อากาศร้อนกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต ตอนที่ 1
อากาศร้อนทุกที่ในประเทศไทย ไปที่ไหนก็ร้อนไปหมด ทำให้อัตราการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงขึ้น แทบจะบอกได้ว่าเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว แต่หลายคนจะพูดว่า “อากาศร้อน แต่พอเห็นค่าไฟแล้วจะหนาว” หรือ “ร้อนตัวยังไม่เท่าร้อนใจ” แต่ถึงอย่างไรอากาศร้อนก็ยังไม่เป็นที่สบายใจสบายตัวอยู่ดี
ทำไมอากาศช่วงนี้จึงร้อน นั่นเป็นเพราะเป็นช่วงที่โลกโคจรโดยเอียงส่วนที่เป็นประเทศไทยหันไปใกล้ดวงอาทิตย์ เราต้องระลึกเสมอว่าโลกนั้นเอียงประมาณ 23 ถึง 23.5 องศา แต่ในการโคจรนั้นจะโคจรเป็นวงรี และมีส่วนที่ซีกโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ นั่นก็คือในช่วงเดือนเมษายนนี่เองทำให้ประเทศในแถบซีกโลกเหนือร้อนมีอากาศร้อน แต่ในประเทศแถบซีกโลกใต้จะมีอุณหภูมิที่ตรงข้ามกัน คือ ช่วงนี้คือมีอากาศเย็น ยิ่งซีกโลกเหนือร้อนมากเท่าไร ซีกโลกใต้ก็จะหนาวมากเท่านั้น หรือ ถ้ายิ่งร้อนนานเท่าไร ก็จะหนาวเย็นมากเท่านั้น
ภาพสภาพอากาศแปรปรวน
ที่มา https://pixabay.com , Pornphat
ในประเทศพม่าหรืออินเดียอุณหภูมิสูง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิร่างกายคนเราที่อยู่ที่ 37.5 องศาเซลเซียส เสียอีก ภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ทำให้อุณหภูมิร่างกายอาจจะรู้สึกร้อนจนมีอาการเป็นไข้ขึ้นมาด้วยก็ได้ อาการไข้ลมแดด หรือ Heat Stroke มักเป็นกันมากในช่วงนี้
คนเราก็จะมีวิธีคลายความร้อนต่างกันไป ใครที่อยู่บ้านเรือนไทยยกพื้นสูงก็จะนั่งทำงานอยู่ใต้ถุนเรือนไทยซึ่งพอคลายความร้อนได้ หรือจะอาบน้ำเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายลงเพื่อบรรเทาความร้อน
ในสัตว์เลี้ยงที่บ้านเราจะเห็นพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างสุนัข ในช่วงฤดูร้อนจะมักนอนลิ้นห้อยออกมาและกินน้ำบ่อยกว่าปกติ นั่นเป็นเพราะว่าสุนัขไม่มีต่อมเหงื่อในการระบายความร้อน คงไม่มีใครเคยเห็นสุนัขเหงื่อออกแบบคนแน่นอน หรือ สุนัขและแมว เวลานอนจะนอนยกขาหลัง หรือนอนราบติดไปกับพื้น นั่นเป็นเพราะต้องการระบายความร้อนออกจากร่างกายจากบริเวณหน้าท้องที่ไม่มีขนปกคลุม เพื่อระบายความร้อนในร่างกายออกไป
วิธีคลายความร้อนแบบสัตว์เลือดเย็นอื่น ๆ คือ การปรับตัวให้อยู่เข้ากับอุณหภูมิภายนอก....ถึงตรงนี้ไม่ใช่ว่าพออุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสแล้วสัตว์เลือดเย็นจะปรับตัวให้เท่ากัน คงไม่ใช่แน่ สัตว์เลือดเย็นจะไปอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการอยู่รอด ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสภาวะแวดล้อม สัตว์เหล่านี้สามารถปรับอุณหภูมิร่างกายได้โดยไปอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
แต่ก็มีบางประเภทที่มีการนอนตากแดด เช่น สัตว์จำพวกงูและจิ้งเหลน จะออกตากแดดในตอนเช้าเพื่อจะเพิ่มอุณหภูมิในตัวให้สูงขึ้น แต่อากาศร้อนเกินไป ก็จะหลบเข้าไปในที่เย็น ๆ เช่น ใต้ก้อนหินและร่มไม้ในรู เป็นต้น การปรับอุณหภูมิเช่นนี้ถือว่าเป็นการปรับตัวทางด้านพฤติกรรม ไม่ใช่การปรับตัวทางด้านสรีระ สัตว์จำพวกกบ อึ่งอ่าง คางคก เมื่ออากาศร้อนหรือในฤดูร้อน มันจะซ่อนตัวอยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว ทั้งนี้อัตราเมตาโบลิซึมต่ำลง อุณหภูมิในร่างกายลดลง และใช้อาหารที่สะสมไว้ในร่างกายอย่างช้า ๆ สภาพเช่นนี้เรียกว่า จำศีล แต่ถ้าอากาศหนาวเย็นหรือในฤดูหนาว สัตว์พวกนี้จะอยู่นิ่ง มีอัตราเมตาโบลิซึมต่ำ อัตราการใช้ออกซิเจนจะลดลงเป็นอย่างมาก เช่นอาจเป็น 1/3 หรือ 1/100 ของอัตราปกติ หัวใจจะเต้นนาทีละไม่กี่ครั้ง ประโยชน์ของการจำศีลของสัตว์ มีประโยชน์ต่อการอยู่รอด เพราะว่าฤดูหนาวอาหารหายากมาก การอยู่นิ่งไม่เคลื่อนที่ทำให้ร่างกายค่อย ๆ เผาผลาญไขมันซึ่งสะสมไว้อย่างช้า ๆ เป็นเวลานานหลายเดือน
สัตว์เลื้อยคลานที่อยู่บนบก เช่น งู ตุ๊กแก จิ้งจก กิ้งก่า แย้ ตะกวด ฯลฯ เป็นสัตว์พวกสัตว์เลือดเย็น แต่สามารถปรับอุณหภูมิของร่างกายในช่วงที่มีกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานมากให้สูงขึ้นกว่าขณะนอนพัก สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์ไปกระตุ้นให้อุณหภูมิของร่างกายสูงเพียงพอที่จะเกิดกิจกรรมประจำวัน เมื่อร่างกายได้รับแสงอาทิตย์ อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในทะเลทรายหรือบนภูเขาสูง ๆ หรือขั้วโลก เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นในระดับที่พอเหมาะสม สัตว์เลื้อยคลานจึงจะเคลื่อนไหวให้ร่างกายรับแสงอาทิตย์น้อยลง หรือหลบเข้าที่ร่ม ดังนั้น กิ้งก่า จิ้งเหลนจึงรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วงที่แคบมาก กลางคืนอุณหภูมิลดลง สัตว์เหล่านี้จะเคลื่อนไหวน้อย หลบเข้าไปอยู่ในที่ปลอดภัย และหยุดการเคลื่อนไหว อุณหภูมิของร่างกายจะลดต่ำจนใกล้เคียงกับสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัย
สำหรับผึ้ง มีการปรับอุณหภูมิ เช่น บริเวณรวงตัวอ่อนมีอุณหภูมิพอเหมาะระหว่าง 33 องศาเซลเซียสถึง 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิทั่วไปภายในรัง 29 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนผึ้งจะกระจายตัวกันอยู่และมีการทำให้เย็นได้โดยยืนอยู่หน้ารังและกระพือปีก (fanning) พัดน้ำที่หามาให้ระเหยเหมือนระบบพัดลมปรับอากาศ ในฤดูหนาวเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส และผึ้งจะแข็งตายที่อุณหภูมิ -1.9 องศาเซลเซียส เพื่อการอยู่รอดในรังไม่ควรมีอุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส ในกรณีที่อุณหภูมิลดลงผึ้งจะเกาะกลุ่มกันแน่นภายในรังเพื่อเพิ่มความร้อนขึ้น
ในตอนต่อไป โปรดติดตาม อากาศร้อนกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต ตอนที่ 2
แหล่งที่มา
ไชยกิจ ชิตานนท์ . (14 กันยายน 2545). สัตว์เลือดอุ่น สัตว์เลือดเย็น. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2562 . จาก https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/science/10000-8052.html
สัตว์นานาชาติ. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2562 . จาก http://wissawa2545.blogspot.com/p/blog-page_47.html
-
10122 อากาศร้อนกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต ตอนที่ 1 /article-physics/item/10122-2019-04-19-04-50-10เพิ่มในรายการโปรด