กัญชากับการประโยชน์ในทางการแพทย์
หากกล่าวถึงพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทยในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ นั้น ในบ้านเรามีมากมายหลากหลายชนิดที่ทั้งวงการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน รับรองในการผลิตเป็นยาเพื่อใช้บำบัดและรักษาอาการต่าง ๆ ในทางการแพทย์ แต่ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้คือ “กัญชา” ว่าจะสามารถจัดว่าเป็นพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้รักษาอาการในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมายในบ้านเราได้หรือยังนั้น? เราลองศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยของ ภญ.วีรยา ถาอุปชิต เภสัชกรชำนาญการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และ รศ.ดร.นุษราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์สาขาวิชาเภสัชกรรมชุมชนมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนสนุบสนุนโดยแผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาไว้น่าสนใจดังนี้
ภาพที่ 1 ใบกัญชา
ที่มา https://pixabay.com/ ,herbalhemp
กัญชา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis indica มีหลายสายพันธุ์แต่สายพันธุ์หลักๆ 3 สายพันธุ์ได้แก่ 1) พันธุ์ซาติวา (Canabis sativa), 2) สายพันธุ์อินดิกา (Canabis indica), และ 3) สายพันธุ์รูเดราลิส (Canabis ruderaris) ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีส่วนประกอบทางเคมีต่างกัน เราเรียกว่าคานาบินอยด์ (Canabiniods) ในปัจจุบันมีการค้นพบคานาบินอยด์ในกัญชาจำนวนมาก แต่สารที่มีความสำคัญและมีบทบาทในทางวิทยาศาสตร์มากคือ delta-9-Tetrahydro-Canabinoids หรือ THC และ Canabidiol หรือ CBD (Brenneisen, 2007)
ภาพที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของกัญชาสายพันธุ์ THC
ที่มา https://pixabay.com/ ,erzebethh
กัญชาถือว่าไม่เป็นสารเสพติดเพราะเป็นพืชล้มลุกเช่นเดียวกับพืชจำพวกหญ้า ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแม้เลิกเสพกะทันหัน กัญชาเป็นพืชที่ปลูกง่าย ในปัจจุบันได้มีการผลักดันจากหลายประเทศทั่วโลกเพื่อให้กัญชาไม่ผิดกฏหมายแต่ให้อยู่ภายใต้การควบคุม และถ้าหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกัญชาก็ยังมีสรรพคุณในทางบวก ในทางการแพทย์นั้นได้มีการใช้กัญชาเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายอย่าง เช่น บรรเทาอาการไอ อ่อนล้า และโรคข้อ เป็นต้น กัญชาถูกนำมาใช้ในการบรรเทาอาการและรักษาโรคหลายชนิดทั้งรูปแบบการกิน การสูดควัน การสูดไอระเหย การนำมาผสมในอาหารหรือนำมาทำเป็นชา (Hazekamp and Ware, 2013) นอกจากนี้กัญชายังสามารถนำมาใช้บรรเทาอาหารหอบหืด เพราะมีคุณสมบัติที่ช่วยขยายหลอดลม ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน และปวดประจำเดือนได้อีกด้วย
ภาพที่ 4 ใบกัญชาแห้งอัดก้อน
ที่มา https://pixabay.com/ ,naeimasgary
ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นได้ออกกฎหมายให้สามารถนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้ถึง 14 รัฐ ประเทศเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้มีการสูบกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย แถมยังมีร้านให้สูบกัญชาอย่างเป็นสัดเป็นส่วนโดยสามารถหาซื้อได้แต่ยังไม่มีการผลิตและปลูกได้ การเข้าถึงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศแคนนาดานั้นต้องซื้อจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ขณะที่ในประเทศไทยกัญชาจัดเป็นพืชยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพรบ.ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ซึ่งการปลูก การครอบครอง การจำหน่ายหรือการบริโภคเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากมีกฏหมายควบคุมไว้ทำให้ขาดข้อมูลในการศึกษา การวิจัยเองก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีการนำมาใช้ได้จริง ซึ่งหากมีการนำกัญชามาใช้ในรูปแบบสมุนไพรได้นั้นเราจะสามารถลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้มาก ผู้ป่วยจะสามารถพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ อีกทั้งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงยาสมุนไพรของคนไทยได้อีกด้วย (วีรยา และคณะ, 2560) แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปก็ย่อมก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้ความคิดเลื่อนลอยสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว และหูแว่ว แต่หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับทางการแพทย์ก็จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก
ดังนั้นแล้ว กัญชา เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันชี้ให้เห็นสรรพคุณและความปลอดภัย ซึ่งการใช้กัญชาในทางการแพทย์เพื่อบรรเทาอาการปวดเรื้อรังโดยเฉพาะอาการปวดจากปลายประสาท อีกทั้งยังพบการศึกษาของกัญชาในการรักษาโรคมะเร็งที่พบว่า สาร THC ในกัญชาสามารถยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็งและสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ (Leelawat te al., 2010) เราจะเห็นได้ว่าการศึกษาเรื่องกัญชามีมติที่มาเกี่ยวข้องหลากหลายมิติ เช่น มิติประโยชน์ทางการแพทย์ มิติประโยชน์ทางสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมิติความมั่นคงด้านยาและสุขภาพ ซึ่งการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งสามมิติดังกล่าว น่าจะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการที่จะพิจารณานำพืขกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย (วีรยา และคณะ, 2560)
แหล่งที่มา
วีรยา ถาอุปชิต และ นุษราพร เกษสมบูรณ์. 2560. การใช้กัญชาทางการแพทย์. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน. มกราคม-มีนาคม 2560. ฉบับที่ 13; หน้า 228-240.
Brenneisen R. (2010). Chemistry and analysis of phytocannabinoids and other cannabis constituents. Inpress.
Hazekamp A., Ware MA., Muller-Vahl KR., Abrams D., Grotenherman F. (2013). The medical use of canabisand cannabinoids an international cross-section survey on administration forms. J Psychoactive Drugs. 45(3): 199-210.
Leelawat S., Leelawat K., Narong S. and Matangkasombut O. (2010). The Dual Effect of tetrahydrocannabinol on Cholaniocarcinoma Cells: Anti-Invasion Activity at Low Concentration and Apoptosis Induction at High Concentration. Infoma Healthcare; Cancer Invertigation. (28): 357-363.
-
9808 กัญชากับการประโยชน์ในทางการแพทย์ /article-chemistry/item/9808-2019-02-21-07-38-06เพิ่มในรายการโปรด