พาราควอท สารเคมีอันตรายทางการเกษตร
ข่าวความเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสหนึ่งในสังคมการสื่อสารของไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องดังเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ด้วยกันคือ พาราควอท คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต อันเนื่องมาด้วยการตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะช่วงนี้ หลายท่านคงได้ยินได้ฟังคำว่า พาราควอท อยู่บ่อย ๆ เคยสงสัยหรืออยากรู้กันบ้างไหมว่า มันคืออะไร วันนี้เรามีข้อมูลมาให้ได้อ่านกัน แต่สำหรับบทความนี้คงไม่ได้กล่าวถึงข้อพิพาทดังกล่าว เพียงแต่อยากให้ทราบถึงคุณสมบัติของสารเคมีชนิดดังกล่าวไว้เป็นข้อมูลติดตัวไว้เพียงเท่านั้น
ภาพที่ 1 พาราควอท สารเคมีอันตราย
ที่มา https://pixabay.com , TheDigitalArtist
ทำความรู้จัก พาราควอท
พาราควอท (Paraquat) สารเคมีที่เกิดจากการสังเคราะห์ หรือรู้จักกันง่าย ๆ ก็คือยาฆ่าหญ้าชนิดหนึ่ง โดยจัดอยู่ในกลุ่มชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชชนิดสารป้องกันกำจัดวัชพืช ซึ่งโดยปกติสารเคมีกำจัดวัชพืช แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ พวกที่มีพิษทำลายไม่เลือก กับพวกที่มีพิษเฉพาะกลุ่มวัชพืช คือทำลายเฉพาะวัชพืชหญ้าใบกว้างหรือวัชพืชใบแคบ ทั้งนี้ พาราควอท จัดอยู่ในกลุ่มของสารกำจัดวัชพืชที่มีพิษทำลายไม่เลือก
พาราควอทถูกผลิตขึ้นมาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2425 ถูกมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2505 ภายใต้ชื่อที่เราอาจคุ้ยเคยกับชื่อต่อไปนี้เสียมากกว่าคือ กรัมม็อกโซน ไตรควอท หรือ เดกซ์ซูรอน สารที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมีที่สามารถกำจัดวัชพืชได้รวดเร็ว ด้วยคุณสมบัติทำลายคลอโรฟิลล์ในพืชได้อย่างดีเยี่ยม จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเกษตรกร เพราะเป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วทันใจ สามารถทำลายพืชให้แห้งเหี่ยวตายได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วใน 1 – 2 ชั่วโมง หลังถูกสารเคมีดังกล่าว มักพบใช้มากในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง
และด้วยเหตุที่ว่าเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติสามารถละลายน้ำได้ดี จึงทำให้อาจพบได้ว่าสารดังกล่าวสามารถแทรกซึมไปกับแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามธรรมชาติได้ นั่นหมายความว่า ก็มีความเสี่ยงที่สารเคมีชนิดนี้อาจสร้างความเสียหาย ทำอันตรายให้แก่สิ่งมีชีวิตในแหล่งชุมชนที่ใช้สารเคมีชนิดนี้ได้ ซึ่งในรายงานด้านการเกษตรของสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็เคยมีรายงานไว้ว่า พาราควอทจะตกค้างอยู่ในดินเป็นระยะเวลาหลายปี โดยจากการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำในจังหวัดน่าน พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดินที่ตรวจสอบ 65 ตัวอย่าง พบพาราควอทปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดิน จากตัวอย่าง 15 แห่ง พบพาราควอท 13 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืช สัตว์ และแหล่งน้ำอื่น ๆ ได้
ในเรื่องของอันตรายของสารเคมีชนิดนี้ อาจเป็นการได้รับจากการเข้าสู่ทางร่างกายทางปาก ผิวหนัง ในกลุ่มเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ จากพฤติกรรม เช่น การใช้งาน การผลิต บรรจุ ขนส่ง และจำหน่าย เมื่อร่างกายได้รับสารเคมีชนิดนี้ อาจมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนไปถึงขั้นรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ โดยแยกเป็นพิษแบบเฉียบพลัน และพิษเรื้อรัง อาการเฉียบพลันที่มักพบคือ อาจเกิดแปลในปาก เจ็บคอ อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนในช่องอก ระยะที่อาจเกิดต่อมาคือ อาการทางระบบปัสสาวะที่ปัสสาวะน้อยหรือขัด ไตวาย ตับอักเสบ หอบ เหนื่อย จนระบอวัยวะภายในไม่ทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด ถ้าโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดบาดแผลผุพอง แสบร้อน ไหม้
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็อาจเป็นข้อมูลที่ทำให้ผู้อ่านสัมผัสถึงอันตรายของสารเคมีชนิดนี้ได้แล้วว่า มีความอันตรายแค่ไหน ซึ่งควรอยู่ให้ห่างในการสัมผัสหรือใช้งานสารเคมีชนิดนี้ หรือหากจำเป็นที่ต้องใช้งาน ก็ควรใช้งานอย่างระมัดระวังเป็นที่สุด
แหล่งที่มา
BBC. (2561,26 สิงหาคม). รู้จักพาราควอต 1 ใน 3 สารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมการเกษตร. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-45312985
สุธาสินี อั้งสูงเนิน. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีกําจัดศัตรูพืช.สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://tci-thaijo.org/index.php/EAUHJSci/article/download/31481/35246/
Themomentum . (2561,23 พฤษภาคม). ใครแบน ไทยไม่แบน ‘พาราควอต’ สารกำจัดวัชพืชที่ทั่วโลกห้ามใช้. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 . จาก https://themomentum.co/paraquat-is-still-being-allowed-in-thailand/
รศ.สุชาตา ชินะจิตร.(2549,20 พฤษภาคม). พาราควอท. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 . จาก http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=52
-
8676 พาราควอท สารเคมีอันตรายทางการเกษตร /article-chemistry/item/8676-2018-09-11-08-12-13เพิ่มในรายการโปรด