รู้จักลูกเต๋ากันให้มากขึ้น
มีโอกาสได้เข้ามาชมแหล่งเรียนรู้ที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “ตึกลูกเต๋า” ก็เลยฉุกคิดและเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ลูกเต๋าที่เรารู้จักกันนั้นมีต้นกำเนิดหรือที่มาอะไรอย่างไรบ้าง เลยไปหาข้อมูลนำมาฝากให้ได้อ่านกัน
ภาพลูกเต๋า
ที่มา https://pixabay.com, wilhei
ลูกเต๋า หลายคงอาจจะพอเดาได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความเป็นจีนอยู่แน่นอน ซึ่งก็เดาถูก เพราะลูกเต๋ามีต้นกำเนิดที่อาจทำให้เชื่อได้ว่ามาจากประเทศจีน เพราะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วที่ว่า เตาแจ้ ซึ่งคำว่า เตา ถอดเสียงออกมาเป็น เต๋า ส่วนคำว่าแจ้ ถูกแปลงมาเป็นคำว่า ลูก ดังนั้น คำว่า เตาแจ้ จึงกลายมาเป็นคำภาษาไทยว่า ลูกเต๋า นั่นเอง
ที่กล่าวไปก็คือที่มาเกี่ยวกับชื่อ แต่จริง ๆ แล้วมีข้อมูลกล่าวเกี่ยวกับต้นกำเนิดของลูกเต๋าไว้ว่า มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและเปอร์เซียโบราณ ซึ่งปรากฏจากหลักฐานที่ค้นพบจากการขุดซากบริเวณพื้นที่ในแถบมองโกล ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังแถบภูมิภาคในประเทศจีน ลูกเต๋าที่ปรากฏพบนั้นมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำมาจากกระดูกข้อเท้าของแกะ
หากมองไปที่การใช้งานของลูกเต๋าโดยต้นกำเนิด ซึ่งมักถูกนำไปใช้ในการเล่นเกมและการพนันเสียส่วนใหญ่ เช่น เกมเศรษฐี เกมบันไดงู ไพ่นกกระจอก ไฮโล แต่ในอีกด้านหนึ่ง ลูกเต๋าก็มีบทบาทและความสำคัญในด้านการคำนวณทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับความน่าจำเป็นเช่นเดียวกัน แต่ก็นั่นแหละ กำเนิดของวิชาความน่าจำเป็นก็มีที่มาจากการพนันอยู่ดี
ลักษณะที่สำคัญของลูกเต๋าก็คือ รูปทรงที่เป็นลูกบาศก์ลูกเต๋าในปัจจุบันมีหลายแบบ หลายรูปทรง แต่ที่คุ้นตาคือลูกเต๋าทรงลูกบาศก์ มี 6 หน้า แต่ละหน้าแสดงสัญลักษณ์แทนจำนวนตัวเลข ตั้งแต่ 1 ถึง 6 สัญลักษณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นแต้มด้วยจุดที่คว้านลงไปในเนื้อลูกเต๋า แต้มจุดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสีแดงหรือสีดำเป็นส่วนใหญ่ ลูกเต๋าแบบนี้นิยมทั้งในซีกโลกตะวันตกและในซีกโลกตะวันออก ต่างกันที่ลูกเต๋าที่ใช้ในซีกโลกตะวันออกมักทำเป็นลูกเต๋าแบบจีน ลูกเต๋าที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักและนิยมไปใช้ คือลูกเต๋าแบบจีน มีจุดเด่น จุดที่แสดงแต้ม 1 กับแต้ม 4 จะเป็นสีแดงชาดต่างกับจุดแสดงแต้มอื่น ๆ ซึ่งเป็นสีดำ
ลูกเต๋าต้นกำเนิดสู่วิชาความน่าจะเป็นในปัจจุบัน มีเรื่องบันทึกที่มาของวิชาความน่าจำเป็นไว้ว่า ได้มีนักพนันชาวฝรั่งเศสชื่อ เชอวาลิเยร์ เดอ เมเร (Chevalier de mere) ได้ประสบปัญหาในการพนันที่เกี่ยวกับการทอดลูกเต๋า จึงไปปรึกษาปาสคาล (Blaise Pascal) นักคณิตศาสตร์ในสมัยนั้น ด้วยปัญหา 2 ข้อคือ ปัญหาที่ 1 การทอดลูกเต๋า 1 ลูกและ 2 ลูก และ ปัญหาที่ 2 การแบ่งรางวัลในเกมที่ต้องหยุดเล่นก่อนกำหนด ซึ่งปาสคาลก็สามารถอธิบายและแก้ปัญหาในทุกข้อได้โดยอาศัยหลักความน่าจะเป็นที่ใช้หลักการคิดจากลูกเต๋านั่นเอง
แหล่งที่มา
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย. ลูกเต๋า (๑) .สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 . จาก http://www.royin.go.th/?knowledges=ลูกเต๋า-๑-๒๘-สิงหาคม-๒๕๕๕
บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย. ลูกเต๋า (๒) .สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 . จาก http://www.royin.go.th/?knowledges=ลูกเต๋า-๒-๒๙-สิงหาคม-๒๕๕๕
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๖ / ความน่าจะเป็น / กำเนิดของวิชาความน่าจะเป็น . สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 . จาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=6&chap=12&page=t6-12-infodetail02.html
-
10632 รู้จักลูกเต๋ากันให้มากขึ้น /article-mathematics/item/10632-2019-09-02-01-59-22เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง