คิดถึงลูกคิดกันไหม
ทุกวันนี้เราคงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมากมายเกี่ยวกับการคำนวณตัวเลขในปริมาณมาก ๆ เพราะเราคุ้นเคยและถนัดดีกับการใช้เครื่องคิดเลขหรือเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากย้อนกลับไปสัก 30-40 ปีก่อนหน้า เราก็อาจจะยังเห็นเครื่องคิดเลขรูปแบบหนึ่งที่ได้ยินพร้อมเสียงดัก “ต๊อก” “ต๊อก” ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง ลูกคิด (Abacus) ที่เห็นได้ทั่วไปและส่วนใหญ่ตามร้านค้าร้านอาหารในสมัยนั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การใช้เครื่องคิดเลขเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในการใช้งานมากขึ้น จนอาจจะเรียกได้ว่าไม่มีใครใช้งานลูกคิดกันแล้ว บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปวันวานเพื่อระลึกถึงความทรงจำของลูกคิดกันดีกว่า
ภาพที่ 1 ลูกคิด
ที่มา https://pixabay.com, succo
มนุษย์มีวิวัฒนาการในการหาเครื่องมือช่วยในการคำนวณมากมายตามแต่สภาพท้องที่หรือถิ่นฐานที่อาศัยอยู่นั้น ๆ เชื่อกันว่าลูกคิดมีวิวัฒนาการมาจากการใช้มือและเท้าเพื่อช่วยในการคำนวณ พัฒนาต่อมาจนเป็นลูกหิน โดยมีการใช้เชือกผูกร้อยลูกหินเป็นแนวยาวและมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นลูกคิดที่มีลักษณะเป็นรางโครงสี่เหลี่ยม และมีแกนร้อยตัวเป็นลูกคิดกลม ๆ แบ่งเป็น ด้านบนและด้านล่าง ด้านบนจะมีลูกคิด 2 เม็ดขณะที่ด้านล่างในรางไม้จะมี 5 ลูกแบ่งเป็นแถวเรียงกันไปอย่างที่เรารู้จักกัน ลักษณะสำคัญของลูกคิดคือการคิด การคิดด้วยลูกคิดซึ่งสามารถหาผลลัพธ์ทันที โดยไม่ต้องเขียนลงในกระดาษเพียงแต่เลื่อนลูกคิดขยับขึ้นลง
มีข้อมูลกล่าวถึงที่มาของลูกคิดในด้านหนึ่งไว้ว่า มีต้นกำหนดมาจากอาณาจักรโบราณของเมโสโปเตเมีย ในช่วงประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ถึงว่าบุคคลใดเป็นผู้คิดค้นขึ้น แต่ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์กลับมีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า ลูกคิดเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน อีกข้อมูลด้านหนึ่งก็มีการกล่าวอ้างว่า นักดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวจีนเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้น
ลูกคิดสามารถพบเห็นได้ทั่วไปจากหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ มีมากมาหลายแบบ เช่น บาบิโลน โรมัน จีน ญี่ปุ่น แต่ที่เป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปส่วนใหญ่คือลูกคิดแบบจีน มีชื่อเรียกว่า “ซว่านผาน” รองลงมาคือ แบบญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “Soroban”
ลูกคิดนับเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์หนึ่งที่อาจเรียกได้ว่า ถูกเทคโนโลยีกลืนหายไปหรือถูกเลิกใช้งานไปในที่สุดเมื่อมีเทคโนโลยีเครื่องคิดเลขอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทนที่ ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยได้ใช้หรือไม่เคยได้พบเห็น ปัจจุบัน มติการประชุมว่าด้วยมรดกโลกครั้งที่ 8 ประจำปี 2556 ของคณะกรรมการองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศ เป็นทางการให้อุปกรณ์ “ลูกคิดจีน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก
เป็นอย่างไรบ้างกับเรื่องราวของลูกคิด พอจะช่วยทำให้คลายความคิดถึงสำหรับคนที่เคยใช้งาน หรือพอจะทำให้อยากเห็นและอยากใช้กันบ้างไหมสำหรับใครที่ไม่เคยเห็นไม่เคยใช้
แหล่งที่มา
Abacus - Ancient Wonder - Chinese Calculating Aide. Retrieved August 15, 2019, from https://retrocalculators.com/abacus.htm
Malinee. ประวัติความเป็นมาของลูกคิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562. จาก https://www.kiddsquare.com/ประวัติความเป็นมาของลู.html
ใครเป็นผู้คิดค้นลูกคิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562. จาก https://th.thpanorama.com/articles/historia/quin-invent-el-baco.html
เรื่องน่ารู้ ของวิวัฒนาการลูกคิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562. จาก https://teen.mthai.com/variety/75670.html
‘ลูกคิด’ เครื่องคิดคำนวณเลขมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก .สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562. จาก https://www.dailynews.co.th/article/203608
-
10616 คิดถึงลูกคิดกันไหม /article-mathematics/item/10616-2019-09-02-01-29-55เพิ่มในรายการโปรด