ความ (ไม่) ลับของหมอก
สภาพอากาศที่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกหนาซึ่งบดบังทัศนียภาพและทัศนวิสัยในการมองเห็นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยในการเดินทาง หรือหากว่าเกิดความเข้าใจผิดระหว่างหมอกกับฝุ่นละอองก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะมีความสับสนระหว่างหมอกและฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หลายคนอาจยังไม่ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดหมอกและประเภทของหมอก
ภาพที่ 1 หมอกบดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่บนท้องถนน
ที่มา https://pixabay.com/th/ jplenio
หมอกเกิดขึ้นได้อย่างไร?
หมอกอาจทำให้รู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกเวทมนต์หรือฉากโรแมนติกในภาพยนตร์ แต่ในความจริงแล้วหมอก (Fog) คือ กลุ่มของละอองน้ำที่ลอยตัวในระดับต่ำเหนือพื้นดิน ซึ่งก่อตัวจากการที่ไอน้ำเกิดการควบแน่นในอากาศและเปลี่ยนสถานะเป็นหยดน้ำเล็กๆ จำนวนมาก
ภายใต้สภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ อากาศจะมีไอน้ำซึ่งเป็นน้ำที่อยู่ในสถานะแก๊ส โดยอากาศร้อนจะมีความสามารถในการกักเก็บไอน้ำได้มากกว่าอากาศเย็น แต่เมื่ออุณหภูมิของอากาศลดลง อากาศจะสูญเสียความสามารถนั้น ซึ่งเมื่ออากาศเย็นลงจนถึงจุดที่เรียกว่า จุดน้ำค้าง (Dew point) หรือจุดอุณหภูมิที่ปริมาณของไอน้ำในอากาศคงที่ นั่นหมายความว่า อากาศจะอิ่มตัวและไม่สามารถกักเก็บไอน้ำได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และหากอุณหภูมิยังคงลดต่ำเรื่อยๆ ไอน้ำจะเกิดการควบแน่น (Condensation) และเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว
ภาพที่ 2 หมอกบนพื้นผิวน้ำ
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,12019
อย่างไรก็ตามนอกจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิและความดันแล้ว การควบแน่นของไอน้ำจำเป็นต้องมีพื้นผิวให้หยดน้ำเกาะตัว นั่นจึงทำให้หมอกเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น เมื่ออุณหภูมิของอากาศบนพื้นผิวลดต่ำกว่าจุดน้ำค้าง จะทำให้ไอน้ำในอากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำเล็ก ๆ เกาะบนใบไม้หรือยอดหญ้าเหนือพื้นดิน หรือเมื่อมวลอากาศอุ่นที่มีความชื้นสูงปะทะกับพื้นผิวที่มีความเย็นเช่น ผิวน้ำในทะเลสาบ อากาศก็จะควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ ทำให้มองเห็นเป็นควันสีขาวลอยขึ้นเหนือพื้นน้ำ ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับหยดน้ำที่เกาะอยู่รอบแก้วน้ำแข็ง
ประเภทของหมอก
หมอกมักมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันตามกระบวนทางกายภาพในการเกิดหมอก ดังนี้
- หมอกจากการแผ่รังสีความร้อน (Radiation fog) หมอกชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นช่วงฤดูหนาว ในวันที่มีอากาศแจ่มใส โดยในช่วงเวลากลางคืน พื้นดินจะคายความร้อนด้วยการแผ่รังสีความร้อน จึงทำให้พื้นดินและอากาศที่ลอยเหนือพื้นดินเย็นลง เมื่ออุณหภูมิลดลงจะทำให้อากาศถูกลดความสามารถในการกักเก็บไอน้ำ เป็นเหตุให้เกิดการควบแน่นและกลายเป็นหมอก อย่างไรก็ดีหมอกชนิดนี้จะจางหายไปเมื่อพื้นดินอุ่นขึ้นจากพระอาทิตย์ที่โผล่ขึ้นในตอนเช้า
- หมอกจากการพาความร้อนในแนวนอน (Advection fog) เป็นหมอกที่เกิดขึ้นจากอากาศที่เคลื่อนตัวผ่านพื้นผิวที่เย็น จึงทำให้อากาศที่อยู่ต่ำกว่ามีอุณหภูมิลดลงจนต่ำกว่าจุดน้ำค้าง ตัวอย่างโดยทั่วไปที่พบได้บ่อยคือ เมื่อมวลอากาศอุ่น (Warm Front) เคลื่อนที่ผ่านพื้นผิวที่เย็นจัดของพื้นน้ำในทะเลจนเกิดเป็นหมอกทะเล
- หมอกลาดเนินเขา (Upslope fog) หรือหมอกภูเขา (Hill fog) เกิดขึ้นเมื่ออากาศเคลื่อนที่ตามลาดเขา อากาศยกตัวสูงขึ้นมีอุณหภูมิลดลง ก่อนจะกลั่นตัวกลายเป็นหมอก
ภาพที่ 3 หมอกหุบเขา
ที่มา https://pixabay.com/th/ ,Hans
- หมอกหุบเขา (Valley fog) เป็นหมอกที่เกิดขึ้นเมื่ออากาศเย็นซึ่งความหนาแน่นสูงที่อยู่ในบริเวณพื้นที่สูง เคลื่อนตัวต่ำลงมายังพื้นที่ที่ต่ำกว่าเช่น บริเวณหุบเขา เป็นผลให้อุณหภูมิของอากาศบริเวณหุบเขาเย็นตัวลงจนเกิดการควบแน่นและกลายเป็นหมอก ในขณะที่ทัศนวิสัยเหนือหุบเขามีอากาศแจ่มใส
- หมอกน้ำแข็ง (Freezing fog)
- หมอกที่เกิดจากการระเหย (Evaporation fog) เป็นหมอกที่เกิดขึ้นจากการระเหยของไอน้ำจากแหล่งน้ำที่อุ่นเข้าสู่อากาศเย็นที่เคลื่อนที่ผ่าน ทำให้อากาศเย็นอิ่มตัวด้วยไอน้ำ และเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นหมอก ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภทคือ หมอกในแนวปะทะอากาศ (Frontal fog) และหมอกไอน้ำ (Steam fog)
Fog และ Mist ต่างกันอย่างไร?
ภาพที่ 4 ทัศนวิสัยในการมองเห็นบนท้องถนน
ที่มา https://pixabay.com/th/, Seaq68
หลายคนคงเคยสงสัยและตั้งคำถามถึงความแตกต่างระหว่างคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีความหมายเหมือนกัน (Synonym) อย่างคำว่า Fog และ Mist ซึ่งคำตอบของความสงสัยนั้นคือ ทัศนวิสัยในการมองเห็น (Visibility) หรือระยะทางไกลที่สุดซึ่งสามารถมองเห็นวัตถุได้ด้วยตาเปล่าและบอกได้ว่าวัตถุนั้นคืออะไร โดยหมอก (Fog) จะทำให้ทัศนวิสัยในแนวนอนที่พื้นผิวโลกลดลงเหลือน้อยกว่า 1,000 เมตร ในขณะที่หมอก (Mist) จะมีทัศนวิสัยมากกว่า 1,000 เมตร ทั้งนี้หมอกเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบและเป็นอันตรายอย่างมากต่อการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทางทางอากาศ ดังนั้นการตรวจสอบสภาพอากาศก่อนการเดินทางเป็นหนึ่งในวิธีเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางที่ปลอดภัย
แหล่งที่มา
Fog.
Retrieved March 29, 2018,
from https://en.wikipedia.org/wiki/Fog
Fog.
Retrieved March 29, 2018,
from http://www.aeromet.tmd.go.th/met/story/show_9.htm
What is fog?
Retrieved March 29, 2018,
from http://discoverymindblown.com/articles/what-is-fog/
Tom Gillespie. (2018, April 9). What is fog, what is the difference between fog and mist, and what causes it to form?
Retrieved March 29, 2018,
from https://www.thesun.co.uk/news/2339888/uk-weather-fog-mist-causes-about/
Risar Gudewala. (2015, October 27). What is the difference between mist, fog, smog, haze and vog?
Retrieved March 29, 2018,
from https://www.quora.com/What-is-the-difference-between-mist-fog-smog-haze-and-vog
-
8396 ความ (ไม่) ลับของหมอก /article-chemistry/item/8396-2018-06-01-02-47-46เพิ่มในรายการโปรด