Rosalyn Yalow นักฟิสิกส์สตรีพิพิชิตรางวัลโนเบลแพทย์ศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 1977
Rosalyn S. Yalow
ที่มา: http://cdn.history.com/sites/2/2014/01/U1914123.jpg
Rosalyn S. Yalow คือผู้พิชิตรางวัลโนเบลชสาขาแพทย์ศาสตร์ประจำปีค.ศ. 1977 ร่วมกับ Roger Guillemin และ Andrew Schally ด้วยผลงานการประดิษฐ์เทคนิค Radioimmunoassay (RIA) ที่ได้ปฏิรูปวิธีวิเคราะห์โรคโดยแพทย์อย่างมโหฬาร ทั้ง ๆ ที่เธอสำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์และได้เรียนชีววิทยามาค่อนข้างน้อย แต่เมื่อเธอทำงานวิจัยสาขาฟิสิกส์การแพทย์ เธอกลับรู้วิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ดีกว่าและมากกว่าแพทย์อาชีพหลายคน
เทคนิค RIA ที่เธอคิดสร้างเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ใช้อะตอมของธาตุกัมมันตรังสีในการวัดความเข้มข้นที่น้อยนิดของสารแปลกปลอมที่มีในร่างกาย ซึ่งสารดังกล่าวได้แก่ ฮอร์โมน ขาเสพติด วิตามิน หรือแม้แต่ไวรัสที่กำลังคุกคามชีวิต การติดตามการกระจัดกระจายของอะตอมธาตุกัมมันตรังสีในร่างกายในสามมิติ และการเห็นการสลายตัวของธาตุก้มมันตรังสีในบริเวณที่เป็นเนื้อร้าย รวมถึงการติดตามการไหลเวียนของเลือดในร่างกายคนไข้สามารถทำให้แพทย์มีข้อมูลที่ช่วยให้รู้วิธีรักษา รวมถึงการใช้ยาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้และช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้คนข้ป่วยเป็นโรคด้วย
Rosalyn Yalow เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1921 ที่ New York City ในครอบครัวที่มีเชื้อชาติยิว แม้บิดามารดาจะไม่ได้รับการศึกษาที่สูงถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่คนทั้งสองก็ได้ผลักดันลูกสาว Rosalyn ให้รักการเรียน ตั้งแต่มีอายุยังน้อยในวัยเด็ก Rosalyn ชอบเรียนเคมีมาก เพราะรู้สึกว่าครูที่สอนเคมีเป็นครูที่สอนหนังสือดี และเป็นคนใจดี จึงทำให้เธอรักครูท่านนี้ แต่เมื่อมารดาแนะนำให้เลือกอาชีพครูเธอกล่าวปฏิเสธ และบอกแม่ว่าเธอต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่า โดยเฉพาะนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ เพราะเธอ มี Marie Curie เป็นนักวิทยาศาสตร์ในดวงใจ และต้องการเจริญรอยตาม
เมื่ออายุ 20 ปี Rosalyn สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์จาก Hunter College ซึ่งเป็นวิทยาลัยสำหรับสตรี และเป็นบัณฑิตสตรีสาขาฟิสิกส์คนแรกของวิทยาลัยจากนั้นได้คิดจะเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก แต่ต้องประสบอุปสรรคมากมายเช่น ถูกตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นคนเชื้อชาติยิว และฟิสิกส์ที่เธอต้องการจะเรียนเป็นวิชาที่เหมาะสำหรับผู้ชายเท่านั้น ประจวบในช่วงเวลานั้นใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วชายอเมริกันจำนวนมากได้ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร มหาวิทยาลัยจึงมีนิสิตเข้าเรียนน้อย ดังนั้นเมื่อเธอสมัครเรียน มหาวิทยาลัย Illinois ก็ตอบรับทันที เธอจึงได้ไปเรียนที่ Urbana-Champaign และเป็นนิสิตสตรีเพียงคนเดียวท่ามกลางนิสิตชาย 399 คน
ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และสติปัญญาที่เยี่ยมยอดทำให้ Rosalyn สามารถเรียนได้เกรด A ทุกวิชา เมื่ออายุ 22 ปี เธอได้เข้าพิธีสมรสกับ Aaron Yalow ซึ่งเป็นเพื่อนนิสิตปริญญาเอกที่กำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในการทำวิทยานิพนธ์เธอมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ Maurice Goldhaber (ผู้พบการสลายตัวของนิวเคลียสโดยรังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมาพลังงานสูง และยังเป็นผู้พบการสลายตัวของนิวเคลียสธาตุ lithium, boron กับ nitrogen โดยอนุภาคนิวตรอนด้วย) ในปี ค.ศ. 1945 Rosalyn วัย 24 ปี สำเร็จการศึกษาฟิสิกส์ระดับปริญญาเอกโดยมีความเชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี จากนั้นได้ไปฝึกงานที่ห้องปฏิบัติการ Federal Telecommunications Laboratory ในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี เธอก็พบว่า งานที่เธอทำ เป็นงานที่ไม่สร้างสรรค์เลย คือค่อนข้างจำเจ จึงขอลาออกไปสมัครเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่ Hunter College ที่เธอเคยเรียน ส่วนสามีได้งานทำที่โรงพยาบาล Montefiore ซึ่งตั้งอยู่ที่ Bronx ใน New York
วันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งของสามีได้แวะมาเยี่ยมการสนทนากับเธอทำให้เขารู้สึกประทับใจในความสามารถทางวิชาการของเธอมาก จึงพูดจูงใจให้ Rosalyn ไปทำงานเป็นนักวิจัยด้านรังสีบำบัดที่โรงพยาบาล Bronx Veterans Administration NA Hospital) ในปี ค.ศ. 1947 และทำงานวิจัยเรื่องการพัฒนาเทคนิคการใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คำเชื้อเชิญนี้ทำให้ Rosalyn ตอบตกลง
เพราะ Rosalyn แทบไม่มีความรู้ด้านแพทย์ศาสตร์เลย เธอจึงต้องหาผู้ร่วมงานเป็นแพทย์ที่ชอบวิจัย หลังจากที่ได้สนทนากับ Solomon Berson ผู้ไม่มีความรู้ฟิสิกส์มากเช่นกันทั้งสองได้ตกลงใจทำงานร่วมกันในการพัฒนาเทคนิคการใช้Antibody ที่มีอะตอมกัมมันตรังสีมาเกาะติดเพื่อวัดปริมาณAntigen ในร่างกายคน นั่นคือทั้งสองต้องการใช้วิธีวิเคราะห์คนที่เป็นโรคต่อม thyroid อักเสบ ด้วยการฉีดอะตอมกัมมันตรังสีเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วย แล้วติดตามเส้นทางการเคลื่อนที่และการสลายตัวของอะตอมกัมมันตรังสีนั้น
ในเวลาต่อมา I. Arthur Missky ได้แนะนำให้ Rosalyn และ Berson ใช้เทคนิคกัมมันตรังสีวิเคราะห์คนที่เป็นโรคเบาหวานว่าเกิดจากการสลายตัวอย่างรวดเร็วเกินไปของฮอร์โมน insulin โดย enzyme ชนิด insulinase ว่าเป็นไปได้หรือไม่
ณ เวลานั้นวงการแพทย์มี insulin ที่บริสุทธิ์ 100% ใช้แล้ว Rosalyn กับ Berson จึงทดลองฉีด insulin ที่สกัดได้จากสัตว์ และมีอะตอมกัมมันตรังสีกะติดอยู่เข้าในร่างกายคนไข้ และได้พบว่า insulin จะสลายตัวอย่างซ้ำ ๆ ทั้งสองจึงคิดว่าคงเกิดจากการที่ร่างกายสร้าง antibody ซึ่งจะไปยึดติดกับ insulin เพราะ antibody เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ จึงเป็นเรื่องยากที่ร่างกายจะกำจัดมันออกไป
Rosalyn และ Berson ได้ส่งผลงานไปลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Clinical Investigation แต่ถูกกองบรรณาธิการวารสารปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นงานที่ไม่สำคัญ เพราะไม่ได้ให้องค์ความรู้ใหม่เลย (Rosalyn ได้นำผลงานที่ถูกปฏิเสธนี้ไปบรรยายในพิธีเลี้ยงฉลองรางวัลในเบลของเธอ)
เมื่อถูกปฏิเสธ เธอกับ Berson ได้นำงานชิ้นนั้นไปเผยแพร่ในวารสารอื่น และทุ่มเททำงานต่อไป โดยฉีดปริมาณ insulin ที่ไม่มีอะตอมก้มมันตรังสี เข้าไปในเลือดทีละน้อย ๆ และพบว่า ปริมาณ insulin ที่มีอะตอมกัมมันตรังสีเริ่มแยกตัวออกห่างจาก antibody การวัดปริมาณ insulin ที่มีอะตอมกัมมันตรังสีทำให้รู้ปริมาณ insulin ที่ไม่มีกัมมันตรังสีในร่างกายไปพร้อมกัน
RIA จึงเป็นเทคนิคสำคัญที่ทำให้แพทย์รู้ปริมาณ insulin ที่มีในร่างกายคน จากนั้น Rosalyn กับ Berson ก็ได้พัฒนาเทคนิคนี้ต่อไปเพื่อวัดปริมาณฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น human growth, Adrenocorticotropic, parathyroid และ gastrin
Solomon Berson และ Rosalyn S. Yalow
ที่มา: https://www.washingtonpost.com/local/obituaries/nobel-winner-rosalyn-yalow-dies-at-89/2011/06/02/AGwgMdHH_story.html
ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ทั้งสองมีชื่อเสียงมาก ถึงปี ค.ศ. 1972 Berson ได้ถึงแก่กรรมในวัย 53 ปี โดยไม่รู้เลยว่าอีก 5 ปีต่อมา ผลงานที่ตนทำร่วมกับ Rosalyn จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ เมื่อเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต Rosalyn รู้สึกเสียใจมากเพราะตระหนักดีว่า ความสำเร็จของเทคนิค RIA เกิดจากวิธีคิดของ Berson ส่วนตัวเธอมีความสามารถด้านเทคนิค
ในปี ค.ศ. 1976 Rosalyn ได้รับรางวัล Albert Lasker Basic Medical Research Award ซึ่งเป็นรางวัลที่แสดงว่าผู้ได้รับมีแนวโน้มจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ในอนาคต แล้วความคาดหวังของทุกคนก็เป็นจริง เพราะรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ. 1977 ทำให้เธอเป็นสตรีคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ (สตรีคนแรกคือ Gerty Cori ในปี ค.ศ. 1947)
ในปี ค.ศ. 1988 เธอได้รับเหรียญ National Medal of Science ซึ่งนับเป็นการยกย่องสูงสุดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะให้แก่พลเมือง ด้วยผลงาน RIA ของเธอกับ Berson ที่คนทั้งสองไม่ได้ขอจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรใด ๆ เพราะต้องการให้ชาวโลกได้รับประโยชน์จากการค้นพบนี้มากที่สุด
Rosalyn ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1977
ที่มา: http://newshour-tc.pbs.org/newshour/wp-content/uploads/2015/07/GettyImages-3251882.jpg
ในด้านงานช่วยเหลือสังคม เธอได้ทุ่มเทเวลาเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านคุณประโยชน์ของกัมมันตรังสีให้สังคมและประชาชนทั่วไปทราบ อย่างไม่ตื่นกลัวที่ไร้เหตุผลในทุกหนแห่งที่เธอเดินทางไปบรรยาย เธอจะส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น
แม้จะต้องทำงานวิจัยเต็มเวลา แต่เธอก็ยังมีเวลาเหลือให้ครอบครัว ตามปกติหลังจากที่เตรียมอาหารเย็นให้ลูกสองคนและสามีแล้ว เธอจะหวนกลับไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการอีกในตอนค่ำ เธอเชื่อว่า เธอสามารถทำงานทั้งสองด้านคือ วิจัยและดูแลครอบครัวได้ เพราะเธอรักงานทั้งสองรูปแบบเท่า ๆ กัน แม้เธอจะไม่ทุ่มเทชีวิตให้งานมากเท่า Marie Curie ก็ตาม แต่เธอก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ต้นแบบของสตรีหลายคน
Rosalyn Yalow เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2011 ที่ New York สิริอายุ 89 ปี ทุกวันนี้ที่ Veterans Administration Hospital ใน New York มีห้องปฏิบัติการ Berson-Yalow ซึ่งทำหน้าที่ให้ยาที่มี iodine-131 (สารกัมมันตรังสี) แก่คนไข้เพื่อศึกษาความผิดปกติอันเนื่องจากเบาหวาน (diabetes) อันเป็นเทคนิคที่ Berson และ Yalow ได้ร่วมกันพัฒนา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Creager. Angela N.H. (2015). Life Atomic: A History of Radioisotopes in Science and Medicine. University of Chicago Press.
-
12581 Rosalyn Yalow นักฟิสิกส์สตรีพิพิชิตรางวัลโนเบลแพทย์ศาสตร์ประจำปี ค.ศ. 1977 /article-physics/item/12581-2022-02-15-07-00-17-2-2-2-2-2-3เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง