เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความลึกของท้องทะเล ตอนที่ 1
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ใต้ท้องทะเลอันสวยงามที่เรามองเห็น เบื้องลึกใต้ท้องสมุทรนี้มีอะไรกันบ้างที่น่าสนใจ เรียนรู้และค้นหาไปด้วยกันได้เลย
ภาพ ลักษณะความลึกของทะเล
ที่มา http://www.marine.tmd.go.th/thai/oceanhtml/oceandoc.html
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามหาสมุทรหรือที่พวกเราอาจจะเรียกกันแบบความเข้าใจง่าย ๆ ว่าทะเล ก็คือโครงสร้างของเปลือกโลกที่มีลักษณะทางธรรมชาติคล้ายกับแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำปกคลุมอยู่ มีเนื้อที่กว่างใหญ่ไพศาล ราวประมาณร้อยละ 71 ของเปลือกโลกเลยทีเดียว เรามักเรียกขอบของมหาสมุทรกันว่าทะเล หรืออ่าว ก็แล้วแต่ลักษณะทางภูมิประเทศนั้น ๆ
เราเรียกผิวหน้าของน้ำทะเลมหาสมุทรว่า ระดับน้ำทะเล ระดับน้ำทะเลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการเปลี่ยนแปลงจากเปลือกโลกก็ได้ หรือที่เรารู้จักกันดีคือ น้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเพียงชั่วคราว หรืออาจเกิดจากกฝนตกมากผิดปกติ หรือมีลมพัดมาเหนือน้ำทะเล พื้นท้องมหาสมุทรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้น การที่มีน้ำขังอยู่ได้เพราะส่วนนี้อยู่ไกล้จุดศูนย์กลางของโลกมากกว่าส่วนที่เป็นพื้นดินที่อยู่ติดต่อกัน ทะเลมหาสมุทรมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 3.7 กิโลเมตร (12,450 ฟุต หรือ 2.36 ไมล์ แต่ส่วนใหญ่ลึกกว่านี้ประมาณ 4.7 กิโลเมตร ( 3 ไมล์ ) หรือมากกว่านั้น และยังมีส่วนที่ลึกมากกว่านี้ คือลึกถึง 9.5 กิโลเมตร ( 6 ไมล์ ) ที่ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือกันว่าเป็นตอนที่ลึกที่สุดของทะเลมหาสมุทรทั้งหมด มีชื่อเรียกว่า ร่องลึกบาดาลมาเรียน่านั้นลึกถึง 10.692 กิโลเมตร ( 35,640 ฟุต)
ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะความลึกของทะเลออกเป็นส่วน ได้ดังนี้
ไหล่ทวีป
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ตื้นที่สุด พื้นของไหล่ทวีปบางตอนจะเรียบ บางตอนมีร่องยาว บางตอนมีสันเนิน บางตอนมีแอ่งกลม บางตอนมีเนินเขา บางส่วนเป็นหิน บางส่วนปกคลุมด้วยโคลน ทราย และกรวด ไหล่ทวีป มักเป็นส่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลกของเปลือกโลก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกรรมวิธีปรับระดับ ไหล่ทวีปจะมีระดับสูงขึ้นและมีขนาดกว้างออกไป เพราะมีวัตถุต่าง ๆ จากพื้นดินมาทับถมอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัดพาของวัตุที่มาจากแม่น้ำ
ลาดทวีป
เป็นส่วนถัดไปจากไหล่ทวีป บางช่วงมีหุบเขาลึกขั้นอยู่ตรงกลางระหว่างหุบผาชันใต้ทะเล ก้นหุบผาชันใต้ทะเลส่วนใหญ่มีความลึก 1,800-2,000 เมตร ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล
พื้นท้องมหาสมุทร
เป็นส่วนที่เป็นตอนกลางของมหาสมุทร เป็นส่วนที่มีลักษณะสูงต่ำ คือส่วนที่เป็นสันเขา มีลักษณะแคบบ้าง กว้างบ้าง เป็นช่วงแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นที่ราบสูง แอ่งรูปกลม แอ่งรูปยาว ภูเขา เช่น สันเขามิดแอตแลนติก ซึ่งทอดจากไอซ์แลนด์ลงมาเกือบถึงทวีปแอนตาร์กติค บางตอนสูงขึ้นมาเหนือน้ำเป็นเกาะ เช่น หมู่เกาะอะซอร์ส และเกาะเล็ก ๆ อื่น ๆ ส่วนใหญ่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเลคือหมู่เกาะฮาวาย สันเขาแห่งนี้ยาวประมาณ 720 กิโลเมตร อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน ทะเลแดง เป็นตัวอย่างของแอ่งลึกบนพื้นท้องมหาสมุทร
ในตอนนี้เราก็ได้รู้ว่า ความลึกของทะเลเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง ตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า ยังมีอะไรอีกบ้างที่น่ารู้เกี่ยวกับใต้ทะเลลึก รวมถึงมีข้อมูลความลึกเกี่ยวกับท้องทะเลไทยมาให้อ่านกันด้วย
แหล่งที่มา
มหาสมุทร. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. จาก http://www.marine.tmd.go.th/thai/oceanhtml/oceandoc.html
ทะเลลึก. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ทะเลลึก
-
9083 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความลึกของท้องทะเล ตอนที่ 1 /article-earthscience/item/9083-2018-10-18-07-44-48เพิ่มในรายการโปรด