พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับพระราชกรณีกิจทางด้านวิทยาศาสตร์
เนื่องด้วยวันนี้ 13 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณีกิจสำคัญ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระองค์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก
ภาพที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่มา งานสัปดาห์งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2560
ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงพระราชอัจฉริยภาพ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลากหลายสาขา ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมศาสตร์ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการทหาร ด้านการศึกษา ด้านศิลปวัฒนธรรมและกีฬา ด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ด้านการกีฬา ด้านการเกษตร และที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พระราชกรณียกิจที่สำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- โครงการฝนหลวง
ภาพที่ 2 ปฏิบัติการฝนหลวงในท้องฟ้าครั้งแรก ในปี 2512
ที่มา https://www.prachachat.net
โครงการพระราชดำริส่วนพระองค์ ทรงเริ่มมีพระราชดำริเกี่ยวกับเทคโนโลยีฝนหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2498 เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้าโดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวง ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน เมื่อความร้อนชื้นปะทะความเย็น อุณหภูมิที่ลดต่ำลงมากจนทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว และกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เริ่มมีการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าครั้งแรก ปี พ.ศ. 2512
- โครงการแก้มลิง
แก้มลิงเปรียบเหมือนการกินกล้วยของลิง ซึ่งจะเก็บกล้วยไว้ที่แก้ม ก่อนจะค่อย ๆ นำมาเคี้ยวและกินภายหลัง เป็นแนวคิดแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียในคูคลอง โดยระบายน้ำจากตอนบนให้ไปตามจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน สู่คลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่ชายทะเล และลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล เมื่อระดับน้ำในทะเลลดต่ำกว่าในคลอง ก็ระบายน้ำออกจากคลองทางประตูระบายน้ำด้วยหลักการแรงโน้มถ่วงของโลก
- กังหันน้ำชัยพัฒนา
โครงการพระราชดำริที่ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัยและพัฒนาเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา) ภายหลังที่ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยหรือคือปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เปลี่ยนน้ำเสียกลายเป็นน้ำดี
- เขื่อนดิน
แนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินตามแนวพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำที่สร้างโดยการถมดินและบดอัดจนแน่น เช่นอ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำห้วยซับตะเคียน จ.ลพบุรี อ่างเก็บน้ำคลองหลา จ.สงขลา รวมทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใน จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ป้องกันน้ำท่วม และใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็ก
- ไบโอดีเซล
น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ทรงเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนผ่านโครงการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปี 2522 โดยมีโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลจากปาล์ม เชื้อเพลิงทดแทนประเภทดีเซลจากธรรมชาติ โดยการนำเอาน้ำมันจากพืชหรือสัตว์ ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทไตรกลีเซอไรด์ มาผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ทรานส์เอสเตอริฟิเคชัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
- แหลมผักเบี้ย-หนองหาร
โครงการในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอย และรักษาสภาพป่าชายเลน โดยแบ่งแนวทางการบำบัดเป็น 2 ส่วนคือระบบบำบัดหลัก คือบ่อสำหรับตกตะกอนและปรับสภาพน้ำเสียจำนวน 5 บ่อ ส่วนระบบบำบัดรอง ประกอบด้วย ระบบบึงชีวภาพ ซึ่งจะปลูกพืชสำหรับดูดซับสารพิษและสารอินทรีย์ ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า และระบบกรองด้วยป่าชายเลน
- แกล้งดิน
โครงการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในบริเวณป่าพรุที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดนราธิวาส โดยการทำดินให้เปรี้ยวด้วยการทำดินให้แห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ให้มีความเป็นกรดจัดมากขึ้นจนถึงขั้นที่สุด ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ควบคุมระบบน้ำใต้ดินและเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน โดยใช้คลุกเคล้ากับหน้าดิน ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาพื้นดินฟื้นคืนสภาพสามารถปลูกพืชผักทางการเกษตรได้อีกครั้งหนึ่ง
- หญ้าแฝก
ภาพที่ 3 หญ้าแฝก
https://home.kapook.com/view159054.html
โครงการเพื่อช่วยเก็บความชุ่มชื้นของดินไว้และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน โดยใช้หญ้าแฝก เป็นเขื่อนกั้นการไหลของน้ำตามธรรมชาติ ช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดิน โดยปลูกตามพื้นที่ลาดชันหรือบริเวณเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของหน้าดิน ปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม และยังใช้ปลูกป้องกันสารพิษปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ พสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและต่างรู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพในโครงการพระราชดำริหลายโครงการ ที่ทรงแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยแล้ว
แหล่งที่มา
พระราชกรณียกิจในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2560, จาก
http://king.kapook.com/job_duties_science_and_technology.php
10 พระราชกรณียกิจอันโดดเด่น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2560, จาก
https://hilight.kapook.com/view/143392
พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย ทรงค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้ง. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2560, จาก
https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1477642183
-
7465 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับพระราชกรณีกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ /article-chemistry/item/7465-2017-09-08-02-53-24เพิ่มในรายการโปรด