รหัสมอร์ส (Morse code) สัญลักษณ์สื่อสารสากล..ที่ไม่มีวันตาย!!!
見捨てろ? ・ ・– –・– – – –・–・–・– –・–・–
助けるな?–・– – –・– –・– – –・– –・ ・– ・
ทิ้งผมไว้
ไม่ต้องช่วย !!
นายเคนจิ โกโตะ (Kenji Goto) นักข่าวชาวญี่ปุ่นผู้ถูกกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State: IS) จับเป็นตัวประกัน ก่อนที่เขาจะสังเวยชีวิตให้กับผู้ก่อการร้ายนั้น มีคนได้สังเกตเห็นความผิดปกติบนใบหน้าของโกโตะ เหมือนว่าเขากำลังพยายามส่งสัญญาณบางอย่างด้วยการกระพริบตาเป็นจังหวะ เมื่อมีผู้ตรวจสอบจึงพบว่าเขาได้กะพริบตาเป็นจังหวะของรหัสมอร์สที่เป็นข้อความว่า “ทิ้งผมไว้” และ “ไม่ต้องช่วย” ซึ่งคาดกันว่าโกโตะน่าจะเรียนรู้รหัสมอร์สเพื่อใช้ในการทำข่าวในพื้นที่เสี่ยง
แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโกโตะส่งรหัสมอร์สหรือไม่ แต่ที่แน่ๆถ้าเป็นรหัสที่เขาทิ้งไว้จริงๆ เคนจิ โกโตะ ก็น่าสรรเสริญเพราะเป็นผู้ที่ยอมเสียสละเพื่อประเทศอย่างแท้จริง
รหัสมอร์ส หรือ Morse code นั้นคิดค้นขึ้นโดยซามูเอล ฟินลีย์ บรีส มอร์ส (Samuel Finley Breese Morse) นักวาดภาพชาวอเมริกัน ในปีพ.ศ. 2380 เป็นการส่งข้อความด้วยสัญญาณสั้นยาวโดยใช้สัญลักษณ์จุดและขีด แทนตัวอักษรต่างๆที่กำหนดไว้เป็นสากล เช่น A แทนด้วย ・– B แทนด้วย – ・・ C แทนด้วย – ・ – ・ D แทนด้วย – ・・ เป็นต้น
Samuel Finley Breese Morse, 1840
ที่ผ่านมาใช้รหัสมอร์สในการสื่อสารระยะไกลแทนข้อความหรือตัวอักษรโดยเฉพาะระบบโทรเลข และกำหนดให้เป็นมาตรฐานระดับนานาชาติภายใต้ชื่อรหัสมอร์สสากล โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ แต่ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงยังใช้รหัสนี้เพื่อส่งข่าวสารในยามคับขันด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้ไฟกะพริบ การเคาะจังหวะ หรือแม้แต่การกะพริบตา
นอกจากโกโตะแล้วก่อนหน้านี้ เจเรอาห์ เดนตัน นายพลของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ถูกเวียดนามเหนือจับเป็นเชลยตั้งแต่ปี 1996 ก็ใช้โอกาสที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ส่งรหัสไปถึงกองทัพและรัฐบาลสหรัฐว่าเชลยชาวอเมริกันถูกทรมานด้วยการกะพริบตาส่งรหัสมอร์สเป็นคำว่า “Tortue”
วิวัฒนาการรหัสมอร์สของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของรหัสมอร์สในประเทศไทยคือ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่ได้ทรงนำระบบโทรเลขรหัสมอร์สเข้ามาใช้ ระยะเริ่มแรกของรหัสมอร์สเป็นตัวอักษรโรมันทำให้การสื่อสารล่าช้าและเกิดความผิดพลาดได้เมื่อต้องการส่งข้อความภาษาไทย จึงได้มีการคิดค้นรหัสมอร์สภาษาไทยขึ้นและประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๕
การนำไปใช้งาน รหัสมอร์สได้ถูกนำไปใช้งานหลายด้านดังนี้
1. การสื่อสารด้านโทรเลข
การส่งโทรเลขเป็นการนำรหัสมอร์สมาใช้ทั้งแบบที่ส่งสัญญาณตามสาย และแบบที่ส่งสัญญาณเป็นคลื่นวิทยุ โดยเฉพาะบริการโทรเลขเชิงพาณิชย์ ในระยะแรกใช้หลักการรหัสสัญญาณสั้นกับยาวแทนตัวอักษร จึงต้องมีพนักงานโทรเลขที่ท่องจำรหัสมอร์สได้เป็นอย่างดี แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นหลักการของสัญลักษณ์จุดและขีดที่สามารถใช้เครื่องมือส่งและรับได้อัตโนมัติทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. วิทยุสมัครเล่น
การสื่อสารของวิทยุสมัครเล่น (Armature Radio) ใช้รหัสมอร์สเรียกว่า “Ham Radio” โดยมีคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communication Commission:FCC) ควบคุมดูแล มีการนำไปใช้งานในหลายด้านเช่น การติดต่อสื่อสารกันเพื่อสร้างมิตรภาพ การช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยพิบัติ การช่วยให้นักวิทยุสมัครเล่นต่างชาติสามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นด้วยภาษากลางคือรหัสมอร์ส เป็นต้น
โดยใช้หลักการของรหัสมอร์สในการส่งสัญญาณเสียงจากโทนเสียงที่มีอยู่ในเครื่องรับส่งวิทยุหรือวงจรกำเนิดเสียงซึ่งใช้จังหวะเสียงสั้นแทนจุดและเสียงยาวแทนขีด ทำให้นักวิทยุสมัครเล่นต้องชำนาญในการฟังรหัสมอร์สเพื่อตีความออกมาเป็นข้อความต่อไป
3. รหัสมอร์สเสมือนกับโทรศัพท์เคลื่อนที่
โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้นำหลักการเชิงสัญลักษณ์คล้ายกับรหัสมอร์สมาใช้ในการส่งข้อความสั้น (Short Message Service : SMS) และฟังก์ชันการทำงานอื่นๆ ด้วยการกดแป้นพิมพ์รวมทั้งการกำเนิดสัญญาณเสียงและจากการสั่นของเครื่องก็สามารถนำมาใช้แทนความหมายของข้อความได้ เช่น การใช้แป้นพิมพ์ที่มีจำนวนจำกัดถึงสัญลักษณ์ที่มีจำนวนมากกว่าจึงใช้การกดแป้นพิมพ์ที่แตกต่างกัน ของจำนวนครั้งและระยะเวลาแทนสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับขีดสั้นยาวของรหัสมอร์ส เช่น การกดปุ่มเพื่อสร้างตัวอักษร “ร” รวมทั้งการสั่นของเครื่องเมื่อมีสัญญาณเรียกเข้า วัตถุประสงค์ต่างๆ อาจแทนได้ด้วยระยะเวลาสั้นยาวของการสั่น เป็นต้น
4. การสื่อสารทางทะเล
หลักการเชิงสัญลักษณ์ คล้ายกับรหัสมอร์สได้ถูกนำไปใช้งานในการสื่อสารทางทะเล เพื่อติดต่อสื่อสารกันระหว่างเรือ เช่น ในเวลากลางวันใช้สัญญาณธงและสัญญาณเสียง ดังตัวอย่าง การส่งข้อความ “ขอความช่วยเหลือ” หรือ “SOS” ซึ่งประกอบด้วยสัญญาณเสียงสั้นสามครั้ง สัญญาณเสียงยาวสามครั้งและตามด้วยสัญญาณเสียงสั้นสามครั้ง เป็นต้น ส่วนเวลากลางคืนอาจใช้การส่งสัญญาณไฟที่สามารถสังเกตเห็นได้ในระยะไกลซึ่งการส่งสัญญาณสั้นจะใช้การเปิดแผงกั้นโคมไฟแค่เสี้ยวนาที และการส่งสัญญาณยาว จะเปิดให้นานขึ้นหรืออาจมีการใช้งานผสมกับสื่อแบบฟังแบบใช้เสียง และแสงก็ได้
แม้ว่าปัจจุบันการสื่อสารในรูปแบบโทรเลขจะไม่เป็นที่นิยมแล้ว แต่ก็ยังมีการใช้งานรหัสมอร์สอย่างมากในวงการวิทยุสมัครเล่น การติดต่อบางรูปแบบรหัสมอร์สยังสามารถใช้งานได้ดีที่สุด เช่นการติดต่อ สะท้อนออโรรา เป็นต้น ข้อดีอีกประการของการติดต่อแบบรหัสมอร์สผ่านวิทยุสื่อสารคือ ใช้แถบความถี่น้อยมากเมื่อเทียบกับการสื่อสารระบบอื่นๆ เป็นการประหยัดความถี่ และสามารถใช้งานพร้อมๆกันได้โดยไม่มีการรบกวนกัน
ที่มาจาก
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Samuel_Morse
2. http://goo.gl/PFnsv1
3. http://www.thaitelecomkm.org/TTE/topic/attach/Morse_Codes/index.php
4. รายงานพิเศษเรื่อง “จับสัญญาณ เคนจิ โกโตะ กะพริบตาส่งรหัสมอร์สก่อนตาย” จากหนังสือพิมพ์ M2F ฉบับวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
5. https://www.youtube.com/watch?v=P02YqvinbMs
รูปจาก
http://f.ptcdn.info/372/025/000/1415506377-2742552151-o.gif
http://www.rmutphysics.com/charud/oldnews/182/Telegraph13.gif
http://www.rfcafe.com/references/qst/images/japanese-morse-telegraph-code-sep-1942-qst-2.gif
http://media.smithsonianmag.com/images/history-nov06-388.jpg
-
4688 รหัสมอร์ส (Morse code) สัญลักษณ์สื่อสารสากล..ที่ไม่มีวันตาย!!! /index.php/article-mathematics/item/4688-morse-codeเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง