พลังงานทดแทนสู่พลังงานอนาคต
เนื่องจากจำนวนประชากรในโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทวีคูณรวมทั้งการขยายตัวทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเศรษฐกิจ และการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ของประชาชนส่งผลต่อความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ที่สูงขึ้นตามลำดับ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งจากการเผาไม้เชื้อเพลิงจากพลังงานประเภทนี้เป็นสาเหตุหลักของการทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษต่างๆ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีสัดส่วนของการปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศสูงที่สุด ซึ่งเมื่อมีการปล่อยก๊าซในปริมาณที่สูงขึ้นทำให้ชั้นบรรยากาศดูดพลังงานความร้อนและกักเก็บไว้ไม่ปล่อยออกไปนอกชั้นบรรยากาศส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ทำให้อากาศบนโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนน้ำแข็งขั้วโลกละลาย จากข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกละลายเร็วขึ้นกว่าปกติถึง 3 เท่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันให้เร็วที่สุด
ภาพที่ 1 การผลิตพลังงานทดแทนจากแผงโซล่าเซลล์และกังหันลม
ที่มา https://pixabay.com, seagul
ในปัจจุบันภาครัฐและภาคเอกชนจากหลายๆประเทศได้พยายามศึกษาวิจัยเพื่อหาพลังงานทดแทนที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดพลังงานและสามารถใช้พลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มจะหมดไปในอนาคตอันใกล้นี้โดยพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่จะนำมาใช้ใหม่นี้ควรเป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้ได้ไม่มีวันสิ้นสุดเช่น ลม แสงอาทิตย์ น้ำ และ ความร้อนใต้พิภพ เป็นต้นโดยการพิจารณาเลือกใช้พลังงานทดแทนนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ศักยภาพและลักษณะความพร้อมของแต่ประเทศ รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศก็เป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งที่ผลต่อการเลือกใช้พลังงานทดแทน
ชนิดของพลังงานทดแทน
-
พลังงานแสงอาทิตย์
เป็นแหล่งพลังความร้อนที่ใหญ่ที่สุดสามารถนำมาเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนได้โดยใช้แผงโซล่าเซลล์เป็นตัวกลาง โดยพลังงานแสงอาทิตย์มีความเหมาะสมกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ตั้งของประเทศไทยใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงสามารถได้รับแสงอาทิตย์อย่างเพียงพอตลอดปี โดยทางรัฐบาลไทยนั้นได้ริเริ่มโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ภาคประชาชนเกิดขึ้นคือการรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือนขนาดเล็กที่ผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์โดยมีระยะเวลาในการรับซื้อไฟฟ้ารวมทั้งหมด 10 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
ภาพที่ 2 พลังงานจากแสงอาทิตย์
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,RoyBuri
-
พลังงานน้ำ
ปริมาณน้ำในโลกของเรามีถึง 2 ใน 3 ส่วนเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดและน้ำยังมีการหมุนเวียนตลอดเวลาตามวัฏจักร ทำให้เราสามารถนำพลังงานของน้ำที่เคลื่อนที่มาใช้นั้นมีหลายรูปแบบเช่น พลังงานคลื่นทะเล, พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง และพลังงานจากเขื่อนหรือน้ำตก ซึ่งหลังจากได้นำพลังงานน้ำไปใช้ประโยชน์แล้วน้ำก็ยังมีคุณภาพเดิมสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อได้อีก โดยประเทศไทยได้ริเริ่มนำพลังงานจากน้ำมาใช้ในหลายส่วนในประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าเขื่อนผันน้ำเจ้าพระยา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำ (Conventional) บ้านสันติ จังหวัดยะลา และ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา เป็นต้น
ภาพที่3 โรงไฟฟ้าพลังน้ำ
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,soukmano
-
พลังงานลม
แหล่งกำเนิดของลมเกิดจากมวลอากาศที่เคลื่อนที่จากความกดอากาศสูงมายังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ โดยความกดอากาศยิ่งต่างกันมากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลต่อความแรงของลมมากเท่านั้น ถ้าลมที่แรงมากสามารถเปลี่ยนเป็นพายุได้ ซึ่งลมนั้นเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เครื่องจักรกลที่สำคัญคือกังหันลมเป็นตัวกลาง โดยหลักการทำงานเริ่มจากพลังงานจลน์จากลมถ่ายทอดให้ใบพัดของกังหันลมหมุนรอบแกนเกิดเป็นพลังงานกลและจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตัวแปรสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมนี้ขึ้นอยู่กับ ความยาวของใบพัดของกังหันลม และความเร็วของลม ประเทศต่าง ๆได้เริ่มมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นจนปัจจุบันได้นำพลังงานลมไปใช้แล้วถึง 50 ประเทศเช่น อเมริกา เยอรมนี และ สเปน ส่วนประเทศไทยทางภาคเอกชนได้มีเริ่มโครงการเพื่อเชิงพาณิชย์จากพลังงานลมในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต
ภาพที่ 4 กังหันลมต้นกำเนิดพลังงานจากลม
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,lloorraa
จะเห็นได้ว่าพลังงานทดแทนมีเนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำมาใช้ได้เป็นระยะเวลานาน และ ยังไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันนำพลังงานทดแทนมาใช้แทนพลังงานสิ้นเปลืองที่มีอยู่เดิม ทั้งยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศอีกด้วย เพื่อช่วยอนุรักษ์พลังงานต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
แหล่งที่มา
นพ. มหิษานนท์. ระบบโซลาร์เซลล์ และพลังงานที่ผลิตได้เอง. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพมหานคร. คอร์ฟังก์ชั่น.
International Renewable Energy Agency. (2017). Renewable energy outlook Thailand. Retrieved December 9, 2019, from https://www.irena.org/publications/2017/Nov/Renewable-Energy-Outlook-Thailand
ยืนยง มาดี, อดิพงศ์ หันภาพ. พลังงานธรรมชาติจาก... กังหัน น้ำ ลม ผลิตไฟฟ้าใช้เองตามพระราชดำริ. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพมหานคร. วี.ที.เอส. บุ๊คเซ็นเตอร์.
Lora Shinn. (2018, 15 June). Renewable Energy: The Clean Facts. Retrieved December 9, 2019, from https://www.nrdc.org/stories/renewable-energy-clean-facts
Audry Black. (2018, 8 November). 7 Types of Renewable Energy: The Future of Energy. Retrieved December 8, 2019, from https://www.justenergy.com/blog/7-types-of-renewable-energy-the-future-of-energy/
-
11236 พลังงานทดแทนสู่พลังงานอนาคต /article-chemistry/item/11236-2019-12-19-06-25-10เพิ่มในรายการโปรด