คำอธิบายของเกล็ดน้ำตาลที่หายไป (ในน้ำ)
ทุกคนต่างทราบดีว่า เมื่อผสมน้ำตาลลงในน้ำ เกล็ดน้ำตาลจะหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อคนส่วนผสมนั้นให้เข้ากัน แต่เพียงแค่การที่เกล็ดน้ำตาลหายไปด้วยเหตุผลที่ว่ามันละลายน้ำนั้นอาจยังไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์เท่าไรนัก
ภาพที่ 1 เกล็ดน้ำตาล
ที่มา https://pixabay.com ,Bru-no
สถานะของสสารกับแรงระหว่างโมเลกุล
สถานะทางกายภาพของสสารใด ๆ จะถูกกำหนดโดยแรงที่ยึดอนุภาคที่เป็นส่วนประกอบของสสารนั้นเข้าด้วยกัน เช่น แรงระหว่างโมเลกุล (Intermolecular forces) ของสสารที่มีสถานะเป็นของแข็ง ซึ่งโมเลกุลที่เป็นส่วนประกอบจะยึดเหนี่ยวกันไว้ด้วยแรงระหว่างโมเลกุลที่มีความแข็งแรงภายในโครงสร้างผลึก ทำให้ของแข็งคงรูปร่างและไม่สามารถถูกบีบอัดให้มีปริมาตรลดลงได้ ในขณะที่สสารที่มีสถานะเป็นของเหลวจะมีแรงระหว่างโมเลกุลที่อ่อนแอกว่าของแข็ง ของเหลวจึงมีรูปร่างที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะที่บรรจุ
น้ำตาล (Sugar) เป็นสารประกอบอินทรีย์ในรูปแบบหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน ซึ่งหากแบ่งชนิดของน้ำตาลตามขนาดของโมเลกุลจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ มอโนแซ็กคาไรด์ (monosaccharide) โอลิโกแซ็กคาไรด์ (oligosaccharide) และพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ทั้งนี้น้ำตาลเกือบทุกชนิดมีสูตรเคมีเป็น CnH2nOn เช่น น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอย่างกลูโคสที่มีสูตรเคมีเป็น C6H12O6 อย่างไรก็ดีลักษณะของเกล็ดน้ำตาลที่เป็นของแข็งเป็นผลมาจากโมเลกุลของน้ำตาลมีแรงระหว่างโมเลกุลที่ยึดเหนี่ยวอนุภาคเข้าด้วยกันไว้อย่างมาก แต่เมื่อก้อนน้ำตาลหรือเกร็ดน้ำตาลสัมผัสกับน้ำ แรงโมเลกุลเหล่านั้นจะถูกแทรกแซงและทำให้เกร็ดน้ำตาลเสียรูปร่างไป
ภาพที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลกลูโคส (ซ้าย) และฟรุกโตส (ขวา)
ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Sugar
หากค้นหาข้อมูลโครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลจะสังเกตเห็นว่า โมเลกุลของน้ำตาลประกอบไปด้วยหมู่ไฮดรอกซิล (Hydroxyl group) ซึ่งเป็นหมู่ฟังก์ชัน -OH ในสารอินทรีย์ นั่นแสดงให้เห็นถึงสภาพขั้วของโมเลกุล (Polarity of molecules) และความสามารถในการสร้างพันธะไฮโดรเจน (Hydrogen bond) กับโมเลกุลของน้ำที่อยู่รอบตัวมันได้
น้ำ (Water) เป็นของเหลวที่พบได้โดยทั่วไป โดยโมเลกุลของน้ำประกอบไปด้วยไฮโดรเจน 2 อะตอมจับกับออกซิเจน 1 อะตอมด้วยพันธะโคเวเลนซ์ ทั้งนี้น้ำเป็นโมเลกุลที่มีขั้ว เนื่องจากออกซิเจนมีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตี (Electronegativity: EN) สูงกว่าไฮโดรเจน จึงทำให้ออกซิเจนมีขั้วลบ ในขณะที่ไฮโดรเจนมีขั้วบวก และด้วยคุณสมบัติของการมีขั้วนี้จึงทำให้แต่ละโมเลกุลของน้ำยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงระหว่างโมเลกุลซึ่งก็คือ พันธะไฮโดรเจนที่ยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอมไฮโดรเจนของน้ำโมเลกุลหนึ่งเข้ากับอะตอมออกซิเจนของน้ำอีกโมเลกุลหนึ่ง และแม้ว่าโมเลกุลของน้ำ 1 โมเลกุลจะสามารถจับกับโมเลกุลของน้ำได้อีก 4 โมเลกุลด้วยพันธะไฮโดรเจน แต่พันธะไฮโดรเจนนั้นจัดเป็นพันธะที่มีความอ่อนแอ เนื่องจากสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและแตกหักได้ง่ายภายใต้ภาวะทางชีวภาพที่ปกติ
น้ำตาลละลายน้ำ
การละลาย (Dissolved) คือการที่อนุภาคของตัวถูกละลายแทรกตัวเข้าไปอยู่ระหว่างอนุภาคของตัวทำละลายได้ ทั้งนี้ปัจจัยในเรื่องของแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลมีผลต่อการละลายเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีโดยปกติแล้วการที่ตัวถูกละลายจะละลายได้ในตัวทำละลายได้นั้น สารทั้งสองชนิดจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมือนกัน
คุณสมบัติความมีขั้วในโมเลกุลของน้ำ ทำให้น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดีสำหรับโมเลกุลที่มีขั้ว (Polar molecule) เช่นเดียวกัน ซึ่งจากข้อมูลข้างต้น โมเลกุลของน้ำตาลเป็นโมเลกุลที่มีขั้วเนื่องจากมีหมู่ไฮดดรอกซิล (-OH) จำนวนมากในโครงสร้างโมเลกุล เป็นผลให้โมเลกุลของกลูโคสดึงดูดโมเลกุลของน้ำได้ด้วยแรงระหว่างขั้ว (dipole-dipole forces) นอกจากนี้หมู่ไฮดรอกซิลของน้ำตาลยังสามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนกับโมเลกุลของน้ำได้ และด้วยความแข็งแรงของแรงระหว่างโมเลกุลของน้ำตาลและน้ำที่มีมากกว่าการยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงระหว่างโมเลกุลของโมเลกุลของน้ำตาล จึงทำให้น้ำตาลสามารถละลายน้ำได้
ภาพที่ 3 น้ำตาลเป็นโมเลกุลที่มีขั้วจึงสามารถละลายได้ในน้ำ
ที่มา http://www.bio.miami.edu/tom/courses/protected/KAR/ch02/2_08.jpg
การกวนหรือคนสารละลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้น้ำตาลละลายน้ำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการคนสารจะช่วยให้น้ำตาลแตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆ และสัมผัสกับโมเลกุลของน้ำได้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสาร สิ่งหนึ่งที่ควรทราบคือ การละลายน้ำของน้ำตาลเป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจะต้องมีสารใหม่ที่มีองค์ประกอบและคุณสมบัติทางเคมีที่แตกต่างจากสารเดิมเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่น้ำตาลละลายน้ำเป็นเพียงสารละลายที่ไม่ได้ทำให้น้ำตาลมีปริมาณมากขึ้นหรือลดลง รวมทั้งเอกลักษณ์ขององค์ประกอบของสารก็ยังคงไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปด้วย
แหล่งที่มา
Ashish. (2016, September 19). Why Does Sugar Disappear When It Dissolves In Water?. Retrieved April 23, 2018, From https://www.scienceabc.com/pure-sciences/why-does-sugar-disappear-when-it-dissolves-in-water.html
Walt Volland. (2011, November 11). How Things Dissolve . Retrieved April 23, 2018, From http://www.800mainstreet.com/9/0009-002-process.html
พันธะไฮโดรเจนระหว่างโมเลกุลของน้ำมีความสำคัญอย่างไร . สืบค้นวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561.จาก http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/ap-biology1/Chapter2/Part3.html
-
8469 คำอธิบายของเกล็ดน้ำตาลที่หายไป (ในน้ำ) /article-chemistry/item/8469-2018-07-18-03-59-36เพิ่มในรายการโปรด