จันทร์ยิ้ม
จันทร์ยิ้ม
คนไทยทั่วประเทศมีความสุขที่ได้เห็น “จันทร์ยิ้ม” ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลาหัวค่ำของวันที่ 1 ธันวาคม 2551 คำถูกต้องที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นี้คือ การร่วมทิศของดวงจันทร์กับดาวเคราะห์ หรือ ชาวบ้านเรียกว่า ดาวเคียงเดือน ดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ อยู่ไปทางเดียวกันกับดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี จนทำให้เห็นดวงจันทร์เป็นริมฝีปากของคนกำลังยิ้ม โดยมีดาวศุกร์เป็นตาซ้ายที่สว่างกว่าดาวพฤหัสบดีที่เป็นตาขวา
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ต่างอยู่ห่างไปทางตะวันออกของดวงอาทิตย์เกือบเท่ากัน ดังแสดงในรูป โดยดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดวงจันทร์ อยู่ห่างไปทางตะวันออกของดวงอาทิตย์ 42-44 องศา
ภาพแสดงตำแหน่งดวงจันทร์ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เวลา 18.00 น.
อนึ่งหากสังเกตดวงจันทร์นานๆ จะเห็นริ้วรอยตรงส่วนมือเพราะโลกสะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังดวงจันทร์ แล้วดวงจันทร์สะท้อนแสงกลับมายังโลกอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า แสงโลก (Earth shine) หากถ่ายรูปดวงจันทร์ข้างขึ้นน้อยๆ หรือดวงจันทร์ข้างแรมมากๆ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นแสงโลกบนดวงจันทร์อย่างชัดเจน
ภาพแสดงดวงจันทร์เสี้ยวในจังหวะข้างขึ้นอ่อนๆ
ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกจากตะวันตกไปตะวันออกรอบละ 1 เดือน ดวงจันทร์จึงมีโอกาสผ่านใกล้ดาวเคราะห์แต่ละดวง เดือนละครั้ง บางโอกาสจะเห็นดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ได้ด้วย
คราวนี้ดาวศุกร์ปรากฏเป็นดาวประจำเมืองอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี แต่ในวันที่ 23 เมษายน 2552 เวลา 5.10 น. ดาวศุกร์จะเป็นดาวรุ่ง อยู่ใกล้ดาวอังคาร และดวงจันทร์ เสี้ยวข้างแรมแก่ๆ อยู่ด้านล่าง ดูเป็นรูปคนยิ้ม เหมือนกันทางทิศตะวันออก โดยตาซ้ายยังเป็นดาวศุกร์ และตาขวาเป็นดาวอังคาร ในขณะที่ดาวพฤหัสบดีสว่างอยู่สูงกว่า
ดาวเคียงเดือนมีให้เห็นทุกเดือน อย่าลืมมองดูฟ้าเมื่อออกไปนอกบ้านแล้วท่านจะมีความสุข เพราะสิ่งสวยงามบนฟ้ารอท่านอยู่
นิพนธ์ ทรายเพชร
ราชบัณฑิต
ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ สสวท.
-
626 จันทร์ยิ้ม /article-earthscience/item/626-moon37เพิ่มในรายการโปรด