เทคนิคการสอนแบบ Math League พัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างไร
...เทคนิคการสอนแบบ Math League พัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างไร...
วิสุทธิ์ คงกัลป์
ในสังคมปัจจุบัน วิชาคณิตศาสตร์ มีบทบาทสำคัญต่อยุคที่เทคโนโลยีและวิทยาการในด้านต่าง ๆ กำลังเจริญก้าวหน้า และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะคณิตศาสตร์ เป็นเครื่องมือนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสรรค์ทาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นพื้นฐานสำหรับการวิจัยทุกประเภท นอกจากนี้ คณิตศาสตร์ยังช่วยพัฒนาความคิดของผู้เรียนให้สามารถคิดอย่างมีระบบ มีเหตุผล และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา เด็กนักเรียนเบื่อหน่ายไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะในระดับชั้นมัธยมศึกษา อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ข้าพเจ้าเองในฐานะที่รับผิดชอบการสอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนควนเนียงวิทยา จังหวัดสงขลา ก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าในประเทศไทยของเรา ยังมีความแตกต่าง ในด้านคุณภาพของการจัดการศึกษา และคุณภาพของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน โดยถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก หรือเป็นโรงเรียนที่อยู่รอบนอกของตัวเมือง มักจะมีนักเรียนที่เหลือจากการคัดเลือก จากโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง ทำให้แต่ละห้องเรียนมีนักเรียนที่มีความพร้อมทางฐานะ และสติปัญญาในการเรียนรู้ค่อนข้างน้อย แต่คงจะปฏิเสธการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่ด้อยคุณภาพเหล่านี้ไม่ได้ เพราะ คำว่า ครู มีคุณค่า และความสำคัญยิ่งกว่าคำว่าอาชีพครู ทำให้เราต้องพยายามหาวิธีพัฒนานักเรียน ให้มีความสามารถในการเรียนรู้ เต็มตามศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่
ทำให้ข้าพเจ้าคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่รับผิดชอบ โดยเริ่มจากการสำรวจและศึกษาถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าว เพื่อหาแนวทางแก้ไข และพัฒนาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ต่อไป ซึ่งจากการใช้แบบสำรวจ แบบสอบถาม และจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนที่รับผิดชอบ พบว่าสาเหตุที่ทำให้นักเรียนของโรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เบื่อหน่าย ไม่สนใจเรียน มาจากสาเหตุ 3 ด้านได้แก่
1) ด้านครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ พบว่าโดยส่วนใหญ่ครูที่สอนวิชาคณิตศาสตร์มักใช้การสอนแบบบรรยาย กิจกรรมไม่หลากหลาย นอกจากนี้มักให้แบบฝึกหัดแก่นักเรียนครั้งละมาก ๆ โดยคิดว่าวิชาคณิตศาสตร์ ถ้าได้ฝึกมาก ๆ ก็จะทำให้เก่งได้ โดยไม่ได้คิดเลยว่านักเรียนจะเข้าใจในการเรียนหรือไม่ จะทำแบบฝึกหัดได้หรือไม่ หรือการบ้านวิชาอื่น ๆ จะมากน้อยแค่ไหน
2) ด้านเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ และกระบวนการวัด/ประเมินผล จะพบว่าโดยธรรมชาติ วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหาค่อนข้างมาก และเป็นนามธรรม จะเห็นได้ชัดในช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 – ม.6) ต้องใช้จินตนาการ และความตั้งใจในการเรียนมากเป็นพิเศษ นอกจากวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่บังคับโดยเนื้อหา ซึ่งถ้าเริ่มต้นไม่เข้าใจ ยิ่งเรียนไปก็ยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้น แล้วในส่วนของการะประเมินผล เช่นการสอบ Entrance ก็เน้นให้นักเรียนทำข้อสอบมากกว่าทักษะกระบวนการซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนหันไปเพิ่งสถาบันกวดวิชา เพื่อหาสูตรลัดในการทำข้อสอบหรือเดาข้อสอบโดยขาดทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
3) ด้านตัวนักเรียน ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น ต้องการความท้าทาย การแข่งขัน ชิงรางวัล ชอบทำงานร่วมกันกับเพื่อนเป็นกลุ่ม นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่ ต้องการให้มีเสียงดนตรีประกอบการเรียน เพื่อผ่อนคลายและทำกิจกรรมสนุก ๆ เช่น การเล่นเกม มากกว่านั่งฟังเพียงอย่างเดียว
จากสาเหตุที่กล่าวจะเห็นได้ว่า ในส่วนเนื้อหาวิชาเราคงจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้เพราะเป็นธรรมชาติวิชา แต่ในด้านครูผู้สอน หรือด้านนักเรียน เราสามารถหาแนวทางที่ดีที่สุดในการนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ถึงความต้องการของนักเรียนให้สอดคล้องกับสภาพของบริบทของปัญหาที่เป็นอยู่จะเห็นว่า การเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจ ตั้งใจ การคิดวิเคราะห์ ด้วยตัวนักเรียนเอง ภายใต้กิจกรรมหรือเกมการแข่งขัน เป็นกลุ่มที่ท้าทายความสามารถและสนุกสนาน น่าจะทำให้นักเรียนมีความสนใจเรียนมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ และเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ควรจะสูงกว่าที่ครูเป็นผู้ยื่นความรู้ให้เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นที่มาของการคิดค้นและพัฒนาเทคนิคการสอนที่สอดคล้อง กับสภาพปัญหา และพัฒนาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อว่า “เทคนิคการสอนแบบ Math League” ควบคู่กับการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อดูผลที่ได้จากการใช้วิธีการดังกล่าว ว่าจะแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียนได้ดีขึ้นจริงหรือไม่
รูปแบบการใช้เทคนิค Math League ประกอบกับการเรียนการสอนนั้น เป็นเทคนิคที่สอดแทรกอยู่ในส่วนของกิจกรรมการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ นั่นหมายความว่า จะไม่กระทบต่อแผนการจัดการเรียนรู้โดยรวมซึ่งครูผู้สอนสามารถใช้สื่อการสอนและสอนเนื้อหาสาระได้ตามที่คาดหวังในหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งเทคนิค Math League นั้น ชื่อ Math หมายถึง คณิตศาสตร์ ส่วนคำว่า League ก็คือLeague การแข่งขันที่มีการจัดอันดับตารางคล้าย ๆ การแข่งขัน League ทางฟุตบอล ที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น พรีเมียร์League ของประเทศอังกฤษ บุนเดสลิก้า ของประเทศเยอรมัน Thailand League ของประเทศไทย เป็นต้น เพียงแต่ Math League เป็น League แข่งขันทางการศึกษาเท่านั้นเอง ซึ่งในการจัดทีมก็จะประกอบด้วยนักเรียน ทีมละ 4 – 6 คน โดยใช้แบบสอบก่อนเรียนในการจัดทีมตามอัตราส่วนของนักเรียนกลุ่มเก่ง 1ส่วน : กลุ่มปานกลาง 2 ส่วน : กลุ่มอ่อน 1 ส่วน และให้แต่ละทีมเลือกกัปตันทีม 1 คน พร้อมทั้งหาโค้ชประจำทีม ซึ่งจะเป็นครู ในรายวิชาที่เรียนหรือครูท่านใดก็ได้ในโรงเรียน ที่ทางทีมของนักเรียนเห็นว่าจะให้คำปรึกษาได้ ในการจัดกิจกรรมการเรียนถ้ามีงานหรือกิจกรรมใดนอกเหนือจากการแข่งขันที่ทำเป็นกลุ่มก็จะให้นักเรียนทำงานตามทีมที่จัดไว้นี้เพื่อฝึกให้นักเรียน ช่วยเหลือในการทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งจะมีกัปตันทีมเป็นผู้กำกับ และวางแผนในการดำเนินงานต่าง ๆ ในทีม โดยในชั่วโมงแรกของการเรียน ครูจะแจ้งให้แต่ละทีมทราบถึงรางวัล(สิ่งกระตุ้น)หรือสิ่งที่นักเรียนจะได้รับหลังจากการแข่งขัน Math League จบในแต่ละภาคเรียน เพราะอย่างที่ทั่วไปทราบกันเป็นอย่างดีว่า ถ้าให้นักเรียนแข่งขันแล้วก็ประเมินในรายชั่วโมงเท่านั้นก็จะทำให้นักเรียนไม่สนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ได้ไม่มาก แต่สิ่งที่นักเรียนจะได้รับหลังจากสิ้นภาคเรียนจะนำคะแนนที่เป็นบวกของแต่ละทีมมาคิดเป็น 40% ของคะแนนจริง แต่ไม่เกิน 20 คะแนน เพื่อนำไปคิดเป็นเกรด ของนักเรียนแต่ละคนในทีม ซึ่งจะไม่มีการหารหรือลดทอนคะแนนแต่อย่างใด เช่นทีม ก. ทำคะแนนในตารางได้ 35 คะแนน นำ 40% คือ 14 คะแนน ไปใส่ให้นักเรียนแต่ละคนในทีม ก. เพื่อไปรวมกับคะแนนในส่วนอื่นๆแล้วคิดออกมาเป็นเกรด นั่นคือจากคะแนน 100 คะแนน นักเรียนในทีม ก. มี 14 คะแนน เหลืออีก 86 คะแนน ก็เกิดจากการเรียนปกติ ซึ่งจะกระตุ้นให้นักเรียนตั้งใจเรียนและร่วมกิจกรรมได้ดีขึ้น เพื่อจะได้เกรดที่สูงขึ้นในรายวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนทีมที่มีคะแนนติดลบ ก็จะคิดเป็น 0 คะแนน หมดทุกคนในทีม ซึ่งไม่มีผลต่อการคิดเกรดในรายวิชาคณิตศาสตร์ ทุกคนยังมีคะแนนเต็ม 100 คะแนนจากการเรียนปกติ ตรงนี้เองที่จะทำให้นักเรียนทั้งเก่งและอ่อน กล้าที่จะแสดงออก ร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตัวนักเรียนได้โดยไม่ต้องกังวลใจอะไรทั้งสิ้น
ในส่วนของการใช้เทคนิค Math League นั้น ในวิชาคณิตศาสตร์ หลังจากครูผู้สอน ได้ดำเนินการสอนตามเนื้อหาสาระในแต่ละเรื่องแล้ว จำเป็นต้องให้นักเรียนฝึกทำแบบฝึกหัดเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ ถ้าเป็นนักเรียนที่มีความพร้อม ตั้งใจ และใฝ่ในการเรียนรู้แล้วก็คงไม่เป็นปัญหา แต่อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า นักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่ จะมีประเภทที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ ไม่สนใจเรียนมากกว่าครึ่งห้องเรียน ซึ่งในขั้นตอนนี้ปกติโดยทั่วไป ครูคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ ก็จะให้ใบงาน หรือแบบฝึกหัด แต่ละคนปฏิบัติค่อนข้างมาก แต่สำหรับการใช้เทคนิค Math League นั้นจะมีบทบาทในจุดนี้ นั่นคือ เมื่อถึงขึ้นฝึกทำ โจทย์ หรือ แบบฝึกหัดทางคณิตศาสตร์ จะให้นักเรียนแต่ละทีม ทบทวนสาระ ที่ได้เรียนรู้มาในต้นชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวแข่งขันประมาณ 5 นาที หลังจากนั้น ให้นักเรียนนั่งเป็นวงกลม โดยกำหนดว่านักเรียนในทีมเดียวกันห้ามนั่งติดกันและเมื่อเพลงดังขึ้นให้ส่งปากกาเคมี 2 ด้าม ไปรอบ ๆ วง ถ้าเสียงนกหวีดดัง เพลงหยุด แล้วปากกาเคมีอยู่ที่ใครคนนั้นเป็นคนที่หยิบโจทย์ที่ครูเตรียมไว้เพื่อจะทำโจทย์ดังกล่าว ซึ่งต้องฟังคำสั่งจากคนที่หยิบแผ่นคำสั่งในแต่ละครั้งก่อนปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น คำสั่งให้คนที่อยู่ด้านซ้ายของคนที่ถือโจทย์ออกมาทำโจทย์ข้อนี้ เป็นต้น ในบางครั้งอาจจะมีการส่งปากกาเคมีถึง 3 ด้าม โดยกำหนดว่าด้ามที่ 1 เป็นโจทย์ ด้ามที่ 2 เป็นคำสั่ง และด้ามที่ 3 เป็นคำขอร้อง(เป็นสิ่งที่ครูใส่เข้าไปเพื่อความสนุกสนาน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้) หลังจากทำโจทย์ซึ่งเป็นโจทย์แบบอัตนัย เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์เสร็จ นั้นถ้าทำโจทย์ได้ถูกต้องชัดเจน จะได้ + 1 คะแนน ถ้าทำโจทย์ผิดหรืออธิบายวิธีการ หรือการได้คำตอบมาไม่ชัดเจน จะได้ -1 คะแนน ซึ่งจะได้คะแนนเท่ากันทุกคนในทีม นอกจากนี้ในโจทย์บางข้อนักเรียนกับกรรมการ(ครูผู้สอน) สามารถต่อรองคะแนนกันได้ตามความเหมาะสมของโจทย์ เช่น ข้อนี้นักเรียนมองว่ายาก ถ้าทำถูกขอคะแนน + 2 คะแนน แต่ถ้าทำผิดก็จะได้ -2 คะแนนเช่นกัน ในระหว่างดำเนินการแข่งขัน Math League ถ้ามีการทำผิดกฎ เช่น ส่งปากกาเคมีช้า ถ่วงเวลา เพราะว่าเป็นนักเรียนที่เก่งอยากจะออกมาทำโจทย์เอง ช่วยบอกคำตอบแก่เพื่อนที่ออกมาทำโจทย์ คุยเสียง หรือรบกวนผู้อื่น ทางกรรมการสามารถให้ใบเหลือง ใบแดงได้ โดยกำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นใบเหลือง จะถูกตัดคะแนนทีมละ -1 คะแนน ถ้าเป็นใบแดง จะถูกตัดคะแนนทีมละ -2 คะแนน นอกจากนี้หากทีมใด ได้รับใบเหลือง 2 ครั้งในการแข่งขันที่ติดต่อกัน หรือได้รับใบแดง จะส่งผลให้การแข่งขันในครั้งต่อไป ทีมดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์การแข่งขัน (ถูกแบน) 1 ครั้ง
หลังจากแข่งขันเสร็จแต่ละครั้ง (แต่ละชั่วโมง) ให้กรรมการสรุปคะแนนลงตารางคะแนน Math League รวม เพื่อจัดเรียงอันดับทีม แล้วแจ้งให้นักเรียนทราบต่อไป และในรายวิชาเดียวกันของแต่ละห้องเรียนก็สามารถจัดลำดับโดยกำหนดให้ 2 อันดับสุดท้ายของตารางคะแนนตกชั้น ไปแข่งขัน Math League ในชั้นที่ต่ำกว่าตามลำดับคะแนนที่ได้ พร้อมทั้งนำ 2
อันดับสูงสุด ของชั้นที่มีคะแนนต่ำกว่าขึ้นมาแข่งขัน Math League แทน นอกจากนี้ ในช่วงกลางของเนื้อหาหรือจบหน่วยการเรียนรู้ 1 หน่วย อาจจะให้แต่ละทีมจับสลากเพื่อประกบคู่ในการแข่งขัน FA Cup โดยใช้เวลาว่างหรือช่วงพักกลางวัน ในการแข่งขันแบบเหย้า- เยือน เพื่อให้แต่ละทีมได้ช่วยกันเตรียมความพร้อม และทบทวนความรู้ก่อนการแข่งขันทุกครั้ง ซึ่งแต่ละทีมสามารถนัดให้โค้ช ช่วยในการเตรียมความพร้อมของทีมได้
หลังจากทดลองใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวได้พบสิ่งที่น่าสนใจ และจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การแก้ปัญหา และพัฒนานักเรียนได้อย่างแท้จริง โดยมีผลการวิจัยเป็นเครื่องยืนยัน ซึ่งจากผลการวิจัยกล่าวพบว่า เทคนิค Math League ได้ช่วยทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์สูงขึ้นตามศักยภาพของนักเรียน เพราะต้องยอมรับว่า นักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในการเรียนรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนคนไหนที่อ่อนวิชา คณิตศาสตร์ แล้วจะอ่อนไปทุกวิชา ดังนั้น ในการจัดการเรียนการสอน จะต้องพยายามทำให้นักเรียนที่อ่อน พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ ถึงแม้จะได้ไม่เท่ากับนักเรียนที่เก่งก็ตาม แต่ถ้านักเรียนเหล่านั้นทำเต็มที่แล้ว ก็ถือว่า นั่นคือการจัดการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเทคนิค Math League ช่วยตรงนี้ได้เยอะ เพราะเป็นกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของนักเรียน ที่ว่า ชอบทำงานเป็นกลุ่ม กล้าที่จะคิด กล้าที่จะออกมาทำโจทย์ เพราะถ้าได้คะแนนบวก ก็จะส่งผลต่อเกรดของตนเอง แต่ถ้าเป็นคะแนนลบ ก็จะไม่มีผลต่อเกรดของนักเรียน นับว่าเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ จากการสังเกตและใช้แบบประเมินนั้น ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชายแม้จะเป็นเทคนิคที่อิงมาจากเกมทางกีฬาก็ตาม จากนักเรียนที่เคยโดดเรียนวิชาคณิตศาสตร์กลับรีบมาเข้าเรียนก่อนเพื่อน ๆ นักเรียนหลายคนเบื่อหน่ายวิชาคณิตศาสตร์ ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ หรือไม่กล้าแสดงออก ก็พัฒนาขึ้น มีนักเรียนคนหนึ่งมาบอกกับข้าพเจ้าว่า “เมื่อก่อนไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ เมื่อไม่ชอบก็ไม่อยากเรียน ไม่อยากทำโจทย์ ไม่ชอบร่วมกิจกรรม แต่เมื่ออาจารย์มาจัดแข่งขัน Math League ทำให้ผมกล้าแสดงออกมากขึ้น ชอบที่จะเรียนคณิตศาสตร์เพราะ สนุก ได้ความรู้ ผสมกับการแข่งขัน ผมกล้าที่จะออกมาทำโจทย์มากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ได้คิด ถึงจะติดลบมาก ก็ไม่เป็นไร” จากคำพูดของนักเรียนคนนี้ คงสะท้อนให้เห็นว่า เทคนิค Math League มีส่วนช่วยให้บรรยากาศการเรียนรู้ดีขึ้นอย่างชัดเจน หรือกล่าวได้ว่า ถึงแม้ในห้องเรียนจะมีนักเรียนอ่อนมากกว่านักเรียนเก่ง แต่ถ้าเราสามารถทำให้นักเรียนอ่อนสนใจเรียน ไม่รบกวนเพื่อน ๆ ได้ เท่านี้ การที่ครูจะป้อนความรู้หรือสอดแทรกสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในตัวนักเรียนก็คงจะง่ายขึ้น เพราะถ้านักเรียนอ่อนสนใจ นักเรียนที่เก่งก็คงไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการนี้ นอกจากจะพัฒนานักเรียนในด้านความรู้ความสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์แล้ว ยังพัฒนาด้านคุณลักษณะ ต่าง ๆ เช่น ความรับผิดชอบ การช่วยเหลือผู้อื่น การเสียสละ การทำงานเป็นทีม การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น
อนึ่ง เทคนิคการจัดการเรียนเทคนิคแบบ Math League สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกวิชา เพราะ เป็นรูปแบบของกิจกรรมที่จัดได้ง่าย อุปกรณ์ไม่มาก สถานที่อาจจะเป็นในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนก็ได้ น่าสนใจ และตรงกับสภาพของนักเรียน โดยข้าพเจ้ามีแนวคิดที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ วิชา ไปพร้อมกันโดยเฉพาะวิชาสามัญ เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์โดยรวมให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ก็คงจะทำได้ไม่ยาก อาจจะเริ่มด้วยการประชุมครูในรายวิชาที่สนใจเข้าร่วม ในระดับชั้นเดียวกัน เพื่อชี้แจงเกณฑ์ กติกาการแข่งขัน และการให้คะแนน โดยใช้ตารางคะแนนเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “League วิชาการระดับชั้น......” ซึ่งในการจัดทีมของนักเรียนแต่ละห้อง แทนที่จะใช้แบบทดสอบก่อนเรียน ก็ให้ดูจากเกรดเฉลี่ยในภาคเรียนที่ผ่านมาของนักเรียนแต่ละคน เพราะมีหลายวิชา นักเรียนมีความสามารถแต่ละวิชาแตกต่างกัน ก็น่าจะเป็นแนวทางที่จะปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่ผลที่ได้รับ น่าจะมีคุณค่ามากสำหรับนักเรียน และการศึกษาในยุคปัจจุบัน
ท้ายสุดข้าพเจ้าหวังว่า เทคนิค Math League จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ในยุคที่นักเรียนมีความสนใจในการเรียนต่ำลง ช่องว่างทางการศึกษามากขึ้นนักเรียนที่เก่งก็จะเก่งมากส่วนนักเรียนที่อ่อนก็จะอ่อนมากและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับผู้เรียนมากที่สุด และสอดรับกับความต้องการของสังคม ที่ต้องการให้นักเรียนในชั้นมัธยมปลาย มีความเป็นเลิศในทางวิชาการ
-
1306 เทคนิคการสอนแบบ Math League พัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างไร /article-mathematics/item/1306-math-leagueเพิ่มในรายการโปรด