Super Full moon ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก นั้นคือปรากฏการณ์ Super full moon หรือในอีกแง่หนึ่งคือการที่ดวงจันทร์เข้ามาใกล้โลกมากที่สัดในรอบ 68 ปี
อันที่จริงแล้ว คำว่า “Super moon“ ไม่ได้รับการยอมรับหรือใช้กันอย่างกว้างขวางในประชาคมดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้คำว่า "perigee-syzygy" แทนคำว่า "perigee" เป็นจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดในวงโคจร และ "syzygy" เป็นจันทร์เพ็ญหรือจันทร์ดับ เมื่อโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เรียงตัวกันเกือบเป็นเส้นตรง ดังนั้น ซูเปอร์มูนจึงอาจเป็นสองปรากฏการณ์นี้ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีการประดิษฐ์คำขึ้นเรียกก็ตาม
ดวงจันทร์ใกล้โลก และ ดวงจันทร์ไกลโลก
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน โดยในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ภาพแสดงตำแหน่งดวงจันทร์ขณะโคจรเข้าใกล้โลก – ไกลโลกในแต่ละเดือน
ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง ขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุด (ซ้าย) กับ ไกลโลกมากที่สุด (ขวา)
ดวงจันทร์เต็มดวงขณะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุด ประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30%
ในปีหนึ่งๆจะเกิด super moon ได้หลายครั้ง ตารางด้านล่างได้แสดงถึงการเกิดปรากฏการณ์นี้ ตั้งแต่ปี 2011 และปีถัด ๆ ไปจนถึงปัจจุบัน
Moon closest to Earth
Year Date Distance
2011 March 19 356,575 km
2012 May 6 356,955 km
2013 June 23 356,991 km
2014 August 10 356,896 km
2015 September 28 356,877 km
2016 November 14 356,511 km
2018 January 1 356,565 km
2019 February 19 356,761 km
2020 April 8 356,908 km
2021 May 26 357,309 km
แม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะอยู่ตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดประมาณทุกๆ 13 เดือน นอกจากนี้บางครั้งดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี จะเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาอีกด้วย หมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์และโลก โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ครั้งล่าสุดดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในคืนจันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในประเทศไทย) และครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นใน วันที่ 8 ตุลาคม 2576 (ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงขาออก)
เกร็ดความรู้ : ทำไมดวงจันทร์จึงดูมีขนาดใหญ่เมื่ออยู่ใกล้ขอบฟ้า???
ผู้คนส่วนหนึ่งมักมีความเข้าใจผิดว่า ดวงจันทร์เต็มดวงเมื่ออยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้านั้นจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงจันทร์ขณะปรากฏกลางฟ้า เพราะเข้าใจว่าดวงจันทร์ขณะอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้าจะอยู่ใกล้โลกมากกว่า แท้จริงแล้วการที่ดวงจันทร์บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีขนาดปรากฏใหญ่กว่านั้น เป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาด เช่น ภูเขา ต้นไม้ อาคาร เป็นต้น แต่บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุใดมาเปรียบเทียบขนาด จึงทำให้ความรู้สึกในการมองดวงจันทร์บริเวณกลางฟ้าดูมีขนาดเล็กกว่าปกติ เหตุการณ์ภาพลวงตาของดวงจันทร์ เรียกว่า “Moon Illusion”
เนื้อหาจาก
Nolle, Richard (March 10, 2011). "Supermoon". Astropro
http://earthsky.org/?p=190918
https://science.nasa.gov/news-articles/2016-ends-with-three-supermoons
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/2707-factsheet-super-full-moon-2559
http://www.scimath.org/sciencearticle/item/4775-supermoon
ภาพจาก
http://boingboing.net/2011/10/18/by-the-light-of-the-super-full-moon.html
http://themomentum.co/momentum-hotmoment-super-extra-moon
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/2707-factsheet-super-full-moon-2559
http://www.flagfrog.com/supermoon-november-14-2016/
-
6723 Super Full moon ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลก /article-earthscience/item/6723-super-full-moonเพิ่มในรายการโปรด