René Descartes บิดาของเรขาคณิตวิเคราะห์
René Descartes คือนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้คิดวิธีหาสัจจะของวิทยาศาสตร์ และความจริงในชีวิต เพราะเขาเชื่อว่าตรรกะ (Logic) และวิธีพิสูจน์ของคณิตศาสตร์สามารถเป็นกุญแจไขความลึกลับต่าง ๆ ในธรรมชาติได้ องค์ความรู้สำคัญที่ Descartes สร้างคือ วิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ (Analytic Geometry) ซึ่งได้จากการรวมพีชคณิตกับเรขาคณิต และมีผลทำให้วิชาทั้งสองได้พัฒนากันและกันมาจนทุกวันนี้
René du Perron Descartes เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ.1596 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ที่เมือง La Haye ในฝรั่งเศส (ปัจจุบันคือเมือง Descartes ในปีที่ Descartes เกิด Galileo มีอายุ 32 ปี และKepler มีอายุ 24 ปี) บิดาของ Descartes ชื่อ Joachim และมารดาชื่อ Jeanne เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ บิดาเป็นนักกฎหมายและที่ปรึกษาของสภาผู้แทนแห่งแคว้น Brittany บรรพบุรุษของฝ่ายมารดามีอาชีพเป็นทหาร หลังจากที่คลอด Descartes ไม่นาน มารดาก็เสียชีวิต Descartes มีสุขภาพไม่ดีตั้งแต่เด็ก ดังนั้นทุกคนจึงคิดว่าเขาคงมีชีวิตต่อไปอีกไม่นาน แม้จะเป็นลูกกำพร้าแม่ แต่ Descartes ก็ไม่เดือดร้อน เพราะมารดาได้ทิ้งมรดกไว้ให้มีเงินใช้อย่างพอเพียงจนตลอดชีวิต
Descartes เป็นเด็กที่ค่อนข้างอ่อนแอ จึงต้องได้รับการประคบประหงมมากทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน การเป็นคนเงียบและชอบครุ่นคิดตลอดเวลา ทำให้บิดาตั้งฉายา Descartes ว่า “นักปรัชญาตัวน้อยของพ่อ”
เมื่ออายุ 10 ขวบ Descartes ได้เข้าโรงเรียนชื่อ La Flèche แห่งเมือง Anjou ซึ่งมีบาทหลวง Jesuit เป็นอาจารย์ใหญ่ Descartes เรียนวิชาภาษาโบราณ ตรรกวิทยา ปรัชญาของ Aristotle และคณิตศาสตร์ของ Clavius ได้ดีมาก เพราะเป็น วัณโรค บิดาจึงขอครูที่สอนให้อนุญาต Descartes ไปโรงเรียนสาย คือ Descartes สามารถนอนพักที่บ้านได้จนถึงเวลา 11 โมงเช้า และนี่ก็คือกิจวัตรที่ Descartes ทำเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
René Descartes
ที่มา http ://www.isgeschiedenis.nl/filosofen/rene-descartes-de-methodische-twijfelaar/
ตลอดเวลา 8 ปีที่โรงเรียน La Flèche Descartes ได้รับการศึกษาที่ทันสมัย และได้พบว่าชอบคณิตศาสตร์มากที่สุด เมื่อสำเร็จการศึกษา Descartes เชื่อว่า มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย และสำหรับตัวเองรู้สึกว่าโง่มาก Descartes มีความเห็นอีกว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่ควรค่าแก่การศึกษา เพราะมีคำตอบที่แน่นอน แม้จะยังมิได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานของวิทยาการสาขาอื่นมากเท่าที่ควร ถึงจะมีความคิดเห็นในเชิงลบ Descartes ก็ยังแอบเรียนคณิตศาสตร์ตามที่ตนเองชอบ และศึกษาวิชากฎหมายตามที่บิดาต้องการที่มหาวิทยาลัย Poitiers เป็นเวลา 2 ปี
Descartes สำเร็จปริญญาตรีสาขากฎหมายเมื่ออายุ 20 ปี และตัดสินใจไม่เรียนต่อ แต่จะเดินทางไปหาประสบการณ์และความรู้โดยการท่องเที่ยว เพราะได้รับมรดกมหาศาล ดังนั้นจึงไม่ต้องพึ่งพาใคร Descartes ได้ตัดสินใจสมัครเป็นทหาร ซึ่งตามปกติคนฐานะดีที่เข้ามาสมัครเป็นทหารไม่ใช้เพื่อต้องการต่อสู้ข้าศึก แต่เพื่อเกียรติ และตำแหน่ง อีกทั้งยังได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยด้วย ดังนั้น Descartes จึงตัดสินใจสมัครเป็นทหารบก ภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าชายแห่งฝรั่งเศส Maurice of Nassau Prince of Orange ซึ่งกำลังต่อสู้กับกองทัพสเปนที่กำลังพยายามยึดคืนอาณานิคมของฝรั่งเศสในฮอลแลนด์
หลังจากที่ใช้ชีวิตเป็นทหาร 1 ปี Descartes ได้สมัครเป็นทหารของท่านดยุคแห่ง Bavaria แต่ไม่ได้สู้รบใคร วันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1619 Descartes ฝันว่าได้อ่านหนังสือที่ทำให้รู้วิธีที่จะค้นหาความรู้ Descartes จึงตัดสินใจจะแสวงหาความจริงด้วยการทำงานตามลำพังด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงโดยเริ่มต้นจากความว่างเปล่า และตั้งประเด็นสงสัยในความรู้ทุกเรื่องที่ได้เคยร่ำเรียนมา หรือที่อาจารย์สอน นั่นหมายความว่าสิ่งเดียวที่ Descartes มั่นใจในการค้นหาความจริงคือ Descartes มีตัวตน ส่วนประเด็นนอกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องสงสัยหมด
หลังจากที่ได้ลาออกจากราชการทหาร Descartes ได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรป และแวะเยี่ยมเยือนบรรดานักวิทยาศาสตร์ จนถึงปี ค.ศ.1628 Descartes จึงตัดสินใจกลับไปตั้งรกรากในฮอลแลนด์ เพราะรู้สึกว่าชาวฮอลแลนด์ชอบรับฟังและยอมรับความคิดใหม่ ๆ ดีกว่าชนชาติอื่น
ตามปกติ Descartes ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว และมีเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คน ในช่วงเวลาที่พำนักอยู่ที่ฮอลแลนด์ เมื่อมีชื่อเสียงจนผู้คนรู้จัก Descartes ได้เปลี่ยนที่พักถึง 24 ครั้ง เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเขาอยู่ที่ใด
Descartes มีผลงานเขียนมากที่สุดขณะพำนักอยู่ในฮอลแลนด์ เพราะเป็นคนต้องการรู้ทุกเรื่อง ดังนั้นงานเขียนของ Descartes จึงครอบคลุมแทบทุกสาขาวิชา ทั้งฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ทัศนศาสตร์ คัพภวิทยา กายวิภาควิทยา สรีรวิทยาจิตวิทยา ธรณีวิทยา แพทยศาสตร์ และโภชนาการศาสตร์ ผลงานสำคัญที่สุดในมุมมองของ Descartes คืองานที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1637 เรื่อง “A Discourse on the Method of Rightly Conducting Reason and Seeking Truth in the Sciences” ซึ่งมีแนวคิดว่า เวลามีปัญหาที่ต้องการคำตอบ ให้แยกปัญหานั้นออกเป็นส่วนย่อยแล้วแก้ปัญหาของส่วนย่อยนั้น แต่คนทั่วไปกลับคิดว่า ผลงานระดับสุดยอดของ Descartes คือบทความยาว 106 หน้าในหนังสือ La Géométric ซึ่งเป็นวิชาใหม่ คือเรขาคณิตวิเคราะห์ ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์พีชคณิตกับเรขาคณิต ทั้ง ๆ ที่ในอดีต นักคณิตศาสตร์ทั้งหลายเคยคิดว่า วิชาทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกัน
ในการให้กำเนิดเรขาคณิตวิเคราะห์นั้น โลกมีตำนานเล่าว่า ขณะ Descartes ไปเยี่ยม C. Mersenne ที่ห้องพัก เขาเห็นแมลงวันบินวนไปมาในห้อง และในความพยายามจะบอกตำแหน่งของแมลงวันบนผนังห้อง Descartes มีจินตนาการว่า ถ้าที่ผนังห้องมีแกนสองแกนตั้งฉากกัน เราสามารถกำหนดตำแหน่งของแมลงวันได้จากระยะทางที่มันอยู่ห่างจากแกนทั้งสอง การบอกตำแหน่งในลักษณะนี้ ปัจจุบันเราเรียก กราฟ (Graph) ที่มีแกน y อยู่ในแนวดิ่งและแกน x อยู่ในแนวราบ ถ้าแมลงวันคลานไปในแนวทำมุม 45 องศากับแกนทั้งสอง และผ่านจุดกำเนิดสมการทางเดินของแมลงวันในสองมิติคือ y = x วิทยาการสาขาใหม่ที่ Descartes สร้างนี้มีประโยชน์ในการลากเส้นกราฟและทำแผนที่ที่มีแกนสองแกนตั้งฉากกัน และจุดตัดของแกนทั้งสองคือจุดกำเนิด หลังจากที่ได้กำหนดหน่วยบนแกนทั้งสอง Descartes ได้แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งของจุดทุกจุดบนระนาบ (เรียกระนาบคาร์ทีเซียน) สามารถระบุได้ด้วยเลข 2 จำนวน ซึ่งบอกระยะทางของจุดนั้นในแนวนอน และแนวดิ่ง จากนั้น Descartes ได้แสดงเส้นโค้งต่าง ๆ เช่น วงรี วงกลม ไฮเพอร์โบลา พาราโบลา ฯลฯ สามารถแทนได้ด้วยสมการพีชคณิต ดังนั้น การแก้โจทย์เรขาคณิตก็อาจทำได้โดยการแก้โจทย์พีชคณิต ในเวลาต่อมาพิกัดคาร์ทีเซียนใน 2 มิติ ก็ได้รับการเพิ่มเสริมให้ครอบคลุมระบบที่มี 3 มิติ
วิชาเรขาคณิตที่มีสมการพีชคณิตกำกับ ได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์การเคลื่อนที่ทุกรูปแบบได้ เพราะเวลามีสมการเทคนิคทางคณิตศาสตร์สามารถแสดงได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเรายิงกระสุนให้มีความเร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องทดลองยิงจริง
การที่ Descartes นำเทคนิคพีชคณิตมาใช้ในเรขาคณิต ทำให้เห็นสมบัติเชิงเรขาคณิตของรูปทรงต่าง ๆ ชัด ผลงานนี้นับเป็นผลงานที่จีรังยั่งยืนที่สุด
แม้ Pierre de Fermat จะคิดวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ได้ก่อน Descartes แต่ de Fermat ก็มิได้ตีพิมพ์ผลงานของตน ดังนั้น เกียรติในการสร้างวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ จึงเป็นของ Descartes แต่เพียงผู้เดียว
ปัจจุบันทุกคนที่ใช้กราฟหรือใช้แผนที่ในการเดินทาง ล้วนใช้ประโยชน์ของวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์ที่มี Descartes เป็นผู้ให้กำเนิด ผลงานของ Descartes นี้ นับว่ายืนยงยิ่งกว่าผลงานอื่น ๆ ทั้งหมด
ในปี ค.ศ.1649 ชื่อเสียงของ Descartes ได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป ว่าเป็นนักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุโรป ชื่อเสียงนี้ได้ทำให้สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนทรงเชิญให้ Descartes เป็นพระอาจารย์ในพระองค์ และเป็นผู้บริหารของสถาบัน Swedish Academy of Science หลังจากที่สมเด็จพระราชินี Christina ซึ่งมีพระชนมายุ 23 พรรษาทรงรบเร้าเชิญ Descartes มาร่วมทำงานกับนักวิชาการที่กรุง Stockholm ในสวีเดน Descartes จึงตกลงใจรับคำเชิญ และพระราชินี Christina ได้ทรงส่งเรือมารับ Descartes ไปสวีเดน ทั้ง ๆ ที่เป็นฤดูหนาว แต่สมเด็จพระราชินีก็ไม่ทรงเอื้ออาทร เพราะทรงขอให้ Descartes ตื่นแต่เช้าตรู่มาถวายพระอักษรด้านปรัชญาแด่พระนาง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ตั้งแต่เวลาตี 5 จนถึงเวลา 11 โมงเช้า
ด้วยสุขภาพที่ไม่แข็งแรง และอากาศที่หนาวจัด Descartes ได้ล้มป่วยเป็นโรคปอดบวม และเสียชีวิตที่ Stockholm เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1650
Descartes เชื่อว่าความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ (ธรรมชาติในที่นี้ Descartes หมายความถึงมนุษย์ด้วย) แต่การเป็นคนชอบความสันโดษ และชอบเก็บอารมณ์ ทำให้บางคนคิดว่า Descartes เป็นคนที่ต่อต้านการมีความรู้สึกผูกพันกับใคร และต่อต้านสังคม แต่ Descartes มีลูกสาวลับคนหนึ่งชื่อ Francine ซึ่ง Descartes รักมาก และแม่ของเด็ก คือคนรับใช้ของ Descartes นั่นเอง
ในปี ค.ศ. 1640 ที่เด็กคนนี้เสียชีวิตด้วยโรคดำแดง Descartes ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่ง โดยให้ชื่อของเธอปรากฏที่หน้าหนึ่งของหนังสือนั้น แต่ไม่มีการกล่าวถึงชื่อแม่เธอแต่อย่างใด
ผลงานวิทยาศาสตร์อื่นของ Descartes ที่สำคัญ คือการพบว่า แสงมีสมบัติเป็นคลื่น และวิธีวิเคราะห์ความคลาดเชิงทรงกลม (spherical aberration) ของเลนส์หรือกระจกโค้งที่มีขนาดใหญ่จนทำให้เลนส์หรือกระจกโค้งไม่สามารถโฟกัสแสงได้ ในปี ค.ศ.1611 Descartes ได้เรียบเรียงตำรา “On the Rays of Sight and Light” ซึ่งกล่าวถึงที่มาของรุ้งกินน้ำชนิด ปฐมภูมิ และทุติยภูมิ สำหรับรุ้งปฐมภูมินั้น Marco Antonio de Dominis ได้อธิบายว่าเกิดจากการสะท้อนของรังสีในหยดน้ำเพียงครั้งเดียว แล้วหักเหออก ส่วน Descartes ได้อธิบายสาเหตุการเกิดรุ้งทุติยภูมิว่า เกิดจากการสะท้อนของรังสีในหยดน้ำสองครั้งแล้วหักเหออก Descartes ได้พบอีกว่า สารต่างชนิดกันมีความสามารถในการรับและคายความร้อนได้ดีไม่เท่ากัน นี่คือความรู้เรื่องความร้อนจำเพาะที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันรู้จักดี
ขณะพำนักในฮอลแลนด์ Descartes ได้รู้จักนักวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงหลายคน และได้วิจัยทัศนศาสตร์หลายเรื่อง เช่น พบกฎการหักเหของแสง ในเวลาไล่เลี่ยกับ Williebrord Snell พบว่าเลนส์ตาคนมีบทบาทในการทำให้เห็นภาพ สำหรับผลงานด้านอุตุนิยมวิทยานั้น ตำรา Le Monde ou Traité de la Lumière ของ Descartes ก็มีส่วนช่วยให้ Robert Boyle พบกฎของ Boyle และเมื่อตำรา Le Monde ou Traité de la Lumière ที่ Descartes เขียนเกี่ยวกับวิชาธรณีวิทยา มีเนื้อหาบางตอนขัดแย้งกับคำสอนในคริสต์ศาสนา Descartes ได้ยับยั้งการตีพิมพ์ เพราะจำได้ว่า Galileo เคยถูกจับกุมด้วยข้อหาตำหนิคำสอนของศาสนาหลายเรื่อง จะอย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ ได้ปรากฏในบรรณโลกหลังจากที่ Descartes ได้เสียชีวิตไปแล้ว
Descartes เชื่อว่ากลศาสตร์ที่มีคณิตศาสตร์เสริมสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางฟิสิกส์ได้ แต่ Descartes ไม่เชื่อเรื่องแรงโน้มถ่วงของนิวตัน โดยให้เหตุผลว่า ถ้าวัตถุอยู่ห่างกัน แรงระหว่างวัตถุไม่น่าจะมี และ Descartes เชื่อว่าในกรณีดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เพราะถูกกระแสคลื่น ether ในอวกาศผลัก โดย ether ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงอาทิตย์เดินทางถึงโลก
ในปี 1637 Descartes ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “A Discourse on Method” ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อความคิดของนักวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา โดยได้ย้ำว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ควรถกเถียงกับนักบวชว่า คำสอนต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ควรสงสัยในความ “จริง” ทุกเรื่อง และเลิกสงสัยเมื่อสิ่งนั้นได้รับการพิสูจน์ นอกจากนี้ การจะรู้ทุกสิ่ง ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และเมื่อมนุษย์คิด ไม่ว่าจะคิดผิด คิดถูก หรือคิดเพี้ยน การคิดจะทำให้รู้ว่าตัวเองมีตัวตน Descartes ได้เอ่ยคำกล่าวที่เป็นอมตะว่า Cognito, ergo sum ซึ่งแปลว่า I think, therefore I am หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้ และนักวิทยาศาสตร์ต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง อนึ่งเวลาแก้ปัญหา นักวิทยาศาสตร์ควรพยายามหาคำตอบที่ง่ายที่สุดก่อน แล้วต่อมาจึงพยายามหาคำตอบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น นั่นคือ Descartes คิดว่าคำตอบน่าจะเป็นเรื่องตรงไปตรงมา มากกว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในทำนองเดียวกับที่เส้นตรงเป็นรูปทรงที่ง่ายกว่าเส้นโค้ง อย่างไรก็ตามเมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ให้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นเช่นไร เพื่อให้รู้ว่าคำตอบนั้นถูกหรือผิด
หลังจากที่ Descartes เสียชีวิต 16 ปี โลงศพของ Descartes ถูกนำออกจากสุสานของโบสถ์ Adolf Fredriks ในกรุง Stockholm ประเทศสวีเดน ไปเก็บที่บ้านพักของเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสวีเดน ชื่อ Hugues de Terlon ซึ่งได้เปิดฝาโลงออกแล้วนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของศพใส่ในโลงทองแดงเพื่อนำไปเก็บที่โบสถ์ St. Geneviève ในกรุงปารีส
ในหนังสือ “Descartes’ s Bones : A Skeletal History of the Conflict Between Faith and Reason” ที่ Russell Shorto เรียบเรียง และจัดพิมพ์โดย Doubleday ในปี 2008 Shorto เล่าว่า หลังจากที่ Descartes เสียชีวิต คนที่ศรัทธาในความสามารถของ Descartes ได้พากันเก็บกระดูกของเขา เพื่อนำไปบูชาหรือเป็นที่ระลึก บ้างก็มอบเป็นมรดกให้ลูกหลาน เช่น กระดูกนิ้วชี้มือขวาของ Descartes ถูกตัดแยกออกจากโครงกระดูกทั้งหมด เพราะคนที่คลั่งไคล้ในตัว Descartes เชื่อว่านิ้วชี้นั้นมีบทบาทมากในการเขียนความคิด ทางปรัชญาของผู้ตาย ครอบครัวชาวสวีเดนครอบครัวหนึ่งอ้างว่าได้ตัดส่วนที่เป็นกะโหลกศีรษะของ Descartes ไปเก็บเป็นที่ระลึก เพราะถือว่าอวัยวะส่วนนี้ คือต้นกำเนิดของแนวคิดอย่างมีเหตุผลของมนุษย์
เมื่อเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส Alexandre Lenoir ซึ่งเป็นคนรับผิดชอบการดูแลรักษากระดูกของคนสำคัญของฝรั่งเศส ได้รับคำสั่งให้นำกระดูกของ Descartes จากโบสถ์ St. Geneviève ไปวางที่ Panthéon ตามคำบัญชาของคณะปฏิวัติ แต่เขากลับนำไปเก็บในสวนส่วนตัว ณ วันนี้จึงไม่มีใครรู้ว่าชิ้นส่วนของกระดูกที่ Lenoir เก็บในสวน เป็นของ Descartes ทั้งหมดหรือไม่ เพราะในระหว่างปี ค.ศ. 1640 - 1660 นักเก็บสะสมของแปลก และหายากชาวอังกฤษชื่อ John Bargrave หลังจากที่ได้เดินทางไปแสวงหาของหายากในยุโรป เมื่อกลับถึงอังกฤษ ได้มอบกระดูกของนักบุญ 31 องค์ แหวน สร้อย ฯลฯ ที่ได้เก็บสะสมมาเป็นเวลานาน แก่บาทหลวงแห่ง Canterbury Cathedral โดยมีคำบรรยายกำกับว่า หาได้จากที่ใด คืออะไร และได้มาเมื่อใด ประเด็นที่น่าสนใจคือในบรรดาสิ่งที่ Bargrave เก็บสะสมนั้น มีการอ้างว่า เป็นกระดูกนิ้วมือขวาของ Descartes ด้วย
ส่วนที่เป็นกะโหลกศีรษะของ Descartes นั้น ก็มีคนหลายคนอ้างเก็บ เช่นในปี ค.ศ.1821 นักชีววิทยาชื่อ George Cuvier อ้างว่า มีกะโหลกของ Descartes ในครอบครอง แต่ไม่มีใครพิสูจน์ยืนยัน ณ วันนี้ กะโหลกนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Musée de L’ Homme ใน Palais de Chaillot ที่ปารีส
หนังสือ Discourse method meditations philosophy principles
ที่มา http ://www.amazon.com/Discourse-Method-Meditations-Philosophy-Principles/dp/144172365X
หนังสือ discourse on the method of rightly
ที่มา http://www.general-ebooks.com/search/rene-descartes-discourseon-the-method/2
บรรณานุกรม
Damasio, António R. (1994). Descartes’ Error: Emotion,Reason and the Human Brain. Grosset/Putnam.
-
12812 René Descartes บิดาของเรขาคณิตวิเคราะห์ /article-mathematics/item/12812-rene-descartesเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง