4 เมษายนนี้ เตรียมดูจันทรุปราคาเต็มดวง
ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีโอกาสเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้ครั้งเดียวจากอุปราคาทั้งหมด 4 ครั้ง ดังต่อไปนี้
1.สุริยุปราคาเต็มดวง 20 มีนาคม 2558
2.จันทรุปราคาเต็มดวง 4 เมษายน 2558
3.สุริยุปราคาบางส่วน 13 กันยายน 2558
4.จันทรุปราคาเต็มดวง 28 กันยายน 2558
และก็ใกล้เข้ามาถึงแล้ว วันเสาร์ที่4 เมษายนนี้ จะเกิด “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกและครั้งเดียวของปีนี้ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าในไทย ปรากฏช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 18.57-19.02 น. นาน 5 นาที แนะจุดสังเกตให้อยู่ในที่สูงหรือโล่งแจ้งไม่มีอะไรบดบัง จัดกิจกรรมชวนชมดวงจันทร์สีแดงพร้อมกัน 4 แห่ง ปทุมธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา พร้อมถ่ายทอดสดออนไลน์หวังกระตุ้นคนไทยสนใจดาราศาสตร์ ส่งเสริมบรรยากาศสังคมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์แก่คนไทย
หัวค่ำของวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2558 เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกหมดทั้งดวง โดยเริ่มสัมผัสเงามืด หรือดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 17:16 น. ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่เห็นเนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดหมดทั้งดวงระหว่างเวลา 18:58-19:03 น. จึงเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนานเพียง 5 นาที ประเทศไทยเห็นดวงจันทร์ขึ้นขณะเกิดจันทรุปราคาบางส่วน และเมื่อเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง บริเวณกรุงเทพฯ เห็นดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเพียง 7° และท้องฟ้ายังมีแสงสนธยา หากมีเมฆหรือหมอกควันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก อาจทำให้สังเกตได้ยาก จากนั้นดวงจันทร์จะเคลื่อนออกจากเงาโลก กลับมาสว่างเต็มดวงในเวลา 20:45 น. โดยอยู่ที่มุมเงย 31°
จันทรุปราคาครั้งนี้เห็นได้เกือบทั่วทั้งเอเชีย ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ (ตรงกับเวลาเช้ามืดของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น) ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 4 เมษายน 2558
ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 16:01:24
เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 17:15:44
เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 18:57:30
ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด19:00:15
สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 19:03:02
สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 20:44:48
ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 21:59:02
จันทรุปราคา หรือ จันทรคราส เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก เราจึงมองเห็นดวงจันทร์แหว่งหายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง คนไทยสมัยโบราณเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "ราหูอมจันทร์" จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวง อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่เกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกไม่ใช่ระนาบเดียวกัน หากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาเพียงปีละ 1 - 2 ครั้ง
ภาพที่ 1 ระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ ตัดกับ ระนาบวงโคจรของโลก เป็นมุม 5°
เงาโลก
โลกเป็นดาวเคราะห์ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง หากแต่ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ ด้านที่หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์เป็นเวลากลางวัน ส่วนด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เป็นเวลากลางคืน โลกบังแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงา 2 ชนิด คือ เงามืด และเงามัว
ภาพที่ 2 การเกิดจันทรุปราคา
เงามืด (Umbra) เป็นเงาที่มืดที่สุด เนื่องจากโลกบังดวงอาทิตย์จนหมดสิ้น หากเราเข้าไปอยู่ในเขตเงามืด จะไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้เลย
เงามัว (Penumbra) เป็นเงาที่ไม่มืดสนิท เนื่องจากโลกบังดวงอาทิตย์เพียงด้านเดียว หากเราเข้าไปเขตเงามัว เราจะมองเห็นบางส่วนของดวงอาทิตย์โผล่พ้นส่วนโค้งของโลก เงาที่เกิดขึ้นจึงไม่มืดนัก
จันทรุปราคาเกิดขึ้นเฉพาะในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง โดยที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์เรียงตัวเป็นเส้นตรง ผู้สังเกตการณ์ในซีกโลกกลางคืนสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ทั้งหมดได้นานประมาณ 3 ชั่วโมง แต่จะเห็นดวงจันทร์อยู่ในเงามืดได้นานที่สุดไม่เกิด 1 ชั่วโมง 42 วินาที เนื่องจากเงามืดของโลกมีขนาดเล็ก ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดด้วยความเร็ว 1 กิโลเมตรต่อวินาที
ประเภทของจันทรุปราคา
เนื่องจากระนาบวงโคจรของดวงจันทร์และระนาบวงโคจรของโลกไม่ซ้อนทับกันพอดี จึงทำให้เกิดจันทรุปราคาได้ 3 แบบ ดังนี้
จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก
จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อบางส่วนของดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืด
จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามัวเพียงอย่างเดียว เราจึงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีสีคล้ำเนื่องจากความสว่างลดน้อยลง จันทรุปราคาเงามัวหาดูได้ยาก เพราะโดยทั่วไปดวงจันทร์มักจะผ่านเข้าไปในเงามืดด้วย
ผลกระทบ การเกิดจันทรุปราคาไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเพราะเป็นช่วงกลางคืน แต่คนสมัยก่อนมีความเชื่อเช่นเดียวกับการเกิดสุริยุปราคา โดยเชื่อว่า “ราหูอมจันทร์” ซึ่งจะนำความหายนะ และภัยพิบัติมาสู่โลก คนจีนและคนไทยจึงแก้เคล็ดคล้ายกันเช่น ใช้วิธส่งเสียงขับไล่ คนจีนจุดประทัด ตีกะทะ ส่วนคนไทยก็เล่นกันก็ตีกะลา เอาไม้ตำน้ำพริกไปตีต้นไม้ เอาผ้าถุงไปผูกเพื่อล้างความโชคร้ายและให้ราหูโลกอมจันทร์”
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9580000034311
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/phichit/apichat_p/sec04p01.html
http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/2015eclipses.html
-
4730 4 เมษายนนี้ เตรียมดูจันทรุปราคาเต็มดวง /article-earthscience/item/4730-4-1023เพิ่มในรายการโปรด