คณิตศาสตร์นอกตำรา: ระบบเลขฐานสิบในตลาดนัดโคกระบือ (กรณีศึกษา)
คณิตศาสตร์นอกตำรา: ระบบเลขฐานสิบในตลาดนัดโคกระบือ (กรณีศึกษา)
นายปรีชากร ภาชนะ ตำแหน่ง ครู คศ. 1
ตลาดนัดโคกระบือ เป็นนวัตกรรมด้านการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของชุมชนการเกษตรด้านการเลี้ยงสัตว์และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งพบเห็นว่ามีการเปิดตลาดนัดเพื่อการซื้อ ขายและแลกเปลี่ยนโคกระบือในทั่วทุกภาคของประเทศไทย อีกทั้งมีระบบการบริหารจัดการที่สร้างขึ้นในลักษณะเฉพาะ มีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรมการซื้อ ขายและแลกเปลี่ยนที่แตกต่างไปจากระบบการค้าขายอื่นๆ (จรัส สุวรรณมาลาและคณะ, 2547) โดยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดนัดโคกระบือ จะมีความคุ้นเคยและรู้จักเป็นอย่างดี มีลักษณะเฉพาะและมีความเป็นกลุ่มเดียวกันโดยพิจารณาจากภาษา คำศัพท์หรือวิธีการค้าขายที่เป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสารหรือสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจร่วมกัน หากคนที่ไม่เคยเข้าไปในตลาดนัดโคกระบือแล้วจะเห็นว่าเป็นภาษาหรือวิธีการค้าขายที่ยากต่อการทำความเข้าใจ
ทั้งนี้จากการลงสนามพื้นที่จริงในตลาดนัดโคกระบือ บ้านหนองแวง ตำบลโอโล อำเภอ ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเปิดทำการมาแล้ว 20 ปี การศึกษาจากสถานที่และเหตุการณ์จริงในการซื้อ ขายและแลกเปลี่ยนโคกระบือในตลาดนัด โดยเข้าไปเก็บข้อมูลจากการสังเกตบริบท สังเกตระหว่างการซื้อ ขายและการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วงเวลาที่ทำการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ในระหว่างการออกพื้นที่นั้นดำเนินการบันทึกข้อมูลและดำเนินการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลที่ได้ว่ามีความเพียงพอที่จะตอบคำถามในการศึกษาครั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มีลักษณะเป็นคำพูดและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเก็บข้อมูล โดยการดำเนินการศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ว่า กลุ่มคนในตลาดนัดโคกระบือ มีวิธีการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจร่วมกันอย่างไรและอธิบายให้เห็นถึงแนวคิดคณิตศาสตร์ในการสื่อความหมายเหล่านั้น โดยการอธิบายให้เห็นแนวคิดคณิตศาสตร์ในมุมมองของคณิตศาสตร์ในโรงเรียน ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า
วิธีการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์มี 2 วิธีการได้แก่การใช้ภาษาพูดและคำศัพท์เฉพาะที่นำมาใช้การค้าขายโคกระบือและการใช้ท่าทางแสดงสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการสื่อความหมายเพื่อความเข้าใจในการค้าขายในตลาดนัดโคกระบือ ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้
วิธีการแรก มีการใช้ภาษาพูดที่ใช้ในการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบเลขฐานสิบมีใช้ในตลาดนัดโคกระบือความแตกต่างไปจากระบบเลขฐานสิบที่สอนในโรงเรียน ซึ่งจะเห็นได้จากคำศัพท์ที่ใช้และความหมายที่ได้จากการสังเกตและการสัมภาษณ์ เช่น
คำว่า เพียง หมายถึง 10,000 บาท
สิบแปด หมายถึง 18,000 บาท
สิบสามห้าร้อย หมายถึง 13,500 บาท
สิบสองน้อย หมายถึง 12,000 บาท
สิบสองใหญ่ หมายถึง 120,000 บาท
ในระบบเลขฐานสิบที่สอนในโรงเรียนมีสัญลักษณ์หรือเลขโดดที่ใช้ในระบบเลขฐานสิบมีสิบตัว คือ 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8และ 9 ตัวเลขเหล่านี้ใช้เขียนแทนจำนวนใดขึ้นอยู่กับหลักที่ปรากฏอยู่และค่าประจำหลักนั้น ซึ่งจะแสดงหลักและค่าประจำหลักในระบบเลขฐานสิบ
จากการศึกษานี้ คำพูดที่กล่าวถึงข้างต้นนำมาใช้ในการติดต่อ ค้าขายโคกระบือ เช่นคำว่า “สิบแปด (18)” จะเขียนกระจายในระบบเลขฐานสิบได้ดังนี้ 18 = (1´10) + (8´1) ค่าประจำหลักสิบคือ 10 และค่าประจำหลักหน่วย คือ 1 แต่ความหมายที่ใช้ในตลาดนัดโคกระบือนั้นสิบแปด (18) หมายถึง หนึ่งหมื่นแปดพัน ในหลักหน่วยค่าประจำหลักคือ 1,000 และหลักสิบค่าประจำหลักคือ 10,000 คำว่า สิบสองน้อย และสิบสองใหญ่จะใช้คำว่า “น้อย” หรือ “ใหญ่” แสดงค่าที่มากกว่าหรือน้อยกว่า คำว่า “สิบสองน้อย” หมายถึง 12,000 เขียนกระจายในระบบเลขฐานสิบ ดังนี้ (1´10,000) + (2´1,000) และคำว่า “สิบสองใหญ่” หมายถึง 120,000 เขียนกระจายในระบบเลขฐานสิบได้ดังนี้ (1´100,000) + (2´12,000) สำหรับในหลักร้อยและหลักพันนั้นในตลาดนัดโคกระบือ จะเหมือนกับที่สอนในโรงเรียนซึ่งค่าประจำหลักร้อยคือ 100 และค่าประจำหลักพัน คือ 1,000 ตามลำดับ ข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษานี้พบว่าในระบบเลขฐานสิบที่ใช้ในตลาดนัดโคกระบือนั้นจะใช้เพียงหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อยและหลักพัน สำหรับหลักพันค่าประจำหลักคือ 1,000 จะนำมาใช้บอกราคาโคกระบือที่มีราคา ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท สำหรับหลักร้อยค่าประจำหลักคือ 100 ซึ่งจะใช้พูดสำหรับราคาโคกระบือที่เป็นเศษของราคาที่เสนอ เช่น สิบสามห้ารอย สิบแปดห้าร้อย เป็นต้น ในส่วนของหลักหน่วยมีค่าประจำหลัก 1,000 และหลักสิบมีค่าประจำหลัก 10,000 ซึ่งทั้งสองหลักนี้จะต้องพูดติดกันหรือคู่กันเสมอ เช่น สิบเจ็ด หมายถึง หนึ่งหมื่นเจ็ดพัน ยี่สิบห้า หมายถึง สองหมื่นห้าพัน เป็นต้น และจะเห็นว่าในตลาดนัดโคกระบือ มีการใช้คำพูดเฉพาะแทนจำนวน เช่น คำว่า “พียง” หมายถึง 10,000 เป็นคำเฉพาะที่มีใช้ในตลาดนัดโคกระบือเท่านั้นและจะไม่ใช้แทนจำนวนอื่นอีก เช่นจะไม่ใช้คำว่า สองเพียง แทน 20,000 หรือ สามเพียง แทน 30,000
วิธีการที่สอง การใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ในการสื่อความหมายและสื่อความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอราคาขายโคกระบือ ซึ่งจากภาพที่ 1 ที่นำเสนอนี้เป็นวิธีการที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายแสดงให้เห็นว่าราคาของโคหรือกระบือมีราคา 20,000 บาท โดยคนที่เสนอราคาจะชูนิ้วมือสองนิ้วขึ้นเหนือศีรษะสองนิ้ว ซึ่งไม่ได้แสดงว่าแทนจำนวนสอง แต่สองนิ้วที่ชู้ขึ้นมานี้แสดงราคาโค กระบือ ราคา 20,000 บาท ซึ่งคนที่พบสัญลักษณ์ในตลาดนัดโคกระบือจะเข้าใจทันทีโดยที่ไม่ต้องถามราคาหรืออธิบายความหมาย หากผู้ซื้อหรือผู้ขายไม่พอใจราคาอย่างไรก็จะมีการต่อรองราคากันตามความพอใจอีกครั้งหนึ่ง วิธีการนี้แตกต่างจากภาษาพูดที่นำเสนอมาแล้วนั้นแต่ความหมายที่อธิบายด้วยระบบเลขฐานสิบจะเหมือนกับคำว่า ยี่สิบ (20) ที่เป็นภาษาพูดนั่นเอง
ภาพที่ 1 สัญลักษณ์แสดงการเสนอราคาโคกระบือ
สำหรับภาพที่ 2 มีความการใช้สัญลักษณ์แทนราคาโคกระบือ โดยชูนิ้วมือทั้งสองมือ ข้างหนึ่งชูหนึ่งนิ้วและอีกข้างหนึ่งชูสองนิ้ว จำนวนนิ้วมือที่แสดงนี้มีความหมายว่าราคาโคหรือกระบือมีราคา 12,000 บาท ซึ่งนิ้วหนึ่งที่ชูขึ้นมานั้นเท่ากับ 10,000 บาทและสองนิ้วที่ชูมานั้นเท่ากับ 2,000 บาท ความหมายที่อธิบายด้วยระบบเลขฐานสิบจะเหมือนกับคำว่า สิบสอง (12) ที่ภาษาพูดในตลาดนัดโคกระบือเหมือนกับที่กล่าวข้างต้นแล้ว จากการสัมภาษณ์สัญลักษณ์เหล่านี้ในตลาดนัดโคกระบือ จะเข้าใจว่าราคาเท่าไรและเป็นที่พอใจหรือไม่ เพราะมีการพิจารณาราคาที่เสนอกับขนาดของโค กระบือว่ามีความเหมาะสมกันหรือไม่
ภาพที่ 2 สัญลักษณ์แสดงการเสนอราคาโคกระบือ
ทั้งนี้จากที่กล่าวถึงเห็นว่าระบบเลขฐานสิบที่ใช้ในตลาดนัดโคกระบือและอธิบายความหมายแล้วนั้น แสดงให้เห็นถึงวิธีการและระบบการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารหรือสื่อความหมายร่วมกันของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในตลาดนัดโคกระบือ ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นเป็นเรื่องยากที่จะศึกษาให้รู้ได้ เพราะภาษาเฉพาะหรือวิธีการสื่อความหมายเหล่านี้มีใช้กันมาอย่างยาวนานและเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นหรือเป็นวิถีชีวิตเฉพาะของชุมชน จากการศึกษานี้ยังพบว่าระบบการค่าขาย ระบบเลขฐานสิบที่สร้างขึ้นในตลาดนัดโคกระบือมานี้เป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวก ภาษาพูดสั้นๆ และง่ายๆ ในการใช้งานและเกิดความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร สำหรับคนที่จะใช้หรือทำความเข้าใจระบบเลขฐานสิบในตลาดนัดโคกระบือนี้ได้ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากการติดต่อค้าขายจนเกิดความชำนาญและได้ใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีการสอนหรือฝึกเป็นพิเศษ จึงทำให้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับตลาดนัดโคกระบือมีความเข้าใจภาษาหรือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ร่วมกัน
ทั้งนี้จากการศึกษานี้จะเห็นว่าตลาดนัดโคกระบือ เป็นแหล่งการเรียนรู้เชิงบูรณาการหลากหลายสาขาวิชา ทั้งคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมศึกษา การงานอาชีพ เป็นต้น เราสามารถจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในแหล่งการเรียนรู้ที่อยู่ใกล้ตัวของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้คณิตศาสตร์ในบริบทที่แตกต่างไปจากบริบทการเรียนในโรงเรียนและอีกทั้งจัดการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตของคนในชุมชนและเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้คณิตศาสตร์ที่เรียนในโรงเรียนกับความรู้คณิตศาสตร์ที่อยู่ในบริบทของชีวิตชาวบ้าน
เอกสารอ้างอิง
จรัส สุวรรณมาลาและคณะ. (2547). นามานุกรมนวัตกรรมท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2547. พิมพ์ครั้งที่ 2.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2549). หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้
เพิ่มเติม คณิตศาสตร์ เล่ม 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
-
608 คณิตศาสตร์นอกตำรา: ระบบเลขฐานสิบในตลาดนัดโคกระบือ (กรณีศึกษา) /article-mathematics/item/608-decimal-systemเพิ่มในรายการโปรด