วิศวกรรมย้อนกลับ อาจเป็นกระบวนการทางวิศวกรรมที่พาไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด
คำว่า “ย้อนกลับ” อาจเป็นคำที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าจะเป็นกระบวนการทางวิศวกรรมที่พาเราย้อนกลับไปหาต้นตอ ต้นเรื่อง หรือต้นกำเนิด ของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบงานหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่กระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับนั้นจะไม่หยุดแค่ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ แนวคิดในการออกแบบระบบงานทางวิศวกรรม แต่ยังต้องพัฒนาระบบงานและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย (ดูคล้ายกับการทำงานแบบ Copy and development)
ภาพที่ 1 การออกแบบแปลนทางวิศวกรรม
ที่มา https://pixabay.com, BrooklynJohn
ความหมายของ Reverse engineering
อย่างแรกถ้าเราพูดถึงการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทางด้านซอฟต์แวร์ (software) อย่างการเขียนโค้ดหรือวิทยาการคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาและสร้างระบบเก็บข้อมูลอะไรสักอย่าง Reverse engineering จะหมายถึงการ break down (แยกแยะอย่างละเอียด) ของโค้ดคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน เป็นการค้นหาความหมายของโค้ดนั้น ๆ ว่ามีการทำงานอย่างไร เชื่อมโยงกันอย่างไร เป็นการศึกษาเพื่อแก้ไขจุดผิดพลาดของโค้ด และเพื่อพัฒนาให้เกิดโปรแกรมใหม่ ๆ ด้วย
อย่างที่สองถ้าเราพูดถึงกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ หรือเป็นการผลิตด้วยมือ Reverse engineering จะหมายถึงการ ศึกษาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อแยกแยะชิ้นส่วน แยกแยะส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (อาจเป็นการแยกแยะศึกษาองค์ประกอบทางเคมีถ้าผลิตภัณฑ์ต้นแบบเป็นสารทางเคมี) เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงาน แนวคิด ขั้นตอนการทำงาน และวิธีการผลิต ซึ่งการศึกษาด้วยวิธีการวิศวกรรมแบบย้อนกลับนี้จะช่วยให้สามารถพัฒนาสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาดได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกใหม่ทั้งหมดแต่เป็นการต่อยอดจากงานเดิมที่มีอยู่แล้ว
Reverse engineering คือการรื้อบ้านของคนอื่น เพื่อสร้างบ้านของตัวเอง (ที่ดีกว่า)
สรุปแล้ว Reverse engineering คือการแยกแยะบางสิ่งออกมาเป็นชิ้น ๆ เป็นขั้นตอน ๆ แล้วศึกษาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จากนั้นก็นำมาประกอบใหม่โดยใส่สิ่งที่ดีกว่าลงไปด้วย หรือตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ดังนั้นวิธีการ Reverse engineering นี้จึงเป็นกระบวนการที่ทุกคนน่านำไปปรับใช้ ทั้งในการเรียน เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจบทเรียน ตำราต่าง ๆ หรือสิ่งที่อาจารย์ต้องการถ่ายทอดได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังจะสามารถต่อยอดองค์ความรู้เดิม ๆ ด้วยการผสมผสานจินตนาการลงไป หรือนำไปปรับใช้ในการทำงานเพื่อให้เข้าใจขั้นตอนของการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ผู้บริหารต้องการ และเพื่อพัฒนางานเดิมที่ทำกันมาอย่างยาวนานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างการทำงานด้วยวิธี Reverse engineering จนสามารถสังเคราะห์กาแฟที่ไม่ต้องเพาะปลูก
สำหรับตัวอย่างของการทำงานแบบ Reverse engineering ที่จะหยิบยกมาเล่าในวันนี้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถใช้กระบวนการวิศวกรรมย้อนกลับจนสังเคราะห์ “กาแฟ” ที่เหมือนชงมาจากเมล็ดกาแฟจริง ๆ ได้ โดยจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้นั้นมาจากแนวโน้มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กาแฟ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความร้อน ความแห้งแล้ง และการกลายพันธุ์ของศัตรูพืชที่ทำให้เหล่าเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรับมือยากขึ้นไปทุกขณะ สตาร์ทอัพกลุ่มนี้จึงได้ใช้วิธีการศึกษาแบบ Reverse engineering เพื่อวิเคราะห์ แยกแยะองค์ประกอบทั้งหมดของกาแฟ ทั้งรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น สี และตั้งชื่อกาแฟนี้ว่า Atomo coffee
มีรายงานจากภาคเกษตรกรรมเมล็ดกาแฟยืนยันอย่างแน่นอนว่าการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟนั้น ได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างโหดร้าย ทั้งอุณหภูมิ ฤดูแล้งที่ยาวนาน หรือแม้กระทั่งเมื่อฝนตกแทนที่จะเป็นเรื่องที่ดีก็กลับกลายเป็นสาเหตุของการพังทลายของหน้าดินที่ใช้เพาะปลูกกาแฟ
The International Center for Tropical Agriculture (ศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ) คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เพาะปลูกเมล็ดกาแฟบนโลกในปัจจุบันนี้จะไม่สามารถทำเกษตรกรรมเมล็ดกาแฟได้อีกต่อไป
ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ได้ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบทางด้านเคมีของกาแฟอย่างละเอียด จนพบว่าในเมล็ดกาแฟคั่ว 1 เมล็ดก็มีสารประกอบมากกว่า 1,000 ชนิด แต่มีอยู่ประมาณ 40 กว่าตัวเท่านั้นที่มีผลต่อรสชาติของกาแฟที่มนุษย์คุ้นเคย ซึ่งสาร 40 กว่าตัวนี้ก็สามารถหาได้ในวัตถุดิบทางธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่า plant-based ingredients อีกทั้งทีมพัฒนายังค้นพบวิธีที่จะตัดรสขมออกจากกาแฟด้วยการนำกรด (acid) บางตัวออกจากองค์ประกอบ ซึ่งจะทำให้เราสามารถดื่มกาแฟโดยที่ไม่ต้องเติมน้ำตาลหรือครีมเทียมได้
กระบวนการทางวิศวกรรมย้อนกลับนี้จะสามารถเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าท่านจะทำงานอยู่ในแขนงไหนก็ตาม ไม่ว่าจะทางด้านวิทยาศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ เพราะมันคือการให้ความสนใจในสิ่งที่ชอบ การศึกษาอย่างจริงจัง จนเข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้น ๆ พัฒนาต่อยอด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา
แหล่งที่มา
Computer Hope. (September 15, 2017). Reverse engineering. Retrieved Jan 20, 2020 from https://www.computerhope.com/jargon/r/reverse-engineering.htm
Brian Engard. (November 21, 2016). The Power of Reverse Engineering. Retrieved Jan 20, 2020 from https://www.thesoftwareguild.com/blog/what-is-reverse-engineering/
WORLD CHANGING IDEAS. (November 02, 2019). The Power of Reverse Engineering. Retrieved Jan 20, 2020 from https://www.fastcompany.com/90305470/this-startup-reverse-engineered-coffee-in-case-climate-change-means-we-cant-get-coffee-beans?utm_source=newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=newsletter_axiosfutureofwork&stream=future&fbclid=IwAR0mE1RpvLB-iIeiNXievxyQQkBKFkaZ4w-jz4NOWa02GPfq533rz3h66uc
-
11339 วิศวกรรมย้อนกลับ อาจเป็นกระบวนการทางวิศวกรรมที่พาไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด /article-physics/item/11339-2020-03-06-07-55-58เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง