกเขามีอัตราการเผาผลาญสูงกว่าผู้ใหญ่หมายความว่าพวกเขาต้องการของเหลวมากขึ้น
-
ผู้ที่มีกลไกการกระหายน้ำบกพร่อง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่สมอง
-
ผู้ที่มีอาการท้องเสีย
-
ผู้ที่รับประทานยาที่มีผลข้างเคียงที่ส่งเสริมการสูญเสียน้ำ โดยเฉพาะการขับออกทางขับปัสสาวะ
น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานของร่างกาย การขาดน้ำ (Volume Depletion) สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน กุญแจสำคัญคือ การป้องกันและการรู้ว่าสัญญาณและอาการคืออะไร ดังนั้นในฤดูร้อนควรรักษาระดับของเหลวเอาไว้โดยการรู้จักดื่มน้ำให้เพียงพอ
แหล่งที่มา
Karen Dwyer. (2019. 10 January). Health Check: how do I tell if I’m dehydrated?
Retrieved February 19, 2019, from https://theconversation.com/health-check-how-do-i-tell-if-im-dehydrated-107437
William Blahd, MD. (2017, 2 May). What Should I Do If I'm Dehydrated?
Retrieved February 19, 2019, from https://www.webmd.com/a-to-z-guides/dehydration-in-adults-treatment#1
-
9823 สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อขาดน้ำ /article-biology/item/9823-2019-02-21-08-45-32เพิ่มในรายการโปรด