ต้นกำเนิดธาตุกัมมันตรังสี
จากที่ทุกคนเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดเหตุเมื่อปี พ.ศ. 2554 หรือการระเบิดของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในประเทศยูเครน ปีค.ศ. 1986 และแม้กระทั่งข่าวอุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนเก็บของเก่า ที่ไปสัมผัสชิ้นส่วนสารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ได้สร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น แสดงให้เห็นว่าธาตุกัมมันตรังสีนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่ต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะสามารถเข้าใจถึงประโยชน์, โทษ และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก
ภาพห้องทดลองแสดงการทดสอบธาตุกัมมันตรังสี
ที่มา https://pixabay.com , Bokskapet
ประวัติของธาตุกัมมันตรังสี
ธาตุกัมมันตรังสี (Radioactive Element) คือสสารชนิดหนึ่งที่สามารถปล่อยพลังงานรังสี เช่น รังสีแอลฟา (α) , รังสีบีต้า (β) และรังสีแกมมา (γ) มาออกมาจากกระบวนการสลายตัวของธาตุหรือไอโซโทป ซึ่งรังสีที่แผ่ออกมานั้นเป็นพลังงานชนิดหนึ่งเรียกว่ากัมมันตภาพรังสีนั่นเอง และการเปลี่ยนแผ่รังสีนี้สามารถเปลี่ยนธาตุดังกล่าวเป็นธาตุอื่นได้ด้วย
โดยธาตุกัมมันตรังสีนั้นมีการค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ อองตวน อองรี เบ็กเคอเรล (Antoine Henri Becquerel) ในปีค.ศ. 1896 ซึ่งเป็นการค้นพบอย่างบังเอิญเนื่องจากพบฟิล์มถ่ายรูปที่เก็บไว้กับธาตุยูเรเนียมและนำมาห่อด้วยกระดาษสีดำ มีคุณลักษณะเปลี่ยนไปกลายเป็นมีลักษณะเดียวกันกับฟิล์มรับแสง ดังนั้นเบ็กเคอเรลจึงได้จำลองการทดลองโดยนำธาตุยูเรเนียมชนิดอื่นมาทดลองก็ได้ผลเช่นเดียวกัน จึงสามารถสรุปได้ว่ามีการแผ่รังสีออกมาจากธาตุยูเรเนียม
ต่อมาปีแอร์ คูรี และ มารี คูรี (Pierre Curie and Marie Curie) ได้มีการค้นพบเพิ่มเติมว่าไม่เพียงแค่ธาตุยูเรเนียมเท่านั้น ธาตุชนิดอื่นก็สามารถแผ่รังสีได้เช่นเดียวกัน และยังพบอีกว่าสารกัมมันตรังสีนั้นมีอานุภาพสูงและสามารถทะลุทะลวงได้ด้วย เช่น รังสีแกมมาสามารถทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายหรือ สามารถทำลายกระดูกและทำให้ผิวหนังแห้งได้ โดยผลกระทบของกัมมันตรังสีกับมนุษย์นั้นนอกจากปริมาณการได้รับรังสีปริมาณมากหรือปริมาณน้อยแล้วนั้น อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและ สุขภาพของผู้ที่ได้รับยังเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้แต่ละคนได้รับปริมาณรังสีไม่เท่ากัน โดยอวัยวะที่อ่อนไหวมากที่สุดคือ ระบบสืบพันธุ์ และระบบสร้างเม็ดเลือดของร่างกาย โดยอาการของผู้ได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีนั้นเริ่มจากมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผมร่วง เบื่ออาหาร ผมร่วงเปลี่ยนแปลงยีนในพันธุกรรม ไปจนถึงผิวหนังเป็นพุพอง และเสียชีวิตในที่สุด
ประโยชน์ของสารกัมมันตรังสี
ถึงแม้ว่าสารกัมมันตรังสีจะมีความอันตรายมากแต่ปัจจุบันหลายประเทศก็ได้นำสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่นกัน ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ธรณีวิทยา และด้านวิทยาศาสตร์ เช่น
-
เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
-
นำมาใช้ในการยืดอายุอาหารที่บริโภค
-
การฉายรังสีเอกซ์เพื่อตรวจความผิดปกติในร่างกาย
-
นำมาฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์ทางการแพทย์
-
บำบัดการรักษาสำหรับคนที่เป็นโรคมะเร็ง
-
ตรวจอายุวัตถุโบราณเพื่อศึกษาทางด้านโบราณคดี
-
นำมาทดสอบกับชิ้นส่วนโลหะเพื่อตรวจสอบรอยตำหนิรอยร้าว หรือรอยรั่ว
-
ใช้รังสีฉายเพื่อสร้างสีสันให้กับอัญมณี
ภาพการสวมชุดป้องกันสารกัมมันตรังสี
ที่มา https://pixabay.com , MetsikGarden
การป้องกันเมื่อมีการรั่วไหลของธาตุกัมมันตรังสี
เนื่องจากธาตุกัมมันตรังสีสามารถกระจายตัวไปได้ทั้งทางอากาศโดยการหายใจฝุ่นละอองที่มีรังสีเข้าไปหรือ ปนเปื้อนไปกับทางน้ำไหลลงแม่น้ำลำคลอง และไหลลงไปทางทะเลในที่สุด ดังนั้นการป้องกันสารกัมมันตรังสีในกรณีที่มีการรั่วไหลสามารถทำได้โดยการอยู่แต่ในอาคารปิดหน้าต่างและประตูให้สนิท ดื่มน้ำสะอาดที่เก็บไว้ในภาชนะปิดมิดชิด กินไอโอดีนเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องออกนอกอาคารหรือเข้าไปในบริเวณที่มีสารกัมมันตภาพรังสีจำเป็นจะต้องใส่ผ้าปิดจมูก สวมหน้ากาก และสวมชุดป้องกัน และในกรณีที่มีฝนตกควรหลีกเลี่ยงเข้าไปอยู่ในอาคารทันทีดังนั้นจะเห็นว่าสารกัมมันตรังสีมีทั้งประโยชน์และโทษ เราจึงจำเป็นต้องมีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับวิธีการใช้ที่ปลอดภัย รวมทั้งรู้จักโทษและการป้องกันสารกัมมันตรังสี เพื่อสามารถนำสารกัมมันตรังสีไปประยุกต์ใช้ให้เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด
แหล่งที่มา
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ.(2550) อยู่ปลอดภัยกับอะตอม. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 .จาก http://www.oap.go.th/images/documents/resources/media-library/publications/stay_safe_with_the_atom1.pdf
ดร. ไบรอัน แนพพ์. ยูเรเนียม และ ธาตุกัมมันตรังสีอื่น ๆ. (พิมพ์ครั้งที่2). กรุงเทพมหานคร. นานมีบุ๊คส์.
คณะอนุกรรมการความปลอดภัยทางรังสี. แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางรังสี มหาวิทยาลัยมหิดล. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพมหานคร. ทองสุขพริ้นท์.
มาริสา คุณธนวงศ์. รังสีคืออะไร มีกี่ชนิด วัดได้อย่างไร มีผลกระทบต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 .จาก https://www.mtec.or.th/post-knowledges/3923/
-
11221 ต้นกำเนิดธาตุกัมมันตรังสี /article-chemistry/item/11221-2019-12-19-04-50-43เพิ่มในรายการโปรด