แอลคาลอยด์ สารใกล้ตัวในตัวยา
คุณเคยอาจได้พบสาระสำคัญชื่อหนึ่งว่า อัลคาลอยด์ หรือ แอลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่มักปรากฏชื่อเป็นสารสำคัญในยาที่สามารถพบเห็นกันได้บ่อย ๆ อย่าง ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคเกาต์ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น รู้หรือไม่ว่ามันคือสารอะไร มีข้อดีและข้อเสียหรือสรรพคุณอย่างไรบ้าง
ในทางเคมีวิทยา แอลคาลอยด์ จัดเป็นสารเมแทบอไลท์ทุติยภูมิ เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุในโตรเจนประกอบอยู่ในโมเลกุล มีลักษณะเป็นด่าง มีรสขม ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์
การจำแนกชนิดของแอลคาลอยด์
แบ่งตามชนิดของสารตั้งต้นได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
- อัลคาลอยด์แท้จริง (true alkaloids) เช่น โคเคน (cocaine) นิโคติน (nicotine) พิเพอริดีน (piperidine) พิเพอรีน (piperine) มอร์ฟีน (morphine) อะโทรปีน (atropine) เป็นต้น โดยมีกรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นในชีวสังเคราะห์ของอัลคาลอยด์
- โพรโทอัลคาลอยด์ (protoalkaloids) เช่น เมสคาลีน (mescaline) ฮอร์ดินีน (hordenine) โยฮิมบีน (yohimbine) เป็นต้น โดยมี แอล-ไทโรซีน และแอล-ทริปโตเฟน เป็นสารตั้งต้น
- ซูโดอัลคาลอยด์ หรืออัลคาลอยด์เทียม (pseudoalkaloids) เช่น คาเฟอีน (caffeine) แคปไซซิน (capsaicin) ทีโอโบรมีน (theobromine) ธิโอฟิลลีน (theophylline) เป็นต้น โดยมี แอซิเตต (acetate) กรดไพรูวิก (pyruvic acid) กรดเฟอรูลิก (ferulic acid) เจอรานิออล (geraniol) ซาโปนิน (saponins) และอะดีนีน (adenine) เป็นสารตั้งต้น ซึ่งเป็นสารตั้งต้น (precursor) หรือสารที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนของสารตั้งต้น (postcursor) ของกรดอะมิโน
แอลคาลอยด์ส่วนใหญ่พบในพืชเป็นส่วนมากตามส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก ผล เมล็ด ราก และเปลือก ซึ่งเป็นสารสำคัญชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่มีข้อมูลสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งของไนโตรเจนเพื่อสร้างโปรตีน ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช แอลคาลอยด์ที่พบในพืชส่วนใหญ่มักมีรสขมและมีพิษ ซึ่งเป็นผลให้เป็นสารที่ใช้ในการป้องกันตัวเองจากแมลง
ภาพ มอร์ฟีน แอลคาลอยด์ที่พบในยางของดอกต้นฝิ่น
ที่มา https://pixabay.com , MabelAmber
ตัวอย่างแอลคาลอยด์ที่พบในพืชที่เรารู้จักกันโดยส่วนใหญ่
Morphine พบในยางของดอกต้นฝิ่น ที่เราคุ้นเคยกันดีว่ามีสรรพคุณระงับอาการปวด
Atropine พบในดอกต้นลำโพง มีสรรพคุณต้านฤทธิ์อะซีทิลโฆลีน
Quinine พบในเปลือกต้นควินิน มีสรรพคุณรักษาโรคมาเลเรีย
Strychnine พบในต้นแสลงใจ เป็นพิษ
นอกจากนี้ แอลคาลอยด์ ยังเป็นสารธรรมชาติที่พบได้ในสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ และในจุลินทรีย์บางชนิด นอกจากนั้น ก็อาจพบในร่างกายของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งมักพบเป็นส่วนประกอบของสารสื่อประสาทเช่น Serotonin, Dopamine, Histamine
แอลคาลอยด์ เป็นสารสำคัญที่มักถูกนำมาใช้เป็นยารักษาทางการแพทย์อยู่ในยาหลายประเภท และเป็นสารที่พบมากในพืชชนิดที่เป็นสมุนไพร เช่น ยาในกลุ่มระงับอาการปวด ยาชาเฉพาะที่ ยาแก้ไอ ยาแก้หอมหืด ยารักษาแผลในกระเพาะและลำไส้ ยาลดความดันโลหิต ยากควบคุมการเต้นของหัวใจ และยาในกลุ่มการรักษาเพื่อต้านมะเร็ง
แหล่งที่มา
ศิริพร หมาดหล้า,พจนพร ไกรดิษฐ์. สารอัลคาลอยด์จากพืช และกลไกการออกฤทธิ์ระดับโมเลกุลในการต้านมะเร็ง. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2561. จาก http://smj.medicine.psu.ac.th/index.php/smj/article/viewFile/625/634
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์. อัลคาลอยด์ แอลคาลอยด์ (Alkaloid). สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2561. จาก haamor.com/th/อัลคาลอยด์/
รศ.ภญ.ดร.สุพัตรา ศรีไชยรัตน์ . (2561, 26 กุมภาพันธ์) . ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสมุนไพร สารประกอบทางเคมีและเภสัชวิทยาของพืช . สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2561. จาก http://www.vet.chula.ac.th/vet2007/conference/P001/HB%20003.pdf
แอลคาลอยด์ . สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แอลคาลอยด์
-
8661 แอลคาลอยด์ สารใกล้ตัวในตัวยา /article-chemistry/item/8661-2018-09-11-07-59-35เพิ่มในรายการโปรด