โรคธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมียหรือโลหิตจาง คืออะไร
โรคยอดฮิตจากซีรีส์เกาหลีที่คนไทยชอบดูกันเป็นประจำโรคหนึ่ง ซึ่งไม่นางเอกหรือพระเอกก็มักจะป่วยหรือเสียชีวิตด้วยโรคนี้คือ “ธาลัสซีเมีย” และก็เรียกน้ำตาจากพวกเราได้อย่างเสมอ มาทำความรู้จักโรคนี้กันให้ดีขึ้นกันดีกว่า ว่ามันน่ากลัวหรือน่าเศร้าเหมือนที่นำเสนอในซีรีส์หรือเปล่า
ภาพที่ 1 Peripheral Blood film from a patient with Delta Beta Thalassemia
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ทาลัสซีเมีย#/media/File:Delta_Beta_Thalassemia.jpg
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคหนึ่งทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรือมีการสร้างสารฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง เม็ดเลือดแดงมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ทำให้เลือดจางและมีอาการซีด รวมไปถึงมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยทั่ว ๆ ไปการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะเกิดจากพันธุกรรม 2 แบบ คือ
-
เป็นพาหะ คือ ผู้มียีนกรรมพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมียแฝงอยู่ ลักษณะจะเป็นบุคคลที่ร่างกายปกติ ไม่เป็นโรค ไม่เกิดอาการใด ๆ เกิดขึ้นในร่างกาย แต่จะสามารถเป็นพาหะและส่งต่อยีนนี้ไปสู่รุ่นถัดไปได้ ทั้งนี้ พ่อแม่อาจส่งต่อยีนปกติหรือที่ผิดปกติให้ลูกก็ได้
-
เป็นโรค คือ ผู้ที่ได้รับยีนผิดปกติ หรือกรรมพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมียพวกเดียวกันมาจากทั้งพ่อและแม่ ก็จะแสดงภาวะเป็นโรคนี้โดยชัดเจน และหากมีลูกก็จะส่งต่อยีนผิดปกติให้รุ่นลูกอีกต่อไปอย่างแน่นอน
จากข้อมูลดังกล่าวอธิบายได้ตามภาพดังนี้
ภาพที่ 2 การถ่ายทอดยีนผิดปกติของโรคธาลัสซีเมียจากพ่อแม่ไปสู่ลูก
ที่มา สุภัตรา ทรัพย์อุปการ
ธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยืนที่ควบคุมการสร้างสายโกลบินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม แบ่งตามลักษณะของความผิดปกติเกิดขึ้นในยีนคือ อัลฟา และเบต้าธาลัสซีเมีย
-
อัลฟ่าธาลัสซีเมีย (Alpha-Thalassemia)
-
เบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-Thalassemia)
ความรุนแรงของโรคธาลัสซีเมียในแต่ละกลุ่มและแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แม้แต่ในคนที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน โดยพ่อและแม่เป็นผู้ถ่ายทอดยีนผิดปกติให้ลูก และเป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งพบผู้ป่วยโรคนี้ได้ทั่วโลก และมีรายงานพบว่าโรคชนิดนี้พบมากที่ประชากรในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
อาการของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
อาการที่สำคัญคือมีภาวะโลหิตจางหรือซีด เนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติถูกทำลาย แบ่งได้ตามความรุนแรงที่แตกต่างกันดังนี้
ชนิดที่มีความรุนแรงถึงระดับรุนแรงสูง
-
หากเป็นทารกในครรภ์อาจเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดได้ไม่นาน
-
บวมน้ำ ตัวซีดเหลือง
-
ตับและม้ามโตจนทำให้เกิดภาวะท้องบวม
-
ตัวเล็ก พัฒนาการทางร่างกายโตช้ากว่าปกติ
-
เหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย และปวดเมื่อยตามร่างกาย
-
หัวใจทำงานหนัก เพราะต้องสูบฉีดเลือดที่เจือจาง
-
มีความผิดปกติที่กระดูกบนใบหน้า เช่นโหนกแก้มสูง หน้าผากสูง เนื่องจากไขกระดูกต้องทำงานมาก เพื่อสร้างเม็ดเลือด จึงมีการขยายตัวของไขกระดูกทำให้บริเวณดังกล่าวเด่นขึ้นมากกว่าคนปกติ
-
มีภาวะซีดอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกอย่างเฉียบพลัน (Hemolytic crisis) มักมีการติดเชื้อมาก่อน จะพบในผู้ป่วย HbH disease และผู้ที่ได้รับยาพวกซัลฟา
ชนิดที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
-
อ่อนเพลีย เหนื่อย
-
ตัวซีด อาจต้องได้รับการให้เลือดเป็นครั้งคราว
ชนิดที่มีภาวะแทรกซ้อน
-
ผู้ป่วยที่ได้รับการให้เลือด จนร่างกายได้รับธาตุเหล็กมากจนเกินไป จะมีการสะสมธาตุเหล็กที่ผิวหนัง จนอาจทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำออกเขียว หากไปสะสมที่ตับก็จะเกิดภาวะตักอักเสบและตับแข็งได้ หรือหาไปสะสมที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะทำให้เกิดภาวะหัวใจโต หัวใจล้มเหลว และกล้ามเนื้อหัวใจพิการ
-
ติดเชื้อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ง่าย เช่น ทางเดินหายใจ ท้องเสีย ติดเชื้อในกระแสเลือด
-
เนื่องจากตับเสียหน้าที่ในการสร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด ก็จะทำให้เกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติ และมีเลือดออกได้ง่าย
พาหะของโรคธาลัสซีเมีย
ตามที่กล่าวไปข้างต้นผู้ที่เป็นพาหะของโรค หรือผู้ที่มียีนแฝงธาลัสซีเมียอยู่ในตัว คือบุคคลปกติที่ไม่มีอาการป่วยใด ๆ แต่จะสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกติไปรุ่นต่อไปได้ ซึ่งจะสามารถทราบได้จากการสอบถามประวัติจากพ่อแม่ พี่น้อง แต่ให้แน่นอนที่สุดคือการไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาล
เมื่อรู้ว่าเป็นพาหะของโรค
การเป็นพาหาของโรค ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคแต่จะถ่ายทอดให้รุ่นลูกหลานได้ ดังนั้น คนที่เป็นพาหะควรให้ความสำคัญในการพาคู่ครองไปตรวจความเป็นพาหะของคู่ครองด้วย เพื่อหาแนวทางป้องกันที่ว่า เมื่อเวลามีลูก ลูกอาจจะเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดที่แสดงอาการ
ข้อควรระวังและวิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรค
ปัจจุบัน มีการรักษาให้หายขาดได้โดยใช้วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่เป็นวิธีที่ยากและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ยังมีแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ ดังนี้
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้น ผักสด และสารอาหารประเภททโปรตีนอย่าง ไข่ นม หรือนมถั่วเหลืองมาก ๆ
-
การดื่มน้ำชาหลังอาหาร เพื่อลดการดูดซึมธาตุเหล็ก
-
ควรตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ
-
ไม่โหมทำงานหนัก หรือเล่นกีฬาหนักมากจนเกินไป
-
หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เลือดหมู เลือดไก่ เครื่องในสัตว์ ตับ
-
ห้ามรับประทานยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กทุกชนิด
-
อย่าปล่อยให้ตนเองมีไข้สูง
-
ถ้าพบว่าตาขาวมีสีเหลืองมาก ๆ ควรรีบพบแพทย์
แหล่งที่มา
พีระพล วอง, พิริยา ถนอมรัตน์, สุชิลา ศรีทิพยวรรณ, ประวิทย์ เตติวัฒน์, แน่งน้อย เจิมนิ่ม, หนึ่งฤทัย นิ่มนุช, สุขุมาล นิยมธรรม, ต่อพงศ์ สงวนเสริมศรี. ความชุกของธาลัสซีเมียเทรต จำนวนคู่เสี่ยงและอุบัติการณ์ของธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง จากการตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยก่อนคลอด ของจังหวัดพิษณุโลก. 2546. (รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์)
สิริภากร แสงกิจพร. ผู้ที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ได้รับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้หรือไม่. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562 . จาก http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_7_001c.asp?info_id=531
พญ.วรวรรณ ตันไพจิตร และ มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช. โรคธาลัสซีเมีย : 3 โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562 . จาก http://weddingsquare.com/thalassimia-past-3/
ธาลัสซีเมีย โรคที่ต้องรู้ก่อนการตั้งครรภ์. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562 . จาก https://www.honestdocs.co/thalassemia-diseases-pregnancy
ธาลัสซีเมีย. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562 . จาก https://www.pobpad.com/ธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia). สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562 . จาก https://www.honestdocs.co/hematologic-lymphatic/thalassemia-disease
-
9843 โรคธาลัสซีเมีย /article-biology/item/9843-2019-02-22-01-34-01เพิ่มในรายการโปรด