สเตียรอยด์ในเครื่องสำอางอันตรายอย่างไร?
ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จำหน่ายในท้องตลาดในทุกวันนี้ มีมากมายหลากหลายชนิดทั้งคุณภาพและราคาที่แตกต่างกันออกไปนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ที่เราเลือกใช้มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด? ในวันนี้เราจะมากล่าวถึงสารชนิดหนึ่งที่มีอันตรายและส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง ซึ่งจากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักยาและวัตถุเสพติด ได้กล่าวถึงโทษของสารสเตียรอยด์ในเครื่องสำอางไว้ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ภาพที่1 สเตียรอยด์ในเครื่องสำอาง
ที่มา https://pixabay.com/ ,Bru-nO
steroid หรือ สเตอรอยด์ (ออกเสียงแบบอเมริกัน) สเตียรอยด์ (ออกเสียงแบบอังกฤษ) เป็นลิพิดที่มีคุณสมบัติพิเศษ โดยที่โครงสร้างคาร์บอนจะเป็นวงแหวน 4 วงเชื่อมต่อกัน ความแตกต่างของชนิดสเตียรอยด์จะผันแปรไปตามฟังก์ชันนัลกรุ๊ป (functional group) ที่ติดอยู่กับวงแหวนเหล่านี้ มีสเตียรอยด์แตกต่างกันนับร้อยชนิดที่สามารถตรวจพบในพืชและสัตว์ ตัวอย่างบทบาทสำคัญของสเตียรอยด์ในสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่คือ ฮอร์โมน
ภาพที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของสเตียรอยด์
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/สเตียรอยด์
ในสรีรวิทยาและการแพทย์ของมนุษย์ สารสเตียรอยด์ที่สำคัญส่วนใหญ่ คือ คอเลสเตอรอล, สเตียรอยด์, ฮอร์โมน และสารตั้งต้น (precursor) และเมแทบอไลต์ คอเลสเตอรอลเป็นสารประกอบประเภท สเตียรอยด์แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ในสัตว์ แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามันมีปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดโรค และภาวะผิดปกติมากมาย เช่น ภาวะผนังเส้นโลหิตแดงหนาและมีความยึดหยุ่นน้อยลง (atherosclerosis) สเตียรอยด์อื่นส่วนใหญ่ถูกสังเคราะห์จากคอเลสเตอรอลฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนเพศของสัตว์มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) ก็เป็นสเตียรอยด์ที่สร้างจากคอเลสเตอรอล
สเตียรอยด์ เป็นกลุ่มฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นได้เอง ในปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อทำหน้าที่ในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายให้เป็นปกติ ตัวอย่าง เช่น ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเป็นปกติ เป็นต้น เนื่องด้วยคุณสมบัติของสารสเตียรอยด์ที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงทำให้มีการผลิตสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทางการแพทย์ มีหลายชนิด และหลายรูปแบบทั้งยาฉีด ยาเม็ด และยาครีม
ภาพที่ 3 ปฎิกิริยาเคมีในการสังเคราะห์สเตียรอยด์
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/สเตียรอยด์
สำหรับสเตียรอยด์สังเคราะห์ 2 ชนิดที่ตรวจพบว่ามักนำมาปนปลอมในยาแผนโบราณ มีชื่อว่า เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone) และเพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาแผนปัจจุบันในรูปแบบยาเม็ด โดยมีการนำมาบดผสมในยาแผนโบราณ เนื่องจากสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต่อหลายระบบในร่างกาย ระยะแรกที่ได้รับสเตียรอยด์อาจรู้สึกว่าทำให้อาการโรคดีขึ้น ผู้รับประทานจึงหลงเชื่อและรับประทานต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก เนื่องจากเป็นการได้รับยาที่ไม่ได้บ่งใช้โดยแพทย์ เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นยาอันตราย มีผลข้างเคียงมาก การใช้ยาต้องมีการติดตามและปรับขนาดยาให้เหมาะสม มักไม่ใช้ต่อเนื่องนานโดยไม่จำเป็นและแพทย์ต้องดูแลใกล้ชิด
เนื่องจากสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต่อหลายระบบของร่างกาย จึงมีผลได้ทั่วร่างกาย เช่น ผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง จึงติดเชื้อง่ายทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกในกระเพาะอาหารโดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน
ทำให้กระดูกพรุน ในผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตไม่สามารถควบคุมระดับความดันให้อยู่ในช่วงปกติได้ จะมีระดับความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีอาการเตือน เป็นภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้
นอกจากนี้การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สังเกตได้ คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา สิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งคือ เมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ ที่เคยสร้างเองได้ หากหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้ หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน ดังนั้นหากสงสัยว่าได้รับสเตียรอยด์จากการซื้อมาเอง ไม่ใช่โดยแพทย์สั่งใช้ อย่าเพิ่งหยุดยาเอง ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อหาทางลดยา และการรักษาที่ถูกต้อง
สเตียรอยด์ชนิดที่ชื่อว่า เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone) และ เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) พบการปนปลอมในยาชุดยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียนหรือทะเบียนปลอม พบได้ในทุกรูปแบบยา ทั้งยาลูกกลอน ยาผง ยาน้ำ ยาเม็ด ที่กล่าวอ้างสรรพคุณการรักษาแบบครอบจักรวาล เช่น แก้ปวดเข่า ปวดข้อ ปวดหัว แก้แพ้ทุกชนิด แก้หอบ หืด แพ้อากาศ อัมพฤกษ์ อัมพาต ช่วยเจริญอาหาร ถ้าพบยาที่สรรพคุณดีขนาดนี้ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจปนปลอมเสตียรอยด์ และผลตรวจในห้องปฏิบัติการพบว่ามักลักลอบใส่ในปริมาณมากเพื่อหวังให้เห็นผลชัดเจน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ายาดี กินแล้วหายเป็นปลิดทิ้ง ซึ่งในความจริงคือ ด้วยฤทธิ์ของสเตียรอยด์ที่มีผลต่อหลายระบบของร่างกาย ในช่วงแรกที่รับประทานยาผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อได้รับยาเป็นเวลานานจะเกิดผลข้างเคียงของสเตียรอยด์ ซึ่งบางกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
จากกรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักยาและวัตถุเสพติด แนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ในการเลือกซื้อให้ตรวจดูฉลากที่ปิดผนึกบนภาชนะบรรจุ ว่าจะต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเลขทะเบียนดังกล่าวขึ้นต้นด้วยตัวอักษร “G” สำหรับยาแผนโบราณที่ผลิตในประเทศ หรือ “K” สำหรับยาแผนโบราณที่นำเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ฉลากจะต้องมีรายละเอียดอื่น ๆ ได้แก่ ชื่อยา สูตรยา ชื่อและจังหวัดที่ตั้งของผู้ผลิตยา วันเดือนปีที่ผลิตยา เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตยา ปริมาณยาที่บรรจุ เนื่องจากหากเป็นทะเบียนยาปลอมรายละเอียดจะไม่ครบถ้วน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องแจ้งให้ทราบ
แหล่งที่มา
วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี. สเตียรอยด์. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2562, จาก https://th.wikipedia.org/สเตียรอยด์
สำนักยาและวัตถุเสพติด. (2555). ชุดทดสอบสเตียรอยด์ในเครื่องสำอาง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 54(3-4): 174-186.
Jeremy M. Berg, John L. Tymoczko and Lubert Stryer. (2002). Steroids and Related Hydrophobic Molecules. Medical Biochemistry.
-
9828 สเตียรอยด์ในเครื่องสำอางอันตรายอย่างไร? /article-chemistry/item/9828-2019-02-21-08-52-18เพิ่มในรายการโปรด