ทำอย่างไรให้มีใจรักคณิตศาสตร์
สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนอยากแชร์ข้อมูลดี ๆ จากปัญหาที่ผู้เขียนมักจะเจอคำถามนี้บ่อย ๆ นั่นก็คือ ทำอย่างไรจะเก่งวิชาการคำนวณอย่างวิชาคณิตศาสตร์ แน่นอนที่สุด ผู้อ่านหลาย ๆ คนคงคล้อยตามกับคำถามนี้หลากหลายความคิดเห็นจากนักวิชาการและนักวิจัยทางการศึกษา ส่วนใหญ่มักจะมีข้อคิดเห็นที่ว่า เพราะเราตั้งอคติหรือมองว่าคณิตศาสตร์ว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องยาก หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ไม่รักคณิตศาสตร์ ก็เลยทำให้เราเข้าใจคณิตศาสตร์ได้ยากขึ้น เคยได้ยินไหมว่า ถ้าเรารักสิ่งใด เราจะทำมันได้ดีเสมอ นั่นแหละคือคำตอบแรกที่ผู้เขียนอยากจะตอบกับผู้ที่ถามคำถามนี้ ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าว่าจะมีวิธีการอย่างไรบ้างที่อาจทำให้เรารักวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น
ภาพประกอบบทความ ทำอย่างไรให้มีใจรักคณิตศาสตร์
ที่มา https://pixabay.com/ , geralt
พื้นฐานของมนุษย์เราจะรักจะชอบสิ่งใดก็จะต้องสนุกกับมันก่อน เมื่อสนุกก็จะไม่เบื่อ กลับมาที่สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจได้เลยในคำตอบก็คือ “เกม” เกมนี่แหละประตูสู่หัวใจแห่งการรักคณิตศาสตร์ขั้นที่หนึ่ง ผู้เขียนเองมีข้อสันนิษฐานจากประสบการณ์ที่สังเกตได้จากเพื่อนร่วมชั้นในสมัยเรียนของผู้เขียนข้อหนึ่งที่ว่า คนที่ชอบเล่นเกมมักจะมีความสามารถและทักษะในการแก้ปัญหาได้ดี สังเกตได้จากพวกเขามักจะเรียนวิชาคณิตศาสตร์และได้ผลการเรียนวิชานี้ในระดับดีถึงดีมาก
ข้อสันนิษฐานนี้ก็สอดคลองกับงานวิจัยในหลาย ๆ งานวิจัย ที่ใช้เกมเป็นตัวกลางในการพัฒนาทักษะ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ผู้เล่นรู้สึกสนุก ผ่อนคลายและพึงพอใจในการเล่น เกม เป็นกิจกรรมที่มีกติกาหรือกฎเกณฑ์ชัดเจน ใช้เล่นเพื่อเป็นการแข่งขันรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม เป็นการแก้ปัญหาในกิจกรรมนั้น ๆ ซึ่งหากเป็นเกมที่แฝงกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ ซี่งมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ก็จะให้ผู้เล่น เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ได้ฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการเรียนรู้ได้ดีและจดจำได้ยาวนาน พัฒนามโนมติทางคณิตศาสตร์ ทำให้มีทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านการแก้ปัญหาได้
และการทำงานร่วมกันซึ่งการใช้เกมเพื่อปลูกฝังให้มีใจรักคณิตศาสตร์ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการมาปรับใช้ในวัยเริ่มต้นอย่างวัยเด็ก เพราะด้วยความเป็นวัยเด็กซึ่งมักจะชื่นชอบอะไรที่เป็นกิจกรรมหรือเกมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กมีความสนใจที่จะเล่นเกมหรือกิจกรรม ผู้เขียนขอให้คำแนะอยากให้เรานึกย้อนกลับไปในวันเด็ก เรามักจะทำสิ่งใดการนำเกมมาปรับใช้ในการเรียนอาจเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด แนวทางนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกมหรือกิจกรรมนั้น ๆ มีของขวัญหรือของรางวัลมอบให้
สุดท้ายนี้ อยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองคิดว่าตัวเองกำลังเล่นเกม ๆ หนึ่ง ที่มีเป้าหมายว่า ต้องรักคณิตศาสตร์ให้ได้ ซึ่งเราก็ต้องพยายามที่จะต้องเอาชนะมันให้ได้ อย่าไปยอมแพ้มัน ถ้าเกิดเรายอมแพ้แก่มัน…แล้วเราก็จะไม่มีวันชนะมันได้สักที ถ้าเราชนะมันโอกาสที่เราจะรักมันและโอกาสที่เราจะเก่งคณิตศาสตร์ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
แหล่งที่มา
นิภาพร ศรีบุญเรือง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเทียบ ละอองทอง, และ ดร.สุรชัย ปิยานุกูล. ผลการใช้เกมคณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดคำนวณหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2562. จาก http:// dspace.bru.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/2445/นิภาพร%20%20%20ศรีบุญเรือง%20.pdf?sequence=1&isAllowed=y
วรวรรณ วัฒนวงค์. การศึกษาผลของการจัดการเรียนรู้ด้วยเกมคณิตศาสตร์และแบบฝึกคณิตศาสตร์ที่มีต่อทักษะการคิดคำานวณเรื่องการบวกและความสุขที่เกิดขึ้นจากการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีความสามารถทางสติปัญญาต่างกัน. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2562. จาก http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:http://ejournals.swu.ac.th/index.php/swurd/article/download/4582/4445
-
10476 ทำอย่างไรให้มีใจรักคณิตศาสตร์ /article-mathematics/item/10476-2019-07-01-04-55-45เพิ่มในรายการโปรด