ที่มาของ “อำพัน” สสารชีวภาพสู่อัญมณีแห่งท้องทะเล
หลายคนอาจจะรู้จัก “อำพัน” หรือ "Amber" ในรูปแบบของอัญมณีสีเหลืองใส หรือสีเหลืองออกน้ำตาลที่ดูเหมือนจะโปร่งแสง ให้ความรู้สึกงดงาม ต่างจากอัญมณีในรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดจากสารประกอบอินทรีย์ เช่นไข่มุกที่ได้จากหอยมุก เป็นต้น เรียกได้ว่าอำพันเป็นอัญมณีสีเหลืองที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง
ภาพที่ 1 Amber อำพัน-อัญมณีสีเหลือง
ที่มา https://pixabay.com/ ,JacekAbramowicz
อำพันสีเหลืองที่ถูกนำมาทำเป็นอัญมณีนั้นเกิดจาก “อำพันทะเล-ambergris” โดยมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น อำพันทอง อัญมณีอินทรีย์อำพันทะเลที่มีสีอื่นๆ ไม่เหลืองสวยผุดผ่องก็มีชื่อเรียกที่ต่างออกไป เช่นอำพันขี้ปลาหรือขี้วาฬ หรือแม้แต่ อ้วกวาฬ
ภาพที่ 2 อำพันที่ใช้ทำเครื่องประดับ
ที่มา https://pixabay.com/ ,starbright
ส่วนในภาษาอื่นๆ ก็มีหลายชื่อเรียกที่ใกล้เคียงกันและเปลี่ยนการสะกดไปตามยุคสมัย เช่น อัมบาร์ (ambar) อ็องบร์กรี (ambre gris) โดยชื่อเรียกของ “อำพันทะเล”ที่เป็นสีเหลืองเข้ม หรือ “อำพันทอง” ก็มีความคล้ายคลึงกันมากกับ “อำพันที่เกิดจากยางไม้” แต่ว่าต่างกันที่สารประกอบตั้งต้นและกระบวนการเกิดของอำพันทั้ง 2 ชนิด
อำพันที่เกิดจากยางไม้ มักจะเกิดจากยางไม้ประเภทไม้สน จากเดิมที่เป็นของเหลวหนืดๆ ได้กลายเป็นก้อนยางที่แข็งตัว และใช้เวลานานนับร้อยหรือพันปี จนมีความแข็งเป็นอัญมณี โดยจะมีซากฟอสซิลของสัตว์ที่มาเกาะยางไม้แล้วติหนึบไปกับยางนั้น จนถูกยางไม้ผลึกกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด ส่วนมากอำพันที่เกิดจากยางไม้จะมีรูปร่างเป็นหยดน้ำตามการไหลของยางจากต้นไม้ หรือบางทีอาจจะไหลไปตามต้องการแตกของต้นไม้นั้น เกิดเป็นรูปทรงอื่น
ภาพที่ 3 อำพันที่เกิดจากยางไม้
ที่มา https://pixabay.com/ ,jurgitamakita
ส่วนอำพันทะเลจะเกิดจากการสำรอกของวาฬ หรือการขับถ่ายของวาฬ มีลักษณะเป็นก้อนไขมัน พบตามชายฝั่งทะเลถูกคลื่นซัดเข้ามาหาฝั่ง หรือในทะเลลึก แม้กระทั่งในลำไส้ของวาฬที่เพิ่งตาย วาฬจะกินสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกหมึกเป็นอาหารหลัก และยังกินแพลงก์ตอนในทะเล (Plankton) ด้วย
การกินของวาฬจะไม่มีการเคี้ยวให้ละเอียด แต่จะกลืนหมึกเข้าไปทั้งตัวเลย (ซึ่งรวมถึงแพลงก์ตอนจำนวนมากในทะเลด้วย) ทั้งหมดที่กลืนเข้าไป ก็จะถูกย่อยในกระเพาะอาหารของวาฬนั่นเอง
แต่ทว่า สำหรับวาฬนั้น คอเลสเตอรอลของหมึกเป็นสิ่งที่ย่อยได้ยากมาก ประกอบกับหมึกมีส่วนที่แข็งอย่างแกนหมึก หรือกระดองใส (pen หรือ gladius) ทำให้ระคายเนื้อเยื่อของวาฬ คอเลสเตอรอลดังกล่าวจึงไปสะสมเป็นก้อนอยู่ในลำไส้ของวาฬ จนมันต้องสำรอกหรือขับถ่ายออกมาในที่สุด
ตอนที่วาฬสำรอกหรือขับถ่ายก้อนไขนี้ออกมาใหม่ๆ จะมีกลิ่นเหม็น แต่พอระยะเวลานานเข้า สารประกอบในก้อนสำรอกนี้จะทำปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อม ทำให้มีกลิ่นหอม ซึ่งกลิ่นหอมจากอำพันทะเลนี้ เกิดจากส่วนประกอบของคอเลสเตอรอล ไขมัน สารเบนโซอิก และแอลกอฮอล์เชิงซ้อน
นานมาแล้วที่คนไทยในยุคโบราณได้ใช้อำพันในการปรุงยาด้วยการผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ซึ่งอำพันมีฤทธิ์ในการบำรุงหัวใจ สรรพคุณจากสารอินทรีย์ที่สะสมอยู่ในอำพันทำให้เป็นส่วนผสมที่ทำให้ฤทธิ์ยามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนมากจะเป็น Grey Amber หรืออำพันสีเทาหม่นออกเหลือง
ซึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศไทยได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้รวมทั้งสูตรยาจากหลายเชื้อชาติ ที่ได้เดินเรือมาทำการค้า ดังปรากฏเป็น “เส้นทางอำพัน” เป็นเส้นทางบกและทางน้ำที่เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย และจากตอนเหนือของยุโรปไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
อำพันก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีการแลกเปลี่ยนกันในราคาแพง โดยอำพันที่ได้จากท้องทะเลไทยในสมัยก่อน ส่วนมากจะได้มาจากสำรอกและมูลของวาฬหัวทุย โดยที่สารอินทรีย์ที่เป็นสารตั้งต้นในการเกิดอำพัน ยังมีคุณภาพด้อยกว่าอำพันที่เกิดจากสำรอกของวาฬสีน้ำเงินในแถบทะเลบอลติกหรือแถบชายฝั่งของประเทศรัสเซียอยู่มาก
อำพันคุณภาพสูงจะเกิดจากการสำรอกของวาฬสีน้ำเงินที่อยู่ในเขตทะเลลึก เพราะวาฬกินแพลงก์ตอนต่างๆ เป็นอาหารที่อยู่ในทะเลลึก เป็นปริมาณที่มากกว่าวาฬหัวทุยในแถบอ่าวไทยหรือคาบสมุทรอินโดจีน ทำให้สำรอกของวาฬสีน้ำเงินมีสารตั้งต้นที่เป็นสารอินทรีย์หนาแน่นกว่าและคงคุณภาพได้มากกว่าอำพันที่เกิดจากสำรอกวาฬหัวทุย
ภาพที่ 4 วาฬสีน้ำเงิน
ที่มา http://www.pixabay.com/th/ ,skeeze-272447
จากที่ได้อธิบายไปแล้วว่า อำพัน นั้นก่อเกิดจากแหล่งกำเนิดที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง วาฬ ที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 กระบวนการนั้นก็คือ จากการสำรอกของวาฬและมูลของวาฬ สสารที่อยู่ในลำไส้เล็กจะมีความสมบูรณ์กว่าสสารที่ผ่านกระบวนการย่อยแล้วอย่างมูลของวาฬ
คุณภาพของอำพันทะเลสามารถสังเกตได้จากคุณสมบัติด้านกายภาพ เช่น การลอยน้ำ ความแข็ง และสีของอำพัน ตลอดจนสามารถการตรวจสอบคุณภาพและคุณสมบัติทางเคมีของอำพันดังกล่าวได้ในห้องแล็บปฏิบัติการเช่นกัน ซึ่งส่วนมากจะนิยมนำไปตรวจสอบที่ห้องแล็บของประเทศฝรั่งเศส เพราะว่าประเทศฝรั่งเศสเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำหอมชั้นเยี่ยมของโลก โดย “อำพัน” ก็เป็นสารที่มีกลิ่นหอม เหมาะกับการนำไปเป็นส่วนประกอบของน้ำหอมอีกที ดังนั้น ราคาของอำพันจะสามารถวัดได้จากคุณภาพของสสารที่ทำให้เกิดความหอม และในขณะเดียวกันก็เป็นสสารที่มีมูลค่าทางด้านการเป็นวัตถุทางยาอีกด้วย และถึงแม้สำรอกของวาฬในเขตน้ำตื้นอย่างวาฬหัวทุยที่พบได้ในประเทศไทยจะมีคุณภาพต่ำ แต่ก็ยังถือได้ว่าเป็นสสารที่ให้คุณประโยชน์มหาศาล มีราคาขายอยู่ที่หลักหมื่นขึ้นไป
แหล่งที่มา
Department of Pharmacology, Integral University, India. (August 2018). Potential Benefits of Ambergris Beyond Perfume. Retrieved July 4, 2020. From https://www.researchgate.net/publication/330164545_Potential_Benefits_of_Ambergris_Beyond_Perfume
Springnews. (2562, 1 มีนาคม) .“อำพันทะเล” หรือ “อ้วกวาฬ” สรรพคุณบำรุงหัวใจ มูลค่านับร้อยล้าน. วันที่สืบค้น 4 กรกฎาคม 2560 จาก https://www.springnews.co.th
Helen Scales. Chemistry World. (2013, 18 September) . Ambergris. Retrieved July 4, 2020. From https://www.chemistryworld.com/podcasts/ambergris/6598.article
-
11657 ที่มาของ “อำพัน” สสารชีวภาพสู่อัญมณีแห่งท้องทะเล /article-chemistry/item/11657-2020-06-30-06-13-32เพิ่มในรายการโปรด