ราชาแห่งผลไม้ไทย ทำไมต้องทุเรียน?
ประเทศไทยเราถือว่าเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง ผลไม้ถือว่าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ดีมาก นั่นก็คือเรามีผลไม้ให้รับประทานกันตลอดทั้งปี แถมแต่ละอย่างก็มีทั้งความหลากหลายทางสายพันธุ์และปริมาณด้วย แต่ถ้าถามว่าสุดยอดของผลไม้คืออะไรนั้น หลาย ๆ ท่านที่ชื่นชอบต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทุเรียน” และรองลงมาก็คงไม่พ้น “มังคุด” อย่างแน่นอน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ถูกขนานนามว่าเป็นราชาและราชินีแห่งผลไม้ไทยตามลำดับ แล้วทำไมเค้าถึงนิยามอย่างนั้นนะ.......สงสัยกันบ้างไหมเอ่ย?
ภาพที่ 1 ทุเรียนไทย ราชาแห่งผลไม้ไทย
ที่มา https://pixabay.com/ ,wahwah
“ทุเรียน” (Durian) ผลไม้ที่มีเปลือกเป็นหนาม เนื้อสีเหลืองทองกับรสชาติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับผลไม้ใดๆ ในโลก อีกทั้งกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ บางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม อีกทั้งในช่วงฤดูกาลของทุเรียนนี้ ราชาผลไม้เนื้อแน่นรสหวานมันก็จะมีราคาสูงขึ้นไปตามพันธุ์ และขนาด เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ทุเรียน” หากกินในปริมาณที่มากเกินไปก็จะให้โทษแก่ร่างกายได้ เพราะเป็นผลไม้ที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง และทำให้ตัวร้อน แต่จริงๆ แล้วทุเรียนมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่น ๆ อย่างที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
ความจริงทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่คุ้นเคยกันดีของคนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า ทุเรียน (durian) มาจากภาษามาลายู คือคำว่า duri (หนาม) ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมาประมาณ 600 ปีมาแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ได้พรรณนาถึงทุเรียนว่า “เนื้อในมันเหมือนคัสตาร์ดอย่างมาก รสชาติคล้ายอัลมอนด์”
ภาพที่ 2 เนื้อทุเรียนไทยพันธุ์หมอนทอง
ที่มา สุภาวดี สาระวัน
หากกล่าวถึงสรรพคุณสมุนไพรของทุเรียนนั้น อันที่จริงในทางการแพทย์แผนไทย ทุกส่วนของทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับร่างกายคนเราได้ โดย ใบ รสขมเย็นเฝื่อน ช่วยแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ เนื้อทุเรียน รสหวานร้อน ให้ความร้อนแก้โรคผิวหนังทำให้ฝีแห้งและขับพยาธิ เปลือกทุเรียน รสฝาดเฝื่อน ใช้สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสียพุพอง แก้ฝีตานซาง คุมธาตุ แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง ราก รสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง
นอกจากนี้แล้ว ทุเรียนยังสามารถนำไปแปรรูปและทำอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ทุเรียนกวน ทุเรียนกรอบ แยมทุเรียน หรือแม้แต่อาหารคาว เช่น นำทุเรียนอ่อนมาทำแกงได้เช่นกัน นอกจากสรรพคุณทางยาและการนำมาประกอบอาหารคาวหวานแล้วนั้น ยังมีงานวิจัยหลาย ๆ งานที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปทุเรียนไม่ว่าจะเป็น เมล็ด เปลือก และใบ มาใช้ในงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ แก่การเรียนรู้ในยุคนี้ อาทิเช่น
เปลือกทุเรียนที่ตากแห้งเมื่อนำมาบดละเอียดหรือเผาจนเป็นถ่านแล้วนั้น สามารถนำมาทำเป็นถ่านอัดแท่งจากเปลือกทุเรียน ทดแทนการใช้ถ่านจากฟืนและแก๊สหุงต้มในครัวเรือนได้ดีอีกด้วย ซึ่งถ่านอัดแท่งจากเปลือกทุเรียนยังให้พลังงานความร้อนเทียบเท่าถ่านจากไม้เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดจากเปลือกทุเรียน แต่สามารถนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ดี ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาโดยอาจารย์และนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาทรัพยากร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สามารถนำเปลือกทุเรียนมาทำเป็นกระดาษได้ โดยนักวิจัยจากกลุ่มวิจัยพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเปลือกทุเรียนเมื่อแปรรูปเป็นกระดาษแล้วมีคุณภาพเด่นเฉพาะตัว คือให้เส้นใยนุ่มและเหนียวกว่าเนื้อกระดาษสา สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถผสมเส้นใยของผัก ผลไม้ต่าง ๆ กับเปลือกทุเรียนในการทำกระดาษ จะทำให้ได้กระดาษ ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัวต่างกันไป เช่น เปลือกมังคุดได้สีม่วงธรรมชาติ เปลือกแก้วมังกรจะได้กระดาษสีม่วงธรรมชาติและผิวสัมผัสนุ่ม ใบเตยจะได้กระดาษที่มีกลิ่นหอมและมีสี ซึ่งนักศึกษาจากภาควิชาเทคโนโลยี การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ทำกระดาษจากเยื่อเปลือก ทุเรียนขึ้น มีลวดลายในตัวจากหนามทุเรียน โดดเด่นไม่เหมือนใคร คุณภาพดีเหมาะแก่การนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราต้องยกทุเรียนเป็นราชาผลไม้ ก็เพราะกลิ่นเฉพาะของมันนี้เองที่หลาย ๆ คนมองว่าเหม็น แต่หลายคนก็บอกว่าหอมหวนชวนกินเสียเหลือเกิน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลิ่นของมันนี้รุนแรงกว่าผลไม้ทุกอย่างบนโลกใบนี้เลยทีเดียว ด้วยกลิ่นแบบนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราต้องยกเค้าไว้ในฐานะราชาแห่งผลไม้ไทยเลยล่ะ
แหล่งที่มา
บดินทร์ ชาตะเวที. (2559). ทุเรียนราชาแห่งผลไม้ไทย. คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2562 จาก http://www.ttmed.psu.ac.th/
นันทวรรณ บุณยะประภัศร. (2542). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด,
ทองทิพย์ พูลเกษม. (2542). การศึกษาการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเปลือกทุเรียนเพื่อทดแทนการใช้ฟืนและถ่านในการหุงต้มในครัวเรือน. วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
คงศักดิ์ เลิศอนันตสุข และเบญจรัตน์ พจน์ศิริศิลป. (2551). กระดาษจากเปลือกทุเรียน. ปริญญานิพนธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมกล้าธนบุรี.
-
10470 ราชาแห่งผลไม้ไทย ทำไมต้องทุเรียน? /article-chemistry/item/10470-2019-07-01-04-47-42เพิ่มในรายการโปรด