ชั้นบรรยากาศของโลก มีหลายชั้นกว่าที่เราคิด
หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อมองไปบนท้องฟ้านั้นนอกจากเมฆแล้วยังมีสิ่งใดอยู่บนท้องฟ้าและขนาดของท้องฟ้ามีความสูงขึ้นไปเท่าไหร่ อากาศที่เราหายใจนั้นประกอบไปด้วยแก๊สอะไรบ้าง รวมทั้งชั้นบรรยากาศนั้นมีทั้งหมดกี่ชั้น และสามารถปกป้องเราจากรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (UV) ได้อย่างไร ซึ่งสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้
ภาพที่ 1 ปีกเครื่องบินที่กำลังบินอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์
ที่มา https://pixabay.com , Free-Photos
ชั้นบรรยากาศ (Layers of atmosphere) ของโลกนั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาลนอกจากจะช่วยปรับอุณหภูมิบนโลกให้เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตแล้วยังสามารถให้สิ่งมีชีวิตสามารถหายใจและดำรงชีวิตอยู่ได้และรวมทั้งยังเป็นตัวห่อหุ้มช่วยกันรังสีและอนุภาคต่าง ๆ ที่มาจากแสงอาทิตย์และสิ่งต่าง ๆ นอกโลกได้เช่น รังสี UV หรืออุกกาบาต
ภาพที่ 2 ภาพแสดงการแบ่งชั้นบรรยากาศ
ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Atmosphere_layers.jpg , cied.ucar.edu ete.cet.edu ,eo.ucar.edu
การแบ่งชั้นบรรยากาศ
ชั้นบรรยากาศนั้นมีหลายชั้นและมีสภาวะอากาศแต่ละชั้นที่แตกต่างกัน โดยการแบ่งชั้นบรรยากาศนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ตัวแปรใดเป็นเกณฑ์ แต่สำหรับการศึกษาทางด้านอุตุนิยมวิทยานั้น จะแบ่งชั้นบรรยากาศแต่ละชั้นโดยใช้คุณสมบัติของแก๊สและอุณหภูมิเป็นตัวแปรสำคัญในการแบ่งชั้นโดยชั้นบรรยากาศสามารถแบ่งออกเป็นจำนวน 5 ชั้นมีรายละเอียดดังนี้
1. ชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) มีระดับความสูง 0-10 กิโลเมตร เป็นชั้นบรรยากาศชั้นแรกที่ปกคลุมผิวโลกประกอบไปด้วยแก๊สหลายชนิดโดยหลายคนเข้าใจว่าส่วนประกอบหลักคือแก๊สออกซิเจน แต่ในความจริงมีปริมาณแก๊สไนโตรเจนถึงร้อยละ 78 ส่วนแก๊สออกซิเจนกลับเป็นอันดับสองร้อยละ 21 และที่เหลือเป็นแก๊สอาร์กอนปริมาณร้อยละ 0.93 แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 0.03 และแก๊สชนิดอื่น ๆ อีกประมาณร้อยละ 0.04 นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของไอน้ำและความร้อนในระดับสูงจึงส่งให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ความชื้น ฝน พายุ ความกดอากาศ และเมฆหมอกเป็นต้น
2. ชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) มีระดับความสูง 10-50 กิโลเมตร อุณหภูมิชั้นนี้ต่ำกว่าชั้นโทรโพสเฟียร์อย่างเห็นได้ชัดคือประมาณ -60 ถึง 10 องศาเซลเซียส ในชั้นนี้อากาศจะมีการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ และไม่มีเมฆในชั้นนี้แล้วมีแต่ไอน้ำเพียงเล็กน้อยซึ่งชั้นนี้มีสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการที่จะให้เครื่องบินสามารถบินได้
3. ชั้นมีโซสเฟียร์ (Mesosphere) มีระดับความสูง 50-80 กิโลเมตร ชั้นนี้มีส่วนช่วยดูดซับรังสี UV ที่เล็ดรอดลงมาจากบรรยากาศชั้นบน ปริมาณอากาศในชั้นนี้เบาบางมากและอุณหภูมิต่ำไปถึง-120องศาเซลเซียส
4. ชั้นไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere) มีระดับความสูง 80-700 กิโลเมตร เป็นชั้นที่มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นชั้นที่ช่วยดูดซับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ไม่ให้ตกไปสู่พื้นผิวโลกส่งผลให้อุณหภูมิมีผลตรงกันข้ามกับชั้นมีโซสเฟียร์โดยอุณหภูมิในชั้นนี้กลับสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียสและในชั้นนี้เมื่ออนุภาคปกติกระทบกับรังสี UV จะทำให้เกิดการแตกตัวของอนุภาคเป็นประจุไฟฟ้าที่มีชื่อเรียกว่าประจุไฟฟ้าอิออนซึ่งทำให้เกิดแสงออโรรา (Aurora) หรือที่เราเรียกกันว่าแสงเหนือ (Northern Light) หรือแสงใต้ (Southern Light) นั่นเอง นอกจากนี้ประจุไฟฟ้าอิออนยังมีประโยชน์คือสามารถเป็นตัวกลางให้คลื่นวิทยุสามารถสื่อสารในปัจจุบัน เนื่องจากตัวของมันเองมีคุณสมบัติที่สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุได้
5.ชั้นเอ็กโซสเฟียร์ (Exosphere) มีระดับความสูง 700-800 กิโลเมตร สำหรับชั้นสุดท้ายนี้ มีแก๊สฮีเลียมแหละแก๊สไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก ในชั้นนี้มีอากาศที่เบาบางมากและไม่มีขอบเขตชัดเจนระหว่างชั้นบรรยากาศและอวกาศ
ภาพแสงออโรรา
ที่มา https://pixabay.com , Wikilmages
จะเห็นได้ว่าชั้นบรรยากาศนั้นมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามในภาวะปัจจุบันมนุษย์ได้ทำลายชั้นบรรยากาศโดยการปล่อยก๊าซพิษ สู่ชั้นบรรยากาศในหลาย ๆ ทาง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และการคมนาคมขนส่ง ส่งผลให้อากาศเป็นมลพิษและเกิดฝุ่น PM 2.5 ส่งผลเสียต่อระบบการหายใจ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่หลายภาคส่วนจะมาช่วยกันดูแลสภาวะอากาศให้ดียิ่งขึ้น
แหล่งที่มา
Tim Sharp. (2017, 13 October). Earth's Atmosphere: Composition, Climate & Weather. Retrieved February 2, 2020, from https://www.space.com/17683-earth-atmosphere.html
Elizabeth Borngraber. The layers of earth’s atmosphere. (1st ed). New York. The Rosen.
Holly Zell. (2017, 7 August). Earth's Atmospheric Layers. Retrieved January1, 2020, From https://www.nasa.gov/mission_pages/sunearth/science/atmosphere-layers2.html
Catherine Chambers. Stickmen's Guide to Earth's Atmosphere in Layers. (1st ed). Minnesota. Lerner.
National weather service. Layers of the Atmosphere. Retrieved February 1, 2020, From https://www.weather.gov/jetstream/layers
-
11337 ชั้นบรรยากาศของโลก มีหลายชั้นกว่าที่เราคิด /article-earthscience/item/11337-2020-03-06-07-53-54เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง