รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 2 นักคณิตศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์
ในตอนที่ 1 เราได้รู้จักกับนักคณิตศาสตร์กันมาบ้างแล้วพอสมควร ในตอนนี้จะขอนำเสนอแง่มุมหนึ่งที่หลายคนสงสัยว่า นักคณิตศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ความสงสัยนี้ บางครั้งก็เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย กับประเด็นที่นักคณิตศาสตร์ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประเด็นดังกล่าวสร้างคำถามที่ว่า รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทำไมนักคณิตศาสตร์ถึงได้รับรางวัลนี้
ภาพประกอบบทความรอบรู้ประวัตินักคณิตศาสตร์
ที่มา https://pixabay.com/th , Clker-Free-Vector-Images
ไม่ใช่แค่ประเด็นเกี่ยวกับรางวัลเพียงเท่านั้น ในอดีตก็มีเหตุการณ์ให้เป็นที่วิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยมีการจัดการประชุมปรับปรุงหลักสูตรคณิตศาสตร์ ซึ่งได้มีการเชิญทั้งนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชื่อดังมาร่วมพิจารณาและปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นก็คือนักฟิสิกส์ท่านหนึ่งให้ข้อเสนอแนะว่า คงให้มีการยกเลิกให้นักศึกษาเรียนวิชา Group Theory เพราะไม่มีประโยชน์ต่อการศึกษาใด ๆ ต่อฟิสิกส์เลย แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับการอนุมัติ และนักศึกษาก็ยังคงเรียนวิชา Group Theory ต่อไป อีกทั้งในเวลา 15 ปีต่อมา Group Theory ก็ถูกพัฒนาจนเป็นรากฐานของทฤษฎีควอนตัมและทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ซึ่งเป็นเสาหลักของฟิสิกส์มาถึงปัจจุบันนี้
หลายคนให้ความคิดเห็นว่า คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานให้วิทยาศาสตร์นำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ในมุมหนึ่งก็กล่าวว่าแท้จริงแล้วตั้งแต่ในอดีตนักคณิตศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ก็คือคนคนเดียวกัน
บทบาทและความสำคัญของคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์
นักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ความเห็นและแนวคิดที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไว้หลายตัวอย่าง เช่น
Pythagoras ได้เคยเอ่ยว่า “คณิตศาสตร์เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจเอกภพ”
Johannes Kepler เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่ออย่างปักใจว่า “มนุษย์จะเข้าใจธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างโดยใช้คณิตศาสตร์เท่านั้น”
Kepler พบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ จากพื้นฐานความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์เกี่ยวกับเรขาคณิตวิเคราะห์
Galileo กล่าวว่ากฎต่าง ๆ ในธรรมชาติจะปรากฏในรูปของสมการคณิตศาสตร์ และ “พระเจ้าเป็นนักคณิตศาสตร์”
James Clerk Maxwell กับทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการรวบรวมกฎของ Faraday ของ Ampere ของ Gauss และสมบัติการไร้ขั้วแม่เหล็กเดี่ยวในธรรมชาติมาสังเคราะห์ด้วยเทคนิคคณิตศาสตร์
จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอาจแสดงให้เห็นว่า นักวิทยาศาสตร์ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาทดลองและวิจัยเพื่อจะเข้าใจธรรมชาติ (ทั้งกายภาพและชีวภาพ) บนพื้นฐานโดยการนำความรู้หลักการทางด้านคณิตศาสตร์จำนวนมากและหลากหลายรูปแบบเข้ามาช่วยในการคำนวณ และสร้างทฤษฎีใหม่ ในการสร้างกฎธรรมชาติตามทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์
ลักษณะเด่นของนักคณิตศาสตร์ที่สำคัญที่แตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์
นักคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการทดลองมากนัก แต่เป็นผู้ซึ่งมีลักษณะแห่งการใช้เหตุและผลเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรนั้น การทดลอง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว แต่สำหรับนักคณิตศาสตร์แล้วแต่ละทฤษฎีบทถือเป็นความจริงอย่างที่สุดเลยทีเดียว
ในตอนที่ 3 มาเริ่มต้นทำความรู้จักกับนักคณิตศาสตร์คนสำคัญ คนแรกจะเป็นใครนั้นโปรดติดตามตอนต่อไป
แหล่งที่มา
นักคณิตศาสตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561.จาก https://th.wikipedia.org/wiki/นักคณิตศาสตร์
สุทัศน์ ยกส้าน.บทบาทและความสำคัญของคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์.สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561.จาก https://mgronline.com/science/detail/9540000149053
-
9600 รู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ตอนที่ 2 นักคณิตศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ /article-mathematics/item/9600-2เพิ่มในรายการโปรด