ความเชื่อเรื่อง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ กับความเชื่อมโยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสสาร
การเปลี่ยนแปลงของสสารนั้นเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ในสภาพแวดล้อมที่สามารถสังเกตหรือรับรู้ได้ด้วยการมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น การสัมผัส และการลิ้มรส ซึ่งล้วนเป็นการรับรู้ได้ทางกายภาพทั้งสิ้น
ในเวลาหลายร้อยหลายพันปีก่อนหน้านี้ มนุษย์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสสารนั้นเป็นการดำเนินไปด้วยพลังขับเคลื่อนในแบบที่เป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนมีพลังงานในตัวเอง การค้นพบอารยธรรมเก่าแก่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านความเชื่อนี้เอาไว้ด้วย ดังปรากฏในภาพวาดตามผนังถ้ำ และเมื่อมนุษย์มีอักษรใช้กัน ความเชื่อก็ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแท่นหิน กระดูก ไม้ หรือกระดาษ หรือแม้แต่ผนังของสุสานฝังศพ เช่น พีระมิด เป็นต้น มนุษยชาติมีความเชื่อว่าวัตถุทุกอย่างมีการหยุดนิ่ง เคลื่อนไหว แปรสภาพหรือสูญสลายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความเชื่อดังกล่าวจะเห็นได้เด่นชัดในอารยธรรมเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะด้วยมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการบอกเล่าแบบปากต่อปากก็ตาม
มนุษย์ทั่วทุกมุมโลกเฝ้าสังเกตความเป็นไปของธรรมชาติและเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็ก่อให้เกิด “วิวัฒนาการ” สิ่งที่น่าชื่นชมภูมิใจมากที่สุดก็คือวิวัฒนาการของ “สมอง”นั่นเอง
สมองของมนุษย์ทำหน้าที่รับรู้ จดจำ และตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบๆตัวและภายในตัวมนุษย์อยู่เสมอ รวมทั้งการเป็นไปของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเชื่อ อารยธรรม ประเพณี ก็รวมอยู่ในการตอบสนองต่อธรรมชาติรอบตัวด้วยเช่นกัน
ความเชื่อว่าวัตถุทุกอย่างมีการหยุดนิ่ง เคลื่อนไหว แปรสภาพหรือสูญสลายอยู่ตลอดเวลานั้น เด่นชัดมากในอารยธรรมจีน ซึ่งอารยธรรมนี้ก็มีการส่งต่อ เปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น มีนักปรัชญาจีนในอดีตหลายท่านที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติ อย่างที่หลายคนคุ้นเคยกันดีกับคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” โดยหลักการนี้ได้แทรกซึมอยู่ในวิทยาการด้านการแพทย์ โหราศาสตร์-ดาราศาสตร์ และพิธีกรรมต่างๆด้วย เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย สิ่งมีชีวิตล้วนเป็นไปตามวัฏจักร คือ “กลับคืนสู่ผืนดิน”
ด้วยเหตุนี้ ร่างกายของมนุษย์ที่สอดประสานกับการเปลี่ยนสถานะของวัตถุที่มีตามธรรมชาติซึ่งแบ่งทุกอย่างออกเป็น 5 ธาตุด้วยกัน คือ ธาตุดิน เปรียบเป็นของแข็ง ธาตุลมเป็นการเคลื่อนไหวของอากาศ ธาตุน้ำเป็นของเหลว ธาตุไฟคือความร้อน,การเผาไหม้ และอากาศธาตุ คล้ายธาตุลม แต่อากาศธาตุไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งนั่นก็คือที่ว่าง (Space) ธาตุทั้ง 5 ในธรรมชาติต่างก็มีปฏิกิริยาต่อกัน เป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ จึงถูกเรียกว่าเป็น “พลังชี่” และมีปฏิกิริยาต่อมนุษย์ในรูปแบบของ “พลังปราณ” นั่นเอง ส่วนการแปรสภาพเช่น ดินฟ้าอากาศ ความร้อน แสงแดด ฝนตก ฟ้าแลบ ฯลฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่ธรรมชาติมีการหมุนเวียน เปลี่ยนผ่านพลังงาน เคลื่อนไหว ไม่คงที่ ซึ่งก็เรียกเป็นพลังชี่,หยิน,หยาง ได้เช่นกัน
ภาพที่ 1 ธรรมชาติของธาตุต่างๆ
ที่มา pixabay.com/stux
การแปรสภาพดังกล่าว สามารถเชื่อมโยงเข้ากับหลักฟิสิกส์ได้ เช่น ทฤษฎีการอนุรักษ์พลังงาน แรง งาน และการเคลื่อนที่ ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับฟิสิกส์อะตอมได้เลยทีเดียว แต่เราสามารถสังเกตได้ดีกว่าหากรับรู้ได้ด้วยลักษณะทางกายภาพเป็นหลัก กล่าวคือ การเปลี่ยนสถานะของสสารมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อของบรรพบุรุษที่สามารถอธิบายให้สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้นั่นเอง
เริ่มจากการที่มนุษย์รู้จักใช้ไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ ก็แสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้สิ่งต่างๆเปลี่ยนสถานะ
นอกจากนี้การเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างความเป็นไปของดินฟ้าอากาศ ก็เป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่อีกเช่นกัน ภูมิความรู้เหล่านี้ได้กล่าวถึงธรรมชาติด้วยการแบ่งเป็นธาตุทั้ง 5 ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ดิน น้ำ ลมไฟ และอากาศธาตุ ซึ่งชาวไทยโบราณนิยมแบ่งธาตุแบบนี้
ถ้าในอารยธรรมหรือการแพทย์จีนอาจจะแบ่งเป็น 8 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหล็ก ไม้ ทอง และอากาศธาตุ (ที่ว่าง/Space) ซึ่งธาตุทั้งหมดมีพลังงานขับเคลื่อนให้เปลี่ยนสถานะ
ภาพที่ 2 เมฆ หิมะ น้ำในมหาสมุทร แสดงถึงสถานะต่างๆของธาตุน้ำ
ที่มา pixabay.com/ ,ID 12019
เมื่อเทียบกับหลักการเปลี่ยนแปลงของสสารก็สามารถอธิบายได้ดังนี้
การเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลว เช่น การละลาย ก็เปรียบได้ว่ามีธาตุไฟตั้งตนเสริมด้วยธาตุลม โหมไฟให้ร้อนแรงขึ้น เกิดพลังงานขับเคลื่อนที่มีปฏิกิริยากับธาตุดิน ดังนั้น ความร้อนที่เกิดจากธาตุไฟและธาตุลมจึงทำให้ธาตุดินที่เป็นของแข็งกลายเป็นของเหลวได้ ซึ่งจะเห็นภาพได้ชัดเจนจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ‘ลาวา’ ที่เกิดจาก ‘แมกมา’ ที่เป็นหินหลอมเหลวอยู่ใต้เปลือกโลก
การเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นก๊าซ หรือที่เรียกว่า การระเหิด เป็นการเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นก๊าซโดยไม่ผ่านการหลอมละลายกลายเป็นน้ำก่อนที่จะเป็นก๊าซ เปรียบได้กับ การขับพลังงานจากช่องว่างที่เป็นอากาศธาตุให้มีความเคลื่อนไหว โดยมีธาตุไฟและลมเป็นตัวขับเคลื่อน แล้วเกิดการทำลายโครงสร้างภายในที่ว่าง(อากาศธาตุ) ทำให้เกิดการสลายจากธาตุที่แข็งกลายเป็นละอองธาตุน้ำที่อยู่นอกโมเลกุลของแข็ง ซึ่งก็คือธาตุดินนั่นเอง
การเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซ หรือที่เรียกว่า การระเหย ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ธาตุน้ำที่เป็นธาตุตั้งต้นได้ถูกธาตุไฟและลม โหมให้เกิดความร้อน เกิดเป็นพลังงาน และได้ทำลายธาตุน้ำนั้นให้สลายโดยปะปนกับอากาศธาตุด้านนอกสสาร กลายเป็นละอองไอน้ำรวมเข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อรอการรวมกลุ่มเป็นของเหลวหรือธาตุน้ำตามวัฏจักรต่อไป
การเปลี่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลว คือ การควบแน่น (condensation) สสารเปลี่ยนสถานะจากแก๊สเป็นของเหลว นั่นก็หมายถึงการที่ละอองธาตุน้ำที่แทรกตัวอยู่กับอากาศธาตุได้รวมตัวกัน มากขึ้นเรื่อยๆ จนมีมากพอจะเป็นหยดน้ำ เปรียบเทียบได้ว่าเป็นธาตุน้ำที่มีปริมาณมากขึ้น เช่น การเกิดฝน อธิบายได้ว่า เป็นการรวมตัวของละอองธาตุน้ำ ณ จุดจุดหนึ่งที่มีปริมาณหรือมีมวลมากพอจะเป็นหยดน้ำ ธาตุน้ำที่แฝงตัวอยู่กับอากาศธาตุและฝุ่นละอองของธาตุดินในก้อนเมฆ ก็จะแยกตัวออกมาเป็นสายฝนในที่สุด
แหล่งที่มา
LESA. การเปลี่ยนสถานะของน้ำ. สืบค้นวันที่ 9 กรกฎาคม, 2563. จาก http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/state-of-water
ทีมงานทรูปลูกปัญญา. (25 มีนาคม 2563). การเปลี่ยนสถานะของสาร. สืบค้นวันที่ 9 กรกฎาคม, 2563. จาก http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/33150-00
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. คลังความรู้. สืบค้นวันที่ 7 กรกฎาคม, 2563. จาก http://ttdkl.dtam.moph.go.th/Module7/frmc_journal_main.aspx
สมาพันธ์แพทย์แผนไทยล้านนา. หลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย. สืบค้นวันที่ 7 กรกฎาคม, 2563. จาก www.lannahealth.com/หลักการรักษาโรคตามทฤษฎ-2/
วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสารธารณสุข กาญจนาภิเษก. คัมภีร์เวชกรรมไทย, คัมภีร์โรคนิทานและคัมภีร์ธาตุวิภังค์. สืบค้นวันที่ 5 กรกฎาคม, 2563. จาก http://www.kmpht.ac.th/Project61/ttm1/lession3.php
-
11648 ความเชื่อเรื่อง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ กับความเชื่อมโยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสสาร /article-chemistry/item/11648-2020-06-30-03-43-08เพิ่มในรายการโปรด