โรคมินามาตะ หายนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น
บทความต่อไปนี้ อาจมีรูปภาพและเนื้อหาที่ค่อนข้างจะรุนแรง สะเทือนใจ ผู้อ่านทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
นับตั้งแต่มีการพบชาวบ้านในเมืองมินามาตะ ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาทส่วนกลางอย่างไม่ทราบสาเหตุ
ชื่อ “มินามาตะ” จึงไม่ได้เป็นเพียงชื่อเมืองที่แสนสงบในประเทศญี่ปุ่นอีกต่อไป
ภาพที่ 1 : ภาพผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคมินามาตะ
ที่มา : http://www.marumura.com/
แม้ประเทศญี่ปุ่นจะเคยพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คนญี่ปุ่น และประเทศญี่ปุ่นต้องก้มหน้ารับความปราชัยอย่างสิ้นหวัง พวกเค้าได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็ง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกในหลาย ๆ ด้าน จนที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก แต่กว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกความสำเร็จย่อมต้องแลกมาด้วยความผิดพลาดบางอย่างเสมอ และหนึ่งในความผิดพลาดที่ร้ายแรงทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งยังคงหลอกหลอนพวกเขามาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ โรคมินามาตะ
มินามาตะ (Minamata) เป็นเมืองเล็ก ๆ ของจังหวัดคุมาโมโต (Kumamoto) บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงาม โอบล้อมด้วยเทือกเขาอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ด้านหนึ่งเปิดโล่งออกสู่ทะเลชิรานุอิ (Shiranui Sea) บริเวณอ่าวมินามาตะ เมืองนี้มีประชากรเพียงไม่กี่หมื่นคน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามแบบพื้นที่ชนบทของญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมง
ภาพที่ 2 : แผนที่อ่าวมินามาตะ (Minamata Bay) และโรงงานของบริษัทชิสโซะ (Chisso Corporation)
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Minamata_Bay
ภายหลังเริ่มมีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือโรงงานผลิตปุ๋ยของบริษัทชิสโซะ (Chisso Corporation) ที่เปิดกิจการในปี 1908 และต่อมาก็พัฒนาขึ้นเป็นโรงงานผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ ซึ่งโรงงานแห่งนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนแปลงให้เมืองมินามาตะอันแสนสงบ และสวยงาม ให้ไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาล
ประวัติความเป็นมาของโรคมินามาตะ
ย้อนกลับไปในปี 1908 บริษัทชิสโซะ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่เทศบาลเมืองมินามาตะ ได้รับการเชื้อเชิญอย่างดีจากชาวบ้านให้เปิดทำการ โดยมุ่งหวังให้นำมาซึ่งความเจริญในท้องถิ่น มีการจ้างแรงงานชาวบ้านถึง 4,000 คน เรียกได้ว่าคนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ก็เป็นลูกจ้างของบริษัทนี้นั่นเอง ในปี 1932 บริษัทชิสโซะได้เริ่มการผลิตสาร Acetaldehyde ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของเคมีภัณฑ์หลายชนิด และมีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำ หลังจากนั้นก็มีการรายงานว่าพบความผิดปกติในเด็กที่เกิดใหม่ รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ เช่น นก ปลา หรือแมว อีกด้วย
ภาพที่ 3 : โรงงานที่ตั้งบริษัทชิสโซะ
ที่มา : http://nandamization.blogspot.com/2015/09/blog-post_84.html
Hajime Hosokawa นายแพทย์ผู้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของบริษัทชิสโซะ ได้ศึกษาพบที่มาของความผิดปกติว่าเกิดจากสารปรอทที่โรงงานปล่อยออกมา และได้ทำการทดลองนำหอยที่อาศัยในบริเวณทางปล่อยน้ำเสียของบริษัทมาเป็นอาหารเลี้ยงแมว พบว่าภายใน 78 วัน แมวก็มีอาการเหมือนผู้ป่วยโรคมินามาตะ นายแพทย์ Hosokawa ถูกปิดปาก และผลการศึกษาถูกปิดเงียบ สื่อชาวอเมริกัน W. Eugene Smith ที่พยายามขุดคุ้ยเรื่องราวของโรคมินามาตะ ก็ถูกทำร้ายจนพิการทางสายตา ด้วยเพราะชาวเมืองจำนวนมากก็เป็นลูกจ้าง อยู่ได้ด้วยเงินทุนของบริษัทชิสโซะ นักการเมืองท้องถิ่นรวมถึงข้าราชการก็เป็นคนของบริษัทนี้ การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมกับบริษัทนี้จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง
พิษของปรอทกับความผิดปกติของโรคมินามาตะ
โลหะหนักในรูปสารประกอบอินทรีย์สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ และเนื่องจากไม่ละลายในน้ำ ที่ ๆ สารปรอทมักจะไปสะสมอยู่นั่นก็คือบริเวณก้อนไขมันในสมอง ซึ่งเมื่อแพทย์ชำแหละสมองของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมินามาตะ สมองของผู้ป่วยนั้นจะพรุนเหมือนฟองน้ำ ส่วนที่เนื้อสมองหายไปนั่นคือส่วนที่ถูกทำลายด้วยสารปรอท
ภาพที่ 4 : ภาพแสดงลักษณะอาการของผู้ป่วยโครมินามาตะ ที่เกิดจากสมองถูกทำลาย
ที่มา : http://nandamization.blogspot.com/2015/09/blog-post_84.html
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมินามาตะก็คือผู้ที่ป่วยจากการที่สมองถูกทำลาย เริ่มแรกมีอาการชาที่มือและเท้า อาการลามขึ้นไปถึงแขน ขา และริมฝีปาก ต่อมาม่านตาหรี่เล็กลง จิตใจรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย พูดช้าและไม่เป็นภาษา ฟังไม่ได้ยิน การใช้มือ เท้า และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆไม่สัมพันธ์กันจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น การดื่มน้ำจากแก้ว การติดกระดุม หรือการเขียนหนังสือ เป็นต้น อาการแขน ขา มือ เท้า สั่น และชักกระตุกจะปรากฏให้เห็นได้ชัด ในรายที่อาการหนักมากอาจควบคุมสติไม่ได้ และพูดตะโกนไม่เป็นภาษา มีอาการวิกลจริตอย่างอ่อน ๆ กรีดร้อง มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง
เมื่อมีอาการแสดงออกมาแล้วย่อมไม่มีทางที่จะรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงแค่ประคองอาการไว้และรอวันตายเท่านั้น ปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว นับจากเหตุการณ์โรคมินามาตะ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ป่วยก็ยังคงมีอยู่ ผู้ที่ได้รับสารปรอทเยอะก็ตายเร็ว ส่วนผู้ที่ได้รับน้อยก็ยังคงมีชีวิตอยู่พร้อมความพิกลพิการ เป็นภาพที่น่าเวทนายิ่งนัก
การต่อสู้และการสร้างชีวิตใหม่ของชาวเมืองมินามาตะ
แม้จะใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก สุดท้ายภาคประชาชนรวมถึงผู้เสียหาย 138 คน ก็ได้ทำเรื่องฟ้องร้องบริษัทชิสโซะ ต่อศาลจังหวัดคุมาโมโตะในปี 1968 ซึ่งต่อมาในปี 1973 ศาลก็ได้ตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวเมืองราว 158 ล้านบาท (การจ่ายค่าเสียหายนี้ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) คดีนี้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ถูกกล่าวถึงในฐานะคดีที่เป็นชัยชนะขั้นสูงสุดของชาวบ้านตาดำ ๆ คนธรรมดา ถือเป็นกรณีศึกษาให้กับชาติอื่น ๆ รวมถึงกรณีที่เกี่ยวกับกฎระเบียบการควบคุมมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดของไทยเราด้วย จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายใหม่เพื่อควบคุมขั้นตอนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม โดยกำหนดให้ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณที่จำกัด
หลังจากที่ต้องเผชิญกับวิกฤติมลพิษอย่างหนักจนส่งกระทบกับคุณภาพชีวิต มีผู้คนเสียชีวิตไปหลายพันคน โดยเฉพาะพวกเด็ก ๆ และยังต้องใช้เม็ดเงินฟื้นฟูอีกหลายแสนล้านเยน ต้องลงทุนปิดอ่าวมินามาตะถึงกว่า 23 ปี แล้วขุดลอกตะกอนใต้น้ำเพื่อนำไปฝังกลบบนพื้นที่กว่า 58 เฮคเตอร์ (362.5 ไร่) ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้ เมืองมินามาตะจะสามารถพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง พิสูจน์ได้จากรางวัลเมืองที่โดดเด่นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ในการประกวดเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมปี 2005 – 2006
ในวันนี้ มินามาตะกลายเป็นเมืองที่ประชากรใส่ใจ และระมัดระวังกับเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก จนได้รับการรับรองเป็นเมือง Eco-Town อีกด้วย นับเป็นฟ้าหลังฝนที่ปลอบใจชาวเมืองจากเรื่องร้าย ๆ ได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 5 : เมืองมินามาตะในปัจจุบัน
ที่มา : จาก http://enb.iisd.org/mercury/dipcon/9oct.html
และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เหตุการณ์ปนเปื้อนของปรอทในเมืองมินามาตะ จึงถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ทางสิ่งแวดล้อมของประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มันไม่อาจประเมิณค่าความเสียหายได้ การบำบัดรักษาผู้ป่วย และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายสิบปี นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย
หวังว่าพวกเราจะใช้บทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตมาปรับใช้และสร้างอนาคตที่น่าอยู่ให้แก่ลูกหลานของเรา
แหล่งที่มา
Jutarut_DPM.อันตรายจากสารปรอทที่ควรทราบ.สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560.จาก http://dpm.nida.ac.th/main/index.php/articles/chemical-hazards/item/97-อันตรายจากสารปรอทที่ควรทราบ.
โรคมินะมะตะ.วิกิพีเดีย.สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560.จาก https://th.wikipedia.org/wiki/โรคมินะมะตะ
Darth Prin.โรคมินามาตะ บทเรียนมลพิษ.สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560.จาก http://nandamization.blogspot.com/2015/09/blog-post_84.html
บทเรียนจาก “มินามาตะ” ถึง “มาบตาพุด” และหยุด”ส่งออกมลพิษ”.ไทยพับลิก้า กล้าพูดความจริง.สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560.จาก http://thaipublica.org/2013/03/lessons-from-minamata-to-maptaput/
http://www.marumura.com/minamata-disease/
น.พ.วิวัฒน์ เธียระวิบูลย์ .โรคมินะมะตะ.วิกิพีเดีย.สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560.จาก http://www.healthcarethai.com/โรคมินะมะตะ
-
7387 โรคมินามาตะ หายนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น /article-chemistry/item/7387-2017-07-20-07-30-13เพิ่มในรายการโปรด