วิตามิน H มีด้วยหรอ
ถ้าพูดว่า วิตามินเอช (vitamin H) หลายคนคงไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดว่า ไบโอติน (biotin) ก็คงบอกว่าคุ้น ๆ แต่พูดว่า วิตามินบี 7 (vitamin B7) คงร้องว่าอ๋อออกมาทันที นอกจากนี้ยังเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า โคเอนไซม์ อาร์ (Coenzyme R) สำหรับบทความนี้เราจะมาดูกันว่าสารหรือวิตามินชนิดนี้คืออะไร มีหน้าที่และประโยชน์อย่างไรบ้าง
ภาพโครงสร้างโมเลกุลของไบโอติน
ทีมา https://pixabay.com/th , WikimediaImages
ในที่นี้ขอเรียกวิตามินหรือสารนี้นามว่า ไบโอติน ซึ่งไบโอตินเป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินที่สามารถละลายได้ในน้ำ เป็นกลุ่มของวิตามินบี ที่มีสูตรทั่วไปคือ C10H16O3N2S เป็นกรดที่มีกำมะถันอยู่ด้วยในโมเลกุล มีลักษณะผลึกเป็นรูปเข็มยาว ไม่มีสี ทนแสงสว่าง ทนกรดและด่าง ทนความร้อน ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1930 โดย ดร.เฮเลน พาร์สันส์ (Dr.Helen Parson) โดยจากการสังเกตการเลี้ยงหนูทดลองที่เลี้ยงด้วยไข่สุกกับไข่ขาวดิบ ซึ่งพบว่าหนูทดลองที่เลี้ยงด้วยขาขาวดิบมีอาการขนร่วง น้ำหนักลด ขาเป็นอัมพาตและตายในที่สุด และถูกตั้งชื่อว่า “ไบโอติน” ในปี ค.ศ. 1936 โดยแควกึลและทอนนิช (Kogl & Tonnis) นักวิทยาศาสตร์ชาวดัทช์ ซึ่งได้ทำการแยกไบโอตินออกมาจากอาหารได้สำเร็จ อาหารที่ว่านั้นก็คือไข่แดง
ไบโอตินมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ควบคุมการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน
- ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของเซลล์ การผลัดเซลล์ใหม่และการบำรุงผิวหนัง ผม เล็บ กล้ามเนื้อ และประสาท
- ใช้ในกระบวนการลำเลียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย เช่น
- กระบวนการสร้างพิวรีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ DNA และ RNA
- การเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่สารประกอบ
- การเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกจากสารประกอบ
- ช่วยในการสังเคราะห์กรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว
- ช่วยให้กระบวนการเผาผลาญไขมันและกรดอะมิโน
- จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์เอนไซม์ในร่างกาย
- เป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาต่าง ๆ ร่างกาย เช่น
- ปฏิริยาดีคาร์บอกซิเลชั่น (Decarboxylation) ในการสังเคราะห์ พิวริน (Purine)
- ปฏิกิริยาคาร์บอกซิเลชั่น (Carboxylation) ในการสร้างกรดไขมัน
- ปฏิกิริยาดีแอมมิเนชั่น (Deamination) ในการขจัดหมู่อะมิโนออกจากทรีโอนีน เซรีน และกรดแอสพาร์ทิก
- ช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ดังนั้น หากร่างกายขาดไบโอตินก็จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและมีผลกระทบในอวัยวะที่กล่าวไปข้างต้น เช่น อาการผมร่วง ผิวหนังอักเสบแห้งคัน ผิวคล้ำเป็นจ้ำ ชาตามร่างกาย เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อและไม่มีแรง มีความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารคือ คลื่นไส้อาเจียน ทานอะไรไม่ลง และอาจรุนแรงถึงขั้นอาการทางระบบประสาทและสมองคือ อาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า และประสาทหลอน ระบบประสาทสัมผัสผิดปกติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไบโอตินเป็นสารที่สามารถสร้างขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ โดยพบได้ในเซลล์ของร่างกาย และพบมากที่ตับและไต ร่างกายยังสามารถสร้างได้เองโดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้คือ นอร์มอลฟอร์ร่า (normal flora) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิด probiotic ที่พบในลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้หากต้องการสารชนิดนี้เพิ่มเติมก็สามารถรับได้เพิ่มจากการรับประทานอาหารที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่พบมากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ เนื้อวัว ปลาเนื้อขาว น้ำมันปลา ข้าวกล้อง ข้าวโพด รำข้าวสาลี ถั่ว นม เนย ผัก และผลไม้บางชนิด เช่น ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี เห็ด แครอท เป็นต้น
ก็ได้รู้แล้วว่าไบโอตินมีความสำคัญต่อร่างกายมากแค่ไหน อย่าลืมรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของไบโอตินเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงไปนาน ๆ ดังข้อมูลที่มีอยู่ในตารางข้างล่างนี้กันนะ
ปริมาณไบโอตินที่ควรได้รับในแต่ละวันสำหรับคนไทย |
||
อายุ |
ปริมาณที่ควรได้รับ |
ไมโครกรัม/วัน |
วัยทารก (6-11 เดือน) |
6 |
ไมโครกรัม/วัน |
วัยเด็ก (1-3 ปี) วัยเด็ก (4-8 ปี) |
8 12 |
ไมโครกรัม/วัน ไมโครกรัม/วัน |
วัยรุ่น (9-12 ปี) |
20 |
ไมโครกรัม/วัน |
วัยรุ่น (13-18 ปี) |
25 |
ไมโครกรัม/วัน |
วัยผู้ใหญ่ (19 –≥ 71 ปี) |
30 |
ไมโครกรัม/วัน |
หญิงตั้งครรภ์ ควรเพิ่มอีก หญิงให้นมบุตร ควรเพิ่มอีก |
30 5 |
ไมโครกรัม/วัน ไมโครกรัม/วัน |
แหล่งที่มา
Amprohealth. (2560, 8 พฤศจิกายน). ไบโอตินหรือวิตามินบี 7 (Biotin – Vitamin B7) . สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก http://amprohealth.com/nutrition/biotin-vitamin-B7/
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์. Vitamin H (Biotin) / ไบโอติน. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2224/vitamin-h-biotin
อภัย ราษฎรวิจิตร. ไบโอติน (Biotin)/วิตามินบี 7 (Vitamin B7)/วิตามินเอช (Vitamin H)/โคเอนไซม์ อาร์ (Coenzyme R) . สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2561, จาก haamor.com/th/ไบโอติน/
-
8493 วิตามิน H มีด้วยหรอ /article-chemistry/item/8493-hเพิ่มในรายการโปรด