นำไม้ไผ่มาใช้ช่วยหาผลคูณ
จากความหมายของการคูณ 3 x 4 หมายถึง การนำ 4 มาบวกกัน 3 จำนวน หรือการหาผลรวมของจำนวนสิ่งของ กลุ่มละ 4 สิ่ง จำนวน 3 กลุ่ม กล่าวคือ 3 x 4 = 4 + 4 + 4 = 12 แสดงด้วยแผนภาพได้ดังนี้
ถ้าวางเส้นตอกไม้ไผ่ในแนวตั้ง 3 เส้น และวางเส้นตอกในแนวนอน 4 เส้น ให้ตัดกับเส้นตอกในแนวตั้ง จะมีจุดตัดเกิดขึ้น 3 แถว (ในแนวตั้ง) แถวละ 4 จุด รวมทั้งหมด 12 จุด ดังภาพ
กิจกรรมนี้ช่วยจุดประกายความคิดในการนำเส้นตอกไม้ไผ่มาใช้ช่วยหาผลคูณ ที่ทำให้เข้าใจความหมายของการคูณไปด้วยในตัวเอง เมื่อหาผลคูณของจำนวนคู่หนึ่งแล้ว ยังสามารถขยายแนวคิดโดยนำเส้นตอกนั้นมาใช้หาผลคูณของจำนวนคู่อื่น ๆ ได้อีก เช่น
การคูณจำนวนที่มีสองหลักกับจำนวนหลักเดียว
ถ้าเป็นการคูณจำนวนที่มีสองหลักกับจำนวนหลักเดียว ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างข้อตกลงก่อน
1) จำนวนไม้ไผ่ที่วางในแนวตั้งให้เป็นตัวตั้ง สำหรับจำนวนที่มีสองหลัก ให้จำนวนไม้ไผ่ทางซ้ายเป็นหลักสิบ และทางขวามือเป็นหลักหน่วย ดังในภาพ ไม้ไผ่ในแนวตั้งแสดงจำนวน 34
2) จำนวนไม้ไผ่ที่วางในแนวนอนให้เป็นตัวคูณ ในภาพเป็นการคูณ 34 กับ 2
ดังนั้น 34 x 2 เท่ากับ 6 สิบ กับ 8 หน่วย กล่าวคือ 34 x 2 = 68
อธิบายด้วยสมบัติการแจกแจง คือ 34 x 2 = (30 + 4) x 2
= (30 x 2) + (4 x 2)
= 60 + 8 = 68
ตัวอย่างต่อไปจะแสดงการหาผลคูณ 25 x 3
2 x 3 = 6 สิบ 5 x 3 = 15 หน่วย หรือ 1 สิบ กับ 5 หน่วย
ดังนั้น 25 x 3 เท่ากับ 6 สิบ กับ 15 หน่วย หรือ 6+1 สิบ กับ 5 หน่วย กล่าวคือ 25 x 3 = 75 อธิบายด้วยสมบัติการแจกแจง คือ 25 x 3 = (20 + 5) ´ 3
= (20 x 3) + (5 x 3)
= 60 + 15 = 75
การคูณจำนวนที่มีสองหลักกับจำนวนที่มีสองหลัก มีข้อตกลงดังนี้
1) จำนวนไม้ไผ่ที่วางในแนวตั้งให้เป็นตัวตั้ง สำหรับจำนวนที่มีสองหลัก ให้จำนวนไม้ไผ่ทางซ้ายเป็นหลักสิบ และทางขวามือเป็นหลักหน่วย
2) จำนวนไม้ไผ่ที่วางในแนวนอนให้เป็นตัวคูณ จำนวนไม้ไผ่ด้านบนเป็นหลักสิบ และด้านล่างเป็นหลักหน่วย ในภาพเป็นการคูณ 25 กับ 31
ผลคูณแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ จำนวนในหลักร้อย หลักสิบ และหลักหน่วย
25 x 31 = 6 ร้อย กับ 2 + 15 สิบ กับ 5 หน่วย
ดังนั้น 25 x 31 เท่ากับ 6 ร้อย กับ 17 สิบ กับ 5 หน่วย ซึ่งเท่ากับ 7 ร้อย กับ 7 สิบ กับ 5 หน่วย กล่าวคือ 25 x 31 = 775 อธิบายด้วยสมบัติการแจกแจง และสมบัติการเปลี่ยนกลุ่ม ดังนี้
25 x 31 = (20 + 5) x (30 + 1)
= {(20 + 5) x 30} + {(20 + 5) x1}
= {(20x 30) + (5 x 30)} + {(20x1) + (5x1) }
= (600 + 150) + (20 + 5)
= (600 + 100) + (50 + 20) + 5
= 700 + 70 + 5
= 775
แนวคิดในการคูณโดยใช้ไม้ไผ่นี้นักเรียนสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ตั้งแต่การสร้างโจทย์เอง การแสดงวิธีการหาผลคูณที่จับต้องได้ด้วยการวางไม้ไผ่ในแนวตั้งและแนวนอนให้ตัดกัน และการนำเสนอด้วยแผนภาพ ดังตัวอย่างผลงานของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) ซึ่งใช้ไม้ตะเกียบผ่าซีกแทนการใช้เส้นตอก การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างสื่อและนักเรียนสามารถแสดงได้ในแนวทางที่ถูกต้อง นอกจากจะเป็นสิ่งที่แสดงว่านักเรียนมีความเข้าใจมโนมติในเรื่องนั้นแล้ว ยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถของนักเรียนในการสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจถึงแนวคิดของตนเองอีกด้วย
การคูณโดยใช้ไม้ไผ่นี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติที่ทำให้เกิดความคงทนในการเรียนรู้ นอกจากนี้เมื่อนักเรียนได้ไปพบเห็นสิ่งที่คล้ายกันกับกิจกรรมในบทเรียน เช่น พบเห็น รั้วบ้าน หรือ ลายจักสานที่เป็นลายขัด นักเรียนก็จะระลึกถึงบทเรียนเกี่ยวกับการคูณได้
-
617 นำไม้ไผ่มาใช้ช่วยหาผลคูณ /article-mathematics/item/617-multipleเพิ่มในรายการโปรด