ตารางกราฟทศนิยมสองตำแหน่ง
กระดาษกราฟ คือ กระดาษที่มีตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ช่วยในการคัดลายมือภาษาไทย สร้างแผนภูมิ และช่วยในการร่างภาพสองมิติได้ง่ายขึ้น
ภาพที่ 1 บทความเรื่องตารางกราฟทศนิยมสองตำแหน่ง
ที่มา : ปิยวดี เอ่งฉ้วน
ปัจจุบันกระดาษกราฟมีความนิยมมากขึ้น โดยการนำไปช่วยในการการจดบันทึกต่าง ๆ เนื่องจากทำให้ตัวหนังสือที่เขียนมีขนาดเท่ากันดูสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย จะเขียนกราฟ หรือเขียนตารางก็สะดวก ซึ่งการจดบันทึกกับสมุดกราฟทำให้การขีดเขียนบันทึกมีความสนุกกว่าสมุด หรือกระดาษเปล่า
ภาพที่ 2 ทศนิยมสองตำแหน่ง คือ 0.50
ที่มา : ปิยวดี เอ่งฉ้วน
จากภาพที่ 2 ตาราง 100 ช่อง มีการระบายสีเพียง 50 ช่อง หมายถึง 50 ส่วนใน 100 ส่วนเท่ากัน เขียนในรูปทศนิยมเป็น 0.50
ภาพที่ 3 ทศนิยมสองตำแหน่ง คือ 0.95
ที่มา : ปิยวดี เอ่งฉ้วน
จากภาพที่ 3 ตาราง 100 ช่อง มีการระบายสีเพียง 95 ช่อง หมายถึง 95 ส่วนใน 100 ส่วนเท่ากัน เขียนในรูปทศนิยมเป็น 0.95
ตารางกราฟทศนิยมสองตำแหน่ง ทำให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ผลงานออกมาผ่านกระดาษกราฟ โดยเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องทศนิยม ตามขั้นตอน คือ ขั้นเริ่มต้น ให้ผู้เรียนแต่ละคนเขียนตาราง 100 ช่อง ในขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมาก เนื่องจากผู้เรียนเขียนตารางไม่ถูกต้อง ใช้เวลาในการลองผิดลองถูก จนกระทั่งเกิดความกระจ่างในการเขียนตาราง 100 ช่อง อย่างถูกต้อง ขั้นครุ่นคิด จากการลองผิดลองถูกทำให้ผู้เรียนใช้จิตนาการในการคิด ไตร่ตรอง เมื่อไม่ได้จริง ๆ ก็จะมีการใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อนในการครุ่นคิด ในขั้นตอนนี้ทำให้เกิดการแสวงหาคำตอบ ขั้นเกิดความคิด เมื่อผู้เรียนมีการแสวงหาคำตอบ จากเพื่อน จากการค้นคว้าจากหนังสือที่เรียน จะทำให้ผู้เรียนแต่ละคนได้สร้างสรรค์ผลงาน ในการระบายสีแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เนื่องจากการเกิดความคิดแต่ละคนอิสระ ขั้นปรับปรุง เมื่อมีการระบายสีลงไปตามจินตนาการ ผู้เรียนก็จะเริ่มที่จะเกิดความคิดในการระบายสีลงไปในช่องมีความถูกต้องตามโจทย์ที่ตั้งไว้หรือไม่ พร้อมทั้งมีการตกแต่งให้สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด
ภาพที่ 4 ทศนิยมสองตำแหน่ง คือ 0.54
ที่มา : ปิยวดี เอ่งฉ้วน
ภาพที่ 5 ทศนิยมสองตำแหน่ง คือ 0.95
ที่มา : ปิยวดี เอ่งฉ้วน
ตารางกราฟทศนิยมสองตำแหน่ง ทำให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ในระหว่างที่ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้สำเร็จนั้น ผู้เรียนจะต้องใช้สมาธิจดจ่อในการคิด หากไม่มีสมาธิผลงานจะไม่มีทางสำเร็จได้ ดังนั้นการใช้ตารางกราฟช่วยในการเรียนเรื่องทศนิยมยังช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
การใช้กระดาษกราฟมาช่วยทำให้เกิดการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การแสดงออกทางความคิดอย่างถูกต้อง การช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของผู้เรียน ทำให้เกิดสมาธิ รวมทั้งก่อเกิดการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ การยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ดังนั้นตารางกราฟทศนิยมสองตำแหน่ง เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจในคณิตศาสตร์พื้นฐาน รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล แสดงขั้นวิธีคิดอย่างมีระเบียบ ชัดเจน ทำให้ผู้เรียนรู้คุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์ สามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
แหล่งที่มา
ประยูร อาษานาม. (2537). การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษาหลักการและแนว ปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: ประกายพรึก
พนมพร เผ่าเจริญ. (2541). “การสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือ” ผลงานทางวิชาการการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.
กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. (2528). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ชมนาด เชื้อสุวรรณทวี. (2542). การสอนคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
พนทพร บุปผาวัลย์. (2534). ผลการฝึกสมาธิก่อนสอบซ่อมเสริมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์.ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาเอกประถมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
-
9595 ตารางกราฟทศนิยมสองตำแหน่ง /article-mathematics/item/9595-2018-12-13-07-53-33เพิ่มในรายการโปรด