การเรียนคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม
การเรียนคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม
ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว ?
หากถามโจทย์คณิตศาสตร์นี้กับผู้ใหญ่ หลายคนคงเริ่มหยิบกระดาษดินสอ และแทนค่าสมการด้วยตัวแปร x และ y กันอย่างสนุกมือ แต่หากต้องการนำโจทย์นี้ไปถามกับเด็กประถม ผู้ใหญ่หลายคนอาจส่ายหน้าด้วยความคิดที่ว่า ยังเร็วเกินไปสำหรับการสอนเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวให้รู้จักกับสมการ หรือตัวแปร x y z เพื่อไขคำตอบจากโจทย์ดังกล่าว
แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ไม่รู้จักการแทนค่าตัวแปร x y z เด็กในประเทศที่มีอันดับคะแนนคณิตศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่าง เกาหลีใต้ก็สามารถแก้โจทย์ดังกล่าวได้ตั้งแต่ชั้นประถม 3 !!!!
ข้อความข้างต้นไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ หรือเกิดจากการเรียนที่หนักกว่าปกติของเด็กเกาหลี แต่เกิดจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ให้เด็กคิดผ่านการตั้งคำถามของคุณครู ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะหาคำตอบของโจทย์ข้อนี้ได้
ผล ที่ได้จากการสอนในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้พบวิธีพัฒนาเด็กในด้านคณิตศาสตร์แล้ว ยังเป็นการปลุกศักยภาพในตัวของเด็กที่มีไม่จำกัดออกมาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ค้นพบว่าวิธีในการตอบโจทย์ดังกล่าวยังมีอีกมากมายนับสิบวิธี มีแม้กระทั่งใช้การวาดภาพเพื่อหาคำตอบ ซึ่งเป็นวิธีคิดง่ายๆ สไตล์เด็ก ป.3 นั่นเอง
เมื่อห้องเรียนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดสร้างสรรค์ จึงไม่แปลกที่ความชอบและความถนัดด้านคณิตศาสตร์ของเด็กเกาหลีใต้จะถูกดึงออก มาใช้อย่างต่อเนื่อง และทำให้อันดับในการวัดผลทางด้านคณิตศาสตร์จากโครงการ PISA (Program for International Student Assessment) และโครงการศึกษานานาชาติ Trends in International Mathematics and Science Study หรือ TIMSSของเยาวชนเกาหลีใต้นั้นติดอันดับ 1 ของโลกมายาวนานนับ 10 ปี (สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 40 อันดับ)
MGR Lite และ Life & Family มีโอกาสพบกับ มร.ปาร์ค มยุง จุน (Park Myung Jun) อดีตคุณครูคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แนว ใหม่ โดย มร.ปาร์คเล่าถึงประสบการณ์ในการสอนอันยาวนานซึ่งเป็นที่มาของหลักสูตร KingMath ที่เขาคิดค้นขึ้นว่า
"เทคนิคการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ก็เหมือนกับ การจับปลา ปลาแต่ละชนิดมีวิธีจับมากกว่าหนึ่งวิธี โจทย์คณิตศาสตร์เองก็เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าการกระตุ้นให้เด็กคิด และมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับการเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเรามีโอกาสค้นพบเทคนิคใหม่ๆ การคิดใหม่ๆ ได้มากมาย เพียงแค่ครูให้คำชี้แนะกับเด็กว่าโจทย์รูปแบบนี้ควรจะต้องทำอย่างไร แล้วเด็กจะมีความคิดที่หลากหลายพรั่งหรูออกมา ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเด็กทำได้ดี คุณครูควรมีรางวัลให้เด็กด้วย เพื่อช่วยจูงใจให้เด็กชอบคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น"
จากโจทย์ : ในสวนสัตว์มียีราฟและนกยูงรวมกัน 25 ตัว นับขาได้ 68 ขา จงแสดงว่ามียีราฟกี่ตัว?
วิธีคิดของเด็กประถม 3 : จึงอาจเป็นการวาดภาพนก 25 ตัว ซึ่งเด็กจะพบว่า ขาได้ถูกใช้ไปเพียง 50 ขาเท่านั้น (25 x 2) เหลือขาที่ยังไม่ได้ใช้อีกตั้ง 18 ขา (68 - 50) เด็กก็จะเอาขาที่เหลือนั้นไปใส่ให้กับนกทีละ 2 ขา เพื่อเปลี่ยนให้นกกลายเป็นยีราฟ เมื่อทำไปเรื่อยๆ เด็กก็พบว่ามีสัตว์อยู่ 9 ตัวที่มีขา 4 ข้าง ส่วนอีก 16 ตัวนั้นมีขา 2 ข้าง นั่นคือที่มาของคำตอบว่า มีนกยูง 16 ตัว และมียีราฟ 9 ตัว ในสวนสัตว์แห่งนี้
After School แปลกที่แตกต่าง
จากคำบอกเล่าของ มร.ปาร์ค ยังทำให้ทราบอีกด้วยว่า ค่านิยมด้านการเรียนวิชาต่างๆ ของครอบครัวชาวเกาหลีใต้มีสิ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ การมีโรงเรียนในรูปแบบ After School สำหรับเด็กๆ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากโรงเรียนกวดวิชาสไตล์ไทยๆ โดยโรงเรียนแนว After School นั้นเริ่มรับเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีหลายวิชาให้เลือกเรียน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาเกาหลี ภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่การสอนจะใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย และสอนเพื่อสร้างความเข้าใจในวิชานั้นๆ แต่จะไม่เน้นเรื่องเทคนิคการทำคะแนนให้ได้มากๆ เพื่อการสอบเข้า เช่น การตัดตัวเลือกที่ไม่น่าจะเป็นคำตอบของโจทย์ แบบที่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งนิยมฝึกเด็ก
ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของโรงเรียนในรูปแบบ After School มาจากปัญหาในระบบการเรียนการสอน ที่ทุกประเทศต่างพบเจอนั่นก็คือ การที่ให้เด็กเก่งและเด็กไม่เก่งเรียนคละกัน
"เด็ก อ่อนต้องเรียนร่วมกับเด็กเก่ง ดังนั้น หากคุณครูสอนไว เด็กที่เข้าใจช้าก็จะตามไม่ทัน แต่ถ้าสอนช้า เด็กที่หัวไวก็จะเบื่อ เพราะเรียนไม่สนุก นอกจากนั้น ในการเรียนคณิตศาสตร์ (รวมถึงการเรียนในทุกวิชา) ยังขาดระบบประเมินผลเด็กว่ามีจุดอ่อนในด้านใด ครูและผู้ปกครองอาจทราบแค่เพียงว่าเด็กคนนี้อ่อนคณิตศาสตร์ แต่อ่อนตรงไหน อย่างไร ไม่มีใครทราบ ดังนั้นจึงไม่สามาถแก้ไขปัญหาให้เด็กได้อย่างถูกจุด"
โรงเรียนแนว After School จึงเข้ามารับปัญหานี้ไปแก้ไข โดยการจัดการสอนสำหรับเด็กตามกลุ่มความสามารถ เด็กเก่งได้เรียนเทคนิคแนวคิดใหม่ๆ เด็กเรียนช้าได้มีเวลาปูพื้นฐานให้แน่น และมีการจัดทำระบบประเมินผลเด็ก หาจุดอ่อนของเด็กเพื่อทำการแก้ไข
"เพราะเด็กๆ มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่แตกต่างกัน จึงควรมีการประเมินความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ และจัดบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความรู้ เมื่อเริ่มต้นเรียนคณิตศาสตร์อาจเริ่มต้นจากการเรียนทฤษฎี การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ฝึกความแม่นยำ และนำมาประเมินความสามารถเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเด็ก" มร.ปาร์คกล่าว
คณิตศาสตร์แนว Why ?
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์ในปัจจุบันยังมีอยู่ อย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาหลักที่พบยังคงเป็นเรื่องของจำนวนเด็กๆ ที่ไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศาสตร์ต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะศาสตร์บางแขนงที่มีวิชาคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน เช่น วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การขาดบุคลากรจึงทำให้การต่อยอดความรู้ในสาขาต่างๆ ต้องน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เมินคณิตศาสตร์นอกจากจะเกิดขึ้นจากการเรียน คละกันตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังเกิดจาก "ความไม่เข้าใจ" ถึงความจำเป็นในการเรียนคณิตศาสตร์ด้วย
"สิ่งที่ผิดพลาดของการเรียนคณิตศาสตร์ในอดีตอาจเป็น เรื่องของการใช้คำถาม What ? ไปถามเด็ก ปฏิบัติกับเด็กเป็นเหมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์อย่างหนึ่งในการหาคำตอบออกมา แต่แนวทางในการสอนคณิตศาสตร์ของเราที่คิดค้นขึ้นและใช้สอนกับเด็กๆ ในเกาหลีใต้ก็คือ เราจะไม่ถามคำถาม What ? กับเด็ก เพราะคำถาม What ? เราสามารถหาคำตอบได้จากเครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ตอบคำถาม What ?"
"สิ่งที่เราจะถามกับเด็กคือ Why ? เห็นได้จากโจทย์คณิตศาสตร์ของเราคือ Why ? เด็กมีโอกาสได้คิดถึงกระบวนการในการหาคำตอบ ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน ได้คิด วิเคราะห์ หาเหตุผลมาตอบคำถาม ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เครื่องจักรทำไม่ได้"
ซึ่งก่อนจะจากกัน มร.ปาร์คได้กล่าวถึงความสำเร็จของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมโลกเอาไว้ประการหนึ่ง มีใจความว่า
"เกาหลีใต้มีบริษัทอย่างแอลจี ซัมซุง เพราะเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งรากฐานของการก่อตั้งบริษัทที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนแล้วต้อง อาศัยความเข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์ หากเยาวชนในประเทศมีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ดี มีความเข้าใจ ก็จะทำให้เกิดวิศวกรที่ดีตามมา และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ได้"
-
2158 การเรียนคณิตศาสตร์แนว Why จากแดนโสม /article-mathematics/item/2158-mathematics611เพิ่มในรายการโปรด