เมลาโทนิน วัฏจักรชีพ สมดุลชีวิต
เมลาโทนิน วัฏจักรชีพ สมดุลชีวิต
ภก.ผศ.ศุภชัย ติยวรนันท์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเรื่องราวบางส่วนของสารเคมีที่ผลิตขึ้นในร่างกายชนิดหนึ่งที่มีผลต่อการนอนของเรา และหลายคนที่ต้องเดินทางข้ามโลกข้ามทวีปจนทำให้รอบของชีวิตผิดไปจากรอบปรกติต้องอาศัยสารชนิดนี้ซึ่งในบางประเทศสามารถหาซื้อได้อย่างง่ายดาย ครับสารที่ว่าคือเมลาโทนิน (Melatonin)
เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตขึ้นจากต่อมไพเนียล (pineal gland) ในสมอง ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อ (endocrine gland) ๑ ใน ๘ ต่อมไร้ท่อหลักของร่างกาย สารเมลาโทนินที่ผลิตจากต่อมไพเนียลนี้จะหลั่งเข้าสู่กระแสโลหิตและส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย มีผลต่อร่างกายหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลต่อระบบการควบคุมวัฎจักรชีพประจำวัน (Circadian Rhythm)[1] หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่านาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ซึ่งเป็นระบบควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ภายใน ๒๔ ชั่วโมง โดยขึ้นกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะแสง ส่วนปัจจัยภายในร่างกายที่ส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตคืออุณหภูมิแกนของร่างกาย (core body temperature) และ การหลั่งเมลาโทนิน (melatonin secretion)
รูปที่ ๑ นาฬิกาชีวภาพ (biological clock)
ที่มา: http://en.wikipidia.org/wiki/Circadian_rhythm
นั่นเป็นความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ที่ต่อมไพเนียลในสมองจะทำหน้าที่ผลิตสารสำคัญ ๒ ชนิด โดยใช้แสงเป็นตัวกำหนดรอบการผลิต ในเวลากลางวันเมื่อมีการรับแสงผ่านทางสายตาและผิวหนัง จะมีการส่งข้อมูลแสงผ่านเข้าสู่ระบบเลือดและวิ่งไปสู่ต่อมไพเนียลและกระตุ้นเซลล์ไพนีโลไซท์ (pinealocytes) ให้ทำการเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโทแฟน (tryptophan) ให้กลายเป็นเซโรโทนิน (serotonin) และเมื่อถึงเวลากลางคืน สัญญาณที่ส่งมาถึงเซลล์ไพนีโลไซท์จะมีค่าของแสงลดลง เซลล์กลุ่มนี้ก็จะทำหน้าที่นำเซโรโทนินไปผลิตสารอีกชนิดหนึ่งคือเมลาโทนิน (melatonin)[2] [3] ซึ่งเป็นเมแทบอไลต์ที่มีผลทางชีวภาพ (active metabolite) ของเซโรโทนิน
เมลาโทนินสามารถสร้างขึ้นที่ทางเดินอาหารและที่จอรับภาพในดวงตาได้ด้วย ซึ่งมิได้ทำหน้าที่เป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย แต่จะส่งผลต่อเซลล์ข้างเคียงของเซลล์ที่ผลิตเท่านั้น ดังนั้นเมลานินจึงเป็นทั้งสารที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้เซลล์แบบ endocrine และ paracrine ขึ้นอยู่กับบริบทของการสร้างสารชนิดนี้ ผลต่อร่างกายของเมลานินนั้น นอกจากจะเป็นตัวควบคุมจังหวะเวลาของวัฏจักรชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายอื่นๆ อีกหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการต้านออกซิเดชัน กลไกการชราภาพของเซลล์ รวมถึงระบบสารคัดหลั่งที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังด้วย
ปัจจุบันเมลาโทนินถูกนำมาใช้เป็นยาในบางประเทศ และ บางประเทศถูกจัดเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ต้องควบคุม ในกรณีที่ใช้เป็นยามักใช้เป็นยาแก้อาการนอนไม่หลับโดยเฉพาะที่เกิดจากการเปลี่ยนเวลาจากการเดินทาง แต่อย่างไรก็ตามเมลาโทนินนั้นมีค่าชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) ที่ค่อนข้างต่ำ และมีค่าครึ่งชีวิตสั้น จึงมีข้อจำกัดในการใช้บำบัดอยู่มาก[4] ดังนั้นหลายๆ การศึกษาในปัจจุบันจึงเน้นที่การทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้การทำงานของต่อมไพเนียลเป็นปรกติและสามารถผลิตเมลาโทนินได้ตามรอบของวัน และหากต้องการผลการบำบัดอาการนอนหลับ การทำให้มีการหลั่งเมลาโทนินเนิ่นนานออกไปก็เป็นวิธีการบำบัดที่ได้ผลอีกหนทางหนึ่ง[5] สำหรับการในใช้เมลาโทนินในการบำบัดโรคอื่นๆ นั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแต่ยังไม่ได้นำเอาเมลาโทนินมาใช้ทางคลินิกสำหรับบำบัดโรคอื่นอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่จากผลการศึกษาทำให้เห็นว่าถ้ามีระบบการจัดการที่ดีต่อระดับเมลาโทนินในร่างกาย จะทำให้ความรุนแรงของโรคต่างๆ ทุเลาลง
ในบทความนี้จะกล่าวถึงผลของเมลาโทนินต่อโรคไมเกรนและโรคผิวหนังบางชนิด และจะได้กล่าวถึงทฤษฎีทางการแพทย์แผนตะวันออกและการแพทย์แผนตะวันตกในอดีต ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาทางการแพทย์มาจนถึงปัจจุบันนี้ที่ได้กล่าวถึงระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายที่จะส่งผลต่อสุขภาวะของมนุษย์
ไมเกรนกับเมลาโทนิน
ในอดีตความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดของอาการปวดหัวไมเกรนนั้น เชื่อในทฤษฎีที่ว่าเกิดจากความผิดปรกติของการหดและขยายของหลอดเลือดที่รวดเร็วเกินไป แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุก่อนที่จะเกิดการหดและขยายหลอดเลือดนั้นมีการกระตุ้นและเหนี่ยวนำมาจากการทำงานของระบบประสาทในสมองโดยเฉพาะในส่วนเนื้อสมอง (cortex of brain) ที่ถูกกดการทำงาน[6] จึงส่งผลให้เกิดการหลั่งสารก่อการอักเสบหลายชนิดเกิดขึ้นและไปส่งผลระคายเคืองต่อเส้นประสาทสมอง (cranial nerve roots) โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๕ (trigeminal nerve) ที่ส่งกระแสประสาทไปที่ใบหน้าและศีรษะ
การเกิดความผิดปรกติที่เนื้อสมองนั้นในกาลต่อมาพบว่าเป็นการทำงานผิดปรกติของเนื้อสมองสีเทาของฐานสมองใหญ่ หรือส่วน ธารามัส(thalamus) ส่วนใต้ธารามัส (hypothalamus) และส่วนเนื้อสมองใหญ่ (cerebral cortex) ผนวกกับความผิดปรกติของกระบวนการสร้างและสลายเซโรโทนิน (serotonin metabolism) อันส่งผลไปถึงระบบหลอดเลือดที่สัมพันธ์กับเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๕ (trigeminovascular system) ทำให้เกิดการทำงานเกินในระบบ[2] จึงมีการหลั่ง calcitonin gene-related peptides หรือเรียกย่อๆ ว่า CGRP ซึ่งเป็นนิวโรเปปไทด์ (neuropeptide) ที่มีผลขยายหลอดเลือดอย่างแรง ไปยังเป้าหมายคือเส้นโลหิตของเส้นประสาทสมอง (cranial vessels) ทำให้เส้นโลหิตประสาทสมองดังกล่าวขยายตัวเฉียบพลันและนำไปสู่การปวดหัวไมเกรนในที่สุด
รูปที่ ๒ แสดงให้เห็นการส่งสัญญาณประสาทจากการที่เนื้อสมองถูกกดการทำงาน แล้วเกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาทสมอง (เส้นสีเขียว) กระตุ้นให้หลอดเลือดที่ผิวสมองขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเกิดสัญญาณประสาทที่แสดงความปวดกลับมาตามเส้นประสาทสมอง (เส้นสีเหลือง) กลับเข้าสู่สมองและแสดงออกมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ระบบนี้เรียกว่าระบบ Trigeminovascular
ที่มา: www.ion.ulc.ac.uk/~yolandek/
ในส่วนของเมลาโทนินมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคไมเกรนค่อนข้างสูง[2] โดยได้มีคนชี้แจงความสัมพันธ์ทางทางคลินิกไว้ดังนี้คือ
๑. ไมเกรนเป็นโรคที่มีความถี่พบบ่อยในเครือญาติ หรือถ่ายทอดมาได้ทางพันธุกรรม ซึ่งในปี ค.ศ.๑๙๘๓ มีผู้พบว่าระดับเมลาโทนินในมนุษย์ก็เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมเช่นกัน
๒. ในปี ค.ศ.๑๙๘๙ มีผู้พบว่าระดับเมลาโทนินในเลือดของผู้ที่เป็นไมเกรนจะต่ำกว่าปรกติ
๓. ในปี ค.ศ.๑๙๙๑ มีรายงานการเกิดอาการปวดหัวข้างเดียวซ้ำๆ ในผู้ป่วยที่ตัดต่อมไพเนียลออก
๔. ในปี ค.ศ.๑๙๙๕ พบว่าระดับเมลาโทนินตอนกลางคืนที่วัดจากปัสสาวะของผู้ป่วยไมเกรนมีระดับต่ำกว่าปรกติ
๕. ในปี ค.ศ.๑๙๙๖ มีการทดลองให้เมลาโทนินในผู้ป่วยไมเกรน พบว่าสามารถลดอาการปวดหัวไมเกรนลงได้โดยปราศจากผลข้างเคียง แต่กลับพบว่าเมื่อให้เมลาโทนินในผู้ที่เมาเวลาจากการบิน (jet lag) มีบางรายที่เกิดอาการปวดหัวในตอนต้นๆ ของการได้รับเมลาโทนิน
ต่อมาได้มีการศึกษาตัวรับเมลาโทนิน (melatonin receptors) ซึ่งมี ๓ ชนิด คือ MT1, MT2 และ MT3 ตัวรับที่มีผลต่อการหดขยายหลอดเลือดคือตัวที่ ๑ และ ๒ โดย ตัวรับที่ ๑ จะทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนตัวรับที่ ๒ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว[7] และผลที่ส่งต่อสมองนั้นก็มีทั้งที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ตื่นตัวและออกฤทธิ์ทำให้สงบระงับ แต่ในภาวะปรกติร่างกายจะสร้างเมลาโทนินเพื่อการสงบระงับและผ่อนคลาย ดังนั้นในช่วงหลังการใช้เมลาโทนินในผู้ป่วยไมเกรนจึงมักใช้เป็นการป้องกันการเกิดไมเกรน[8] ส่วนการบำบัดอาการปวดไมเกรนมักใช้เป็นสารอนุพันธุ์เซโรโทนิน ซึ่งจะส่งผลบีบหลอดเลือดได้ชัดเจนกว่า
เมลาโทนินกับอาการแสดงทางผิวหนัง
โรคผิวหนังที่เมลาโทนินจะส่งผลทำให้มีอาการดีขึ้นนั้นจะเป็นโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หนึ่งในนั้นคือโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) สาเหตุของโรคจริงๆ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าจะเกิดจากความผิดปรกติทางภูมิคุ้มกัน ส่งผลทำให้เกิดการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนรวดเร็วผิดปรกติของเซลล์ผิวหนัง (keratinocytes) และมีการอักเสบเรื้อรังที่ผิวหนัง[9] ลักษณะโรคจึงแสดงออกมาเป็นผื่นแดงเป็นผืนกว้างตามผิวหนังได้หลายบริเวณ บางครั้งเป็นเกล็ดมีสีขาวหรือสีเงิน จึงได้เรียกว่าสะเก็ดเงิน หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าเรื้อนกวาง การบำบัดอาการเรื้อนกวางหรือสะเก็ดเงินนั้นปัจจุบันแบ่งเป็น ๓ ระดับการรักษา คือ (๑) การบำบัดโดยยาทาเฉพาะที่ (๒) การบำบัดโดยการใช้แสง (รังสีเหนือม่วง) และ (๓) การบำบัดโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทั้งระบบ ในการบำบัดขั้นต้นนั้นจะมีความเป็นพิษต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด แต่ก็ได้ประสิทธิผลการรักษาต่ำที่สุดเช่นกัน ในขณะที่การใช้ยาที่ออกฤทธิ์ทั้งระบบนั้นจะได้ผลการรักษาดีที่สุด แต่ก็มีพิษต่อผู้ป่วยสูงที่สุดเช่นกัน
ปัจจุบันแนวทางการบำบัดโรคสะเก็ดเงินยังคงเป็นดังที่กล่าว และการค้นคว้าเพื่อหาทางบำบัดแบบอื่นที่มีพิษหรือผลข้างเคียงต่ำต่อร่างกาย แต่ได้ประสิทธิผลในการรักษาสูงนั้น ยังเป็นที่ท้าทายในวงการอย่างยิ่ง
ในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเมลาโทนินในกรณีโรคสะเก็ดเงินนั้นอยู่บนแนวคิดที่ว่าเมลาโทนินมีผลต่อปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกาย และตัวเมลาโทนินนั้นมีความสามารถในการแพร่ผ่านเยื้อหุ้มเซลล์ได้ดี นอกจากนี้เมลาโทนินยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและยังลดการเกิดไลปิดเปอร์ออกซิเดชั่น (lipid peroxidation: LP) ได้ดี และที่แน่นอนคือ เมลาโทนินนั้นลดความเครียดได้
ความเครียดเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน เนื่องจากความเครียดจะกระตุ้นเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ยกตัวอย่างการเกิดไมเกรนจากที่กล่าวไว้ข้างต้นก็เกิดจากความเครียดที่ทำให้เนื้อสมองเกิดอักเสบและก่อให้เกิดการปวดหัวไมเกรน ในกรณีสะเก็ดเงินมีรายงานปัจจัยที่ทำให้ก่อโรคคือความเครียดเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๖ ก็ด้วยการที่ความเครียดทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบที่ผิวหนัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งแมสท์เซลล์ (mast cells) อันจะทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบและภูมิแพ้ขึ้น ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินจะพบปริมาณแมสท์เซลล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญบริเวณรอยโรคและผิวหนังส่วนอื่นๆ
ในภาวะปรกติ แมสท์เซลล์จะอยู่ในลักษณะเซลล์ขนาดเล็กที่เรียกว่า granulated mast cells ต่อเมื่อถูกกระตุ้นหรือได้รับอันตรายโดยตรงต่อแมสท์เซลล์ จะทำให้แมสท์เซลล์แตกหรือเรียกว่า degranulated mast cells และปล่อยสารเร่งปฏิกิริยาการอักเสบและการแพ้หลายชนิดออกมา ซึ่งการได้รับภาวะเครียดเรื้อรังนั้นจะทำให้ปริมาณแมสท์เซลล์สูงขึ้นมากทั้ง ๒ ชนิด ในการทดลองในหนูพบว่าเมลาโทนินสามารถลดจำนวนแมสท์เซลล์ในกลุ่มหนูที่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดความเครียดแบบเรื้อรังได้อย่างมีนัยสำคัญดังแสดงในรูปที่ ๔
รูปที่ ๔ แสดงจำนวนแมสท์เซลล์ แท่งสีเทาคือ granulated mast cells แท่งสีขาวคือ degranulated mast cells, aWAS= acute water avoidance stress group, cWAS= chronic water avoidance stress group, mel= melatonin จะเห็นได้ว่าในกลุ่ม cWAS เมื่อได้รับเมลาโทนิน จำนวน degranulated mast cells จะลดลงอย่างมาก แสดงให้เห็นถึงผลของเมลาโทนินที่มีต่อการยับยั้งการปล่อยสารก่อการอักเสบออกจากแมสท์เซลล์ จึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคผิวหนังอย่างสะเก็ดเงินได้ผล
ที่มา: Cikler, ESra and other. Acta histochemica. 106(2005) 467-475.
และจากการศึกษาในอดีต ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ พบว่าผู้ป่วยที่เป็นสะเก็ดเงินจะมีระดับเมลาโทนินในกระแสเลือดลดต่ำลง นั่นแสดงว่าเมลาโทนินอาจจะนำมาใช้เป็นสารในการป้องกันและลดระดับความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินได้[10]
แนวทางในการอาศัยผลดีของเมลาโทนินที่มีต่อร่างกาย
อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่า เมลาโทนินมีค่าชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) ที่ค่อนข้างต่ำ และมีค่าครึ่งชีวิตสั้น จึงมีข้อจำกัดในการใช้บำบัดอยู่มาก[4] ดังนั้นหลายๆ การศึกษาในปัจจุบันจึงเน้นที่การทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้การทำงานของต่อมไพเนียลเป็นปรกติและสามารถผลิตเมลาโทนินได้ตามรอบของวัน และหากต้องการผลการบำบัดอาการนอนหลับการทำให้มีการหลั่งเมลาโทนินเนิ่นนานออกไปก็เป็นการบำบัดได้อีกหนทางหนึ่ง[5]
ตามหลักการแพทย์แผนตะวันออก และแผนตะวันตกดั้งเดิม กล่าวว่าอวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะทำงานได้เป็นปรกติต้องอาศัยการไหลเวียนโลหิตที่เป็นปรกติไปตามอวัยวะนั้นๆ และหากการไหลเวียนโลหิตปรกติทั่วร่างกาย ธาตุต่างๆ ในร่างกายก็จะสู่สมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็จะสู่สมดุลเช่นกัน[11] ดังนั้นหากจะปรับเข้าสู่เรื่องการทำงานของต่อมไพเนียล ก็ต้องอาศัยการไหลเวียนโลหิตที่เป็นปรกติสู่ต่อมไพเนียล คำว่าปรกติในที่นี้ไม่ใช่ว่าไหลไปมากเสียจนล้น แต่เป็นการไหลเวียนโลหิตที่พอดี ไม่ติดขัด และ ไม่มากเกินไป หนทางหนึ่งทีควรเลือกใช้คือการรับประทานอาหารที่ไขมันต่ำ ลดปริมาณโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อลง และเพิ่มผักหลากสีเข้ามาในทุกมื้ออาหาร เพราะจากการศึกษาในหญิงวัยหมดประจำเดือนพบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ สามารถลดปัญหาที่เกิดจากหลอดเลือดแข็งตัว หลอดเลือดอุดตัน และทำให้อารมณ์ดีขึ้น[12] ซึ่งจะส่งผลต่อการนอนหลับและทำให้ระดับเมลาโทนินและเซโรโทนินในสมองเข้าสู่สมดุล
ในกรณีที่ไม่สามารถปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้ อาจใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งมีมากมายหลายชนิด อาทิ โสมสกัด สารสกัดจากใบแปะก๊วย สารสกัดจากกระเทียม และอื่นๆ ตามแสดงในตารางที่ ๑[13]
ตาราง ๑ รายชื่อสมุนไพรบางชนิดที่ใช้ในระบบหัวใจและหลอดเลือด เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตหรือช่วยให้การไหลเวียนโลหิตสะดวกขึ้น
นอกจากนี้ยังอาจเสริมด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทำให้สงบประสาทคลายกังวลและหลับได้ง่าย ซึ่งกลุ่มนี้จะทำให้สมองได้รับการพักผ่อนและลดความเครียดลง และจะส่งผลดีต่อวัฏจักรชีวิต หรือนาฬิกาชีวิต ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น สมุนไพรที่ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรืออาหารที่รับประทานที่มีฤทธิ์ดังกล่าวได้แก่ ขี้เหล็ก ใบแค หากเป็นสมุนไพรต่างประเทศที่มีจำหน่ายในปัจจุบันได้แก่ Kava, Lavender oil, Hops, Melissa, Valerian เป็นต้น[14]
บทส่งท้าย
โดยสรุปแล้วร่างกายมนุษย์อยู่บนความสมดุล หากว่ากันตามทฤษฎีแพทย์ตะวันออกบ้างก็ว่ามี ๔ ธาตุ บ้างก็ว่ามี ๕ ธาตุ แต่ทั้งหมดอธิบายบนพื้นฐานของความสมดุล ดูจะสอดคล้องตามหลักของพุทธศาสนาที่ให้ตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ซึ่งต้องรักษาสังขารให้สมบูรณ์เพื่อเจริญจิตรสูนิพพานและดับจิตและสังขารพร้อมๆ กัน[15] แม้กระทั้งในทฤษฎีการแพทย์ตะวันตกสมัยเริ่มต้นก็มองร่างกายมนุษย์ในลักษณะไม่ต่างกัน แล้วยังเน้นไปที่สมดุลของเหลวในร่างกายเสียด้วย การแพทย์แผนจีนมองระบบไหลเวียนโลหิตและระบบพลังปราณ (ชี่) ในร่างกายเป็นตัวหลักในการรักษาสมดุลภายในร่างกาย ความสมดุลที่จะเกิดขึ้นนี้ย่อมต้องมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยภายในที่จะทำให้รางกายสมดุลคือนาฬิกาชีวิตที่เป็นปรกติ นาฬิกาชีวิตจะเป็นปรกติได้ขึ้นกับปัจจัยภายนอกและความเข้มแข็งสมบูรณ์ของพื้นฐานจิตใจ ปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อสมดุลร่างกายนั้นมีมากมายเหลือเกิน ที่กระทบโดยตรงคือการกิน การหายใจ การอยู่อาศัย ดังนั้น อาหารดี อากาศดี อาศัยดี จะนำไปสู่ภาวะสมดุล เมื่อร่างกายสมดุล การทำงานของต่อมต่างๆ ทางกายภาพที่ได้กล่าวไปแล้วก็จะสู่ภาวะปรกติ โรคต่างๆ ที่กล่าวไปก็จะไม่มาเยือน หากแม้นมีโรคถือกำเนิดเมื่อใด นั่นแสดงว่าร่างกายเสียสมดุลไปจากเดิม ก็ต้องอาศัยปัจจัยที่ว่าช่วยให้กลับคืนสู่สมดุลอีกครั้ง แล้วร่างกายจะเป็นปรกติ ชีวิตจะเป็นสุข อยู่ในสุขภาวะที่ดีตลอดไป
เอกสารอ้างอิง
- Altun A, and Ugur-Altun B (2007). "Melatonin: therapeutic and clinical utilization". Int. J. Clin. Pract. 61 (5): 835–45.
- Toglia, J.U. (2001). “Melatonin: a significant contributor to the pathogenesis of migraine”. Medical Hypotheses. 57(4), 432-434.
- Grass, F. and Kasper, S. (2008). “Humoral phototransduction: Light transportation in the blood, and possible biological effects” Medical Hypotheses. 71(2): 314-317.
- Turek FW, Gillette MU (November 2004). "Melatonin, sleep, and circadian rhythms: rationale for development of specific melatonin agonists". Sleep Med. 5 (6): 523–32.
- Wade AG, Ford I, Crawford G, et al (October 2007). "Efficacy of prolonged release melatonin in insomnia patients aged 55-80 years: quality of sleep and next-day alertness outcomes". Curr Med Res Opin 23 (10): 2597–605.
- Lauritzen M (1994). "Pathophysiology of the migraine aura. The spreading depression theory". Brain 117 ( Pt 1): 199–210.
- Seithikurippu R. Pandi-Perumal, Ilya Trakht, Venkataramanujan Srinivasan, D. Warren Spence, Georges J.M. Maestroni, Nava Zisapel, and Daniel P. Cardinal (2008). “Physiological effects of melatonin: Role of melatonin receptors and signal transduction pathways”. Progress in Neurobiology 85(3): 335-353.
- Robert Eli, and James A. Fasciano. (2006). “A chronopharmacological preventive treatment for sleep-related migraine headaches and chronic morning headaches: Nitric oxide supersensitivity can cause sleep-related headaches in a subset of patients”. Medical Hypotheses. 66(3): 461-465.
- Marie Feletar, Peter Foley, Matthew A. Brown. (2008). “Developments in psoriasis and psoriatic arthritis”. Drug Discovery Today: Disease Mechanisms, In Press, Corrected Proof, Available online 20 June 2008.
- Esra Çikler, Feriha Ercan, Şule Çetinel, Gazi Contuk, Göksel Şener. (2005). “The protective effects of melatonin against water avoidance stress-induced mast cell degranulation in dermis”. Acta histachemica 106: 467-475.
- Yin Huihe and others. (1995). Fundamentals of traditional Chinese medicine 2nd ed. Foreign languages press: Beijing. 300 pages.
- Chin-Hua Fu, Cheryl C.H. Yang, Chin-Lon Lin, Terry B.J. Kuo. (2006). “Effects of Long-Term Vegetarian Diets on Cardiovascular Autonomic Functions in Healthy Postmenopausal Women”. The American Journal of Cardiology. 97(3):380-383.
- Georgianne Valli, Elsa-Grace V. G. (2002). “Benefits, Adverse Effects and Drug Interactions of Herbal Therapies with Cardiovascular Effects”. Journal of the American College of Cardiology. 39(7): 1083-95.
- P. García-García, F. López-Muñoz, G. Rubio, B. Martín-Agueda, C. Alamo. (2008). “Phytotherapy and psychiatry: Bibliometric study of the scientific literature from the last 20 years”. Phytomedicine. 15: 566-576.
- กรมการศาสนา, กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๐). พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน ตอนว่าด้วยพระสุตร. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย: กรุงเทพฯ. ๕๘๔ หน้า.
-
629 เมลาโทนิน วัฏจักรชีพ สมดุลชีวิต /article-chemistry/item/629-melatoninเพิ่มในรายการโปรด