สารให้ความหวาน อันตรายหรือไม่
แน่นอนว่าอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นมา ไม่ได้เป็นผลผลิตมาจากธรรมชาติ ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อย่างเราลังเลใจอยู่ไม่น้อย หากจะนำมันเข้าสู่ภายในร่างกาย วันนี้เรามาทำความรู้จักกับสารชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นนักรักษาสุขภาพ มักนำมาเป็นเครื่องปรุงรสชาติในอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาล เพราะเข้าใจว่าน่าจะมีประโยชน์และให้โทษน้อยกว่าน้ำตาลทั่วไปที่เราบริโภคกันเป็นประจำ วันนี้เรามาทำความรู้จักสารให้ความหวานแทนน้ำตาลให้มากขึ้นกันหน่อยดีกว่า
ภาพน้ำตาล
ที่มา https://pixabay.com ,rewind
เทรนด์การรักษาสุขภาพ ทั้งเรื่องความอ้วนและโรคภัยที่อาจเกิดจากการรับประทานความหวาน ต่างพามองหาสิ่งทดแทนที่เรียกว่า สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมกันมากขึ้น น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานที่มีอยู่ในท้องตลาดในปัจจุบัน มีคุณสมบัติเด่นคือมีรสชาติหวานคล้ายน้ำตาล แต่มีแคลอรี่ที่น้อยกว่าน้ำตาล โดยมีทั้งแบบที่สกัดจากสารเคมี และแบบที่สกัดจากธรรมชาติอยู่ด้วยกันหลายแบบ เช่น
แอสปาแตม (Aspartame ) น้ำตาลเทียมที่สกัดจากสารเคมี มีความหวานกว่าน้ำตาลธรรมชาติถึง 200 เท่า มีความขมเล็กน้อย มีข้อดีคือไม่ทำให้เกิดภาวะฟันผุ และไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
ซูคราโลส (sucralose) สารให้ความหวานที่ไม่มีพลังงาน มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายขาวถึง 600 เท่า มีข้อดีคือเป็นสารให้ความหวานที่ปลอดภัย ไม่มีสารสะสมในร่างกาย ไม่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด ไม่ทำให้ฟันผุ และละลายน้ำได้ดี
หญ้าหวาน (Stevia) เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติและเป็นสารให้ความหวานที่ดีที่สุด ให้ความหวานหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 250-300 เท่า ให้มีพลังงานน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ ก็ได้แฝงอันตรายเอาไว้อยู่เหมือนกัน ถ้าทานหรือนำเข้าร่างกายไปในปริมาณที่เกินกว่าความเหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายคือ สารเคมีตกค้างในร่างกาย ก่อให้เกิดการก่อตัวของโรคมะเร็ง และยังมีรายงานที่พบในตอนหลังว่า มีผู้ทำการทดลองและพบว่า การทานสารให้ความหวานทำให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงาน นำพาไปสู่การหวนกลับไปกินอาหารชนิดอื่นที่ให้พลังงานมากกว่าเดิม อีกทั้งยังพบว่า แอสปาแตมที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงทำให้มันไปกองรวมกันอยู่ในลำไส้ใหญ่ และมีแบคทีเรียที่สามารถย่อยแอสปาแตมได้ ซึ่งจะผลิตก๊าซออกมาด้วย จึงทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อและถ่ายได้มากกว่าปกติ และอันตรายมากที่สุดก็คือ กรดแอสปาร์ติก ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในน้ำตาลเทียม ก็สามารถผ่านเข้าสู่เซลล์สมองได้ และเมื่อมีปริมาณแคลเซียมในสมองมาก ๆ ก็ทำให้สมองได้รับอันตรายได้
ดังนั้น จากการรับประทานอาหารปกติในชีวิตประจำวันของเรานั้น เช่น จากอาหารประเภทแป้ง ข้าว ซึ่งจะได้รับน้ำตาลในปริมาณที่ไม่น้อยอยู่แล้ว ทางที่ดีที่สุดคือลดการทานหวานจะดีกว่าหรือถ้าเป็นไปได้ การทานผลไม้ก็ช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงาน จึงไม่ทำให้อ้วนเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา
โทษของน้ำตาลเทียม อันตรายกว่าที่คิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก https://www.honestdocs.co/artificial-sweetener-danger
สารให้ความหวาน . สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก www.medicthai.com/สารให้ความหวาน/
-
9838 สารให้ความหวาน อันตรายหรือไม่ /article-chemistry/item/9838-2019-02-22-01-23-21เพิ่มในรายการโปรด