สืบจากการ์ตูนโคนัน Holmes และ CSI (ตอนที่2) การให้เหตุผลแบบ Abductive
สืบจากการ์ตูนโคนัน Holmes และ CSI (ตอนที่2) การให้เหตุผลแบบ Abductive
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้นส่วนมากมีการคิดทฤษฎีขึ้นมาใหม่ๆ จากการตั้งสมมติฐาน ตั้งปัญหา กำหนดตัวแปรต่างๆ กำหนดวิธีการทดลอง ทดลองเพื่อหาข้อสรุป และวิเคราะห์ ซึ่งเป็นลักษณะของการใช้แนวคิดแบบอุปนัย (Inductive Reasoning) การให้เหตุผลโดยการนำความรู้พื้นฐานซึ่งอาจเป็นความเชื่อ ข้อตกลง กฎ หรือบทนิยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้มาก่อนและยอมรับว่าเป็นจริงมาประกอบเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่นอน เช่นนี้เรียกว่าเป็นการใช้เหตุผลแบบนิรนัย (Deductive Reasoning) คือเอาสิ่งที่แน่นอนมาอธิบายสิ่งที่แน่นอน แต่ในทางปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์นั้นแนวคิดเหล่านี้ใช้ไม่ได้เสมอไป เพราะบางอย่างไม่มีทฤษฎีและข้อสรุปที่แน่นอน
จึงมีแนวคิดอีกแบบที่เรียกว่า Abductive Reasoning ซึ่งยังไม่มีคำนิยามเป็นภาษาไทย คือการคาดเดาสาเหตุที่จะอธิบายข้อเท็จจริงจากการสังเกต เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) ตัวเอกจากนวนิยายสืบสวนของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ หรือแม้แต่โคนันจากการ์ตูนโคนันเจ้าหนูยอดนักสืบ ได้ใช้การให้เหตุผลเช่นนี้ในการสืบหาความจริงบางอย่างเช่นกัน
“Roughly speaking, abduction is about finding explanations for observed facts … Equally roughly speaking, induction is about finding general rules covering a large number of given observations.”
ก่อนที่เราจะมาทราบกันว่าทั้ง 2 ตัวละครนี้ใช้การให้เหตุผลแบบ Abductive Reasoning ในเรื่องใดบ้าง ลองมาทำความเข้าใจกับตัวอย่างการให้เหตุผลทั้ง 3 แบบกันก่อน
1. แนวคิดแบบอุปนัย หรือ Inductive Reasoning นั้นเป็นแนวคิดในยุคสมัยใหม่ ที่คนให้ความสำคัญกับศักยภาพของตน สามารถหาความรู้ความจริงได้จากการคิดหาเหตุผล และการสังเกต รวบรวมข้อมูลขึ้นมาและบัญญัติเป็นทฤษฎี ซึ่งเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง
2. แนวคิดแบบนิรนัย Deductive Reasoning ("top-down" logic) นั้นเป็นการใช้เหตุผลที่มีมาตั้งแต่เริ่มประวัติศาสตร์ โดยเป็นการคิดหาเหตุผลหรือความรู้มาอธิบายโลกและชีวิต แนวคิดนี้อธิบายได้ว่าคือการที่ผู้วิจัยมีแนวคิดที่กําหนดไว้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจจะมาจาก ทฤษฎีหรืองานวิจัยเก่าๆ จากประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายๆเรื่องมารวมกัน แล้วนําแนวคิดนั้นมาสร้างสมมติฐาน และเมื่อสร้างสมมติฐานแล้วนักวิจัยก็จะรู้ว่ามีตัวแปรใดบ้าง หลังจากนั้นก็ทําการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนํามาวิเคราะห์แล้วดูว่าผลการวิเคราะห์ที่ได้นั้นขัดแย้งหรือเป็นไปในทางเดียวกันกับแนวคิดที่ตั้งไว้ในตอนแรกหรือไม่อย่างไร ถ้าข้อสมมติฐานถูก รายละเอียดต่างๆชัดเจน และเป็นไปตามกฎตามตรรกศาสตร์แบบนิรนัย เมื่อนั้นข้อสรุปที่ได้จะถือว่าเป็นจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เมื่อ A = B B = C ดังนั้น A = C ตัวอย่างข้อพิสูจน์แบบนิรนัย
"มนุษย์ทุกคนต้องตาย"
"โซกราตีสเป็นมนุษย์"
"ดังนั้นโซกราตีสต้องตาย"
Charles Sanders Pierce
3. แนวคิดแบบ Abductive นั้น ชาร์ลส์ แซนเดอร์ เพียส (Charles Sanders Pierce) บิดาแห่งแนวคิดนี้ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิดนี้คือการยืนยันว่าทุกสิ่งที่เรารู้นั้นสามารถคาดเดาได้จากความรู้ที่มีมาก่อนหน้า เพราะเราไม่สามารถรู้ได้โดยสัญชาตญาณ (สัญชาตญาณในที่นี้ต้องเป็นสิ่งหรือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือไม่มีประสบการณ์ใดๆมาก่อน) ผู้ที่ใช้แนวคิดนี้เนื่องจากสามารถมีเหตุผลมากมายที่จะมาอธิบายเหตุการณ์ต่างๆได้ จึงต้องทำการคาดเดา ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจริงหรือไม่จริง การสังเกตกระเป๋าสตางค์ ไม้เท้า การแสดงโชว์ในทีวี โทรศัพท์มือถือ แล้วบ่งชี้ความเป็นเจ้าของว่าใช่หรือไม่ ด้วยความถนัดของมือ การใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาของพฤติกรรมการบริโภค เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของการใช้แนวคิดนี้ ซึ่งจะได้ข้อสรุปที่กว้างอธิบายอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่จำกัด เช่น
- C จะเกิดขึ้นเมื่อ A เป็นจริง หรือ C อาจจะเกิดขึ้นเมื่อ A อาจจะเป็นจริง หรือ
- ส่วนใหญ่เหตุการณ์ C จะเกิดขึ้นเมื่อ A เป็นจริง และเหตุการณ์ D ก็จะเกิดขึ้นเช่นกันเมื่อ A เป็นจริง ดังนั้นทั้งเหตุการณ์ C และ D จะเกิดขึ้นหาก A เป็นจริง ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริง อาจจะถูกหรือไม่ถูกก็ได้
Sherlock Holmes
คราวนี้กลับมาดูตัวอย่างจากนิยายแนวสืบสวนไม่ว่าจะเป็น CSI เชอร์ล็อค โฮล์มส์ หรือการ์ตูนโคนัน ที่มักมีรายละเอียดการทำงานหลายๆอย่างที่ใช้แนวคิดแบบ Abductive ที่นอกเหนือการคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่เป็นอุปนัย เช่น
• ตัวอย่างจากซีรีย์เชอร์ล็อค โฮล์มส์
"โทรศัพท์ของหมอวัตสันมีรอยขีดข่วนรอบๆช่องชาร์ตแบต"
"คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มักมีปัญหาเวลาต้องเสียบอะไรที่เป็นช่องขนาดเล็ก จึงทำให้มีรอยขีดข่วนรอบๆช่อง"
"ดังนั้นเป็นไปได้ที่คนที่ให้โทรศัพท์กับหมอวัตสันน่าจะติดแอลกอฮอล์"
• ตัวอย่างจากทั้งซีรีย์เชอร์ล็อค โฮล์มส์ และการ์ตูนโคนัน
"ผู้ชายคนนี้มีขนสั้นสีขาวติดอยู่ทั่วขากางเกง"
"สุนัขขนสั้นสีขาวทิ้งขนไว้ติดกางเกงของเขา"
"เป็นไปได้ว่าผู้ชายคนนี้เป็นเจ้าของสุนัขหรือไปสัมผัสสุนัขมา"
• หรือการทายอาชีพของคนไม่รู้จักจากลักษณะของมือ
ในชีวิตประจำวัน นอกจากนักสืบแล้วอาชีพที่ต้องใช้เหตุผลแบบ Abductive ก็คือ
นักกฎหมาย แพทย์ นักสถิติ ด้วยเช่นกัน
เรื่องจาก:
http://en.wikipedia.org/wiki/Deductive_reasoning
http://ireo.bu.ac.th/km/images/stories/fruit/introresearch.pdf
http://goo.gl/V0tNs2
http://www.inquiringmind.in.th/archives/1406
http://www.kon.org/archives/forum/19-1/mcgregor4.html
http://www.actian.com/about-us/blog/sherlock-holmes-sexy-data-scientist/
http://goo.gl/RykIxO
ภาพจาก:
http://www.12manage.com/images/picture_abductive_reasoning.jpg
http://en.wikipedia.org/wiki/File:Sherlock_Holmes_Portrait_Paget.jpg
https://www.youtube.com/watch?v=_9hHPKezG5k#t=271
http://catooncomic.blogspot.com/2012/08/conan-1.html
-
4706 สืบจากการ์ตูนโคนัน Holmes และ CSI (ตอนที่2) การให้เหตุผลแบบ Abductive /article-mathematics/item/4706-holmes-csi-2-abductiveเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง