เรียนรู้โพรเจกไทล์ ผ่าน Learning Object เรื่อง ตะกร้อลอดห่วง
เรียนรู้โพรเจกไทล์ ผ่าน Learning Object
...เรื่อง ตะกร้อลอดห่วง...
Learning Object เรื่องตะกร้อลอดห่วง ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของทีมนายฮ้อยทมิฬ จากวิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน จ.สกลนคร ในการแข่งขันหุ่นยนต์ศึกตะกร้อพิชิตจักรวาล ทีมนายฮ้อยทมิฬเข้าแข่งขันการสร้างและควบคุมหุ่นยนต์ที่สามารถยิงลูกตะกร้อให้เข้าห่วง มีชัยชนะเหนือทีมจากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ในปี 2546
ตะกร้อลอดห่วง เป็นสื่อดิจิทัลที่ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายเกม แต่เป็นเกมที่สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียน สังเกตการเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อธิบายผลของแรงที่กระทำต่อวัตถุ และลักษณะการเคลื่อนที่ รวมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์
การเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์เป็นการเคลื่อนที่ในแนวโค้ง โดยวัตถุเคลื่อนที่ในแนวระดับและแนวดิ่งพร้อมๆ กัน การเคลื่อนที่ในแนวระดับจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงตัว ส่วนการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งจะเคลื่อนที่ด้วยความเร่งคงตัว Learning Object เรื่องตะกร้อลอดห่วงนี้มุ่งหวังให้ผู้เรียนสังเกตการณ์เคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ของลูกตะกร้อที่ถูกยิงออกจากหุ่นยนต์ ว่ามีลักษณะการเคลื่อนที่อย่างไร และสังเกตว่าแนวการเคลี่อนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อผู้เรียนปรับเปลี่ยนมุมยิง หรือความเร็วต้นในการยิง เพื่อให้ลูกตะกร้อเข้าห่วงพอดี เมื่อยิงลูกตะกร้อเข้าห่วงครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ผู้เรียนจะสามารถผ่านขึ้นไปทำกิจกรรมในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ต่อจากกิจกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ ใน Learning Object เรื่องนี้ยังมีตัวอย่างการเคลื่อนที่แบบต่างๆ ให้ผู้เรียนจำแนกว่าการเคลื่อนที่แบบใดที่เป็นการเคลื่อนที่ในลักษณะการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์
ครูผู้สอนสามารถนำ Learning Object เรื่องตะกร้อลอดห่วงนี้ ไปประกอบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ในหลายขั้นตอน เช่น อาจใช้สร้างความสนใจ หรือใช้สร้างองค์ความรู้ หรืออาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการประเมินผลการเรียนรู้ก็ได้ ทั้งนี้ควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยผสมผสานการใช้สื่อดิจิทัลกับการปฏิบัติเรียนรู้จากของจริง เช่น อาจทำกิจกรรมให้นักเรียนสังเกตการเคลื่อนที่ของลูกบาสเกตบอล หรือให้นักเรียนออกแบบวิธีการเพื่อบันทึกแนวการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ครูทราบว่ามีแนวการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก่อนนำสื่อดิจิทัลไปใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ คือ การเตรียมการด้านเทคนิคโดยการทดลองใช้สื่อดิจิทัลในสภาพห้องเรียนจริงที่จะใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้
ด้วยการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งใช้สื่อที่หลากหลาย เด็กๆ จะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์อย่างเป็นสุข สนุกสนาน เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้
ภาพที่ 1 ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ ผ่านกิจกรรมในลักษณะของเกม ที่กำหนดให้ยิงตะกร้อให้เข้าห่วง ผู้เรียนคลิกแล้วลากที่ลูกตะกร้อที่มุมบนซ้ายของจอเพื่อปรับเปลี่ยนมุมยิง (ซ้าย) และความเร็วต้นในการยิง (ขวา)
ภาพที่ 2 Learning Object เรื่องตะกร้อลอดห่วง สร้างแรงกระตุ้นให้กับผู้เรียน โดยออกแบบให้โปรแกรมสามารถบันทึกชื่อผู้ที่ทำคะแนนในการยิงตะกร้อสูงสุด 10 อันดับไว้ได้ (ซ้าย) นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ พร้อมภาพเคลื่อนไหวแสดงการเปลี่ยนแปลงความเร็วในแนวดิ่งและในแนวระดับของวัตถุ (ขวา)
ภาพที่ 3 ในกิจกรรมค้นหาโพรเจกไทล์ ผู้เรียนศึกษาภาพเคลี่อนไหวแสดงตัวอย่างการเคลื่อนที่แบบต่างๆ ในโรงงาน (ซ้าย) และในสนามเด็กเล่น (ขวา) แล้วระบุว่าการเคลื่อนที่นั้นเป็นการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์หรือไม่ แล้วจึงคลิกตรวจคำตอบเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
-
1338 เรียนรู้โพรเจกไทล์ ผ่าน Learning Object เรื่อง ตะกร้อลอดห่วง /article-physics/item/1338-learning-objectเพิ่มในรายการโปรด