ไข่ดี ไข่เสีย
เวลาเราจะทำไข่เจียวสัก 2-3 ฟอง หลายคนคงเคยประสบเหตุการณ์ต่อไปนี้มาก่อน คือ เราต่อยไข่ดิบฟองที่ 1 และฟองที่ 2 ใส่ถ้วยแล้ว แต่พอฟองที่ 3 เมื่อต่อยไข่ใส่ลงไปปรากฏว่าเป็นไข่เสีย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อารมณ์เราก็เลยเสียไปด้วย ไข่ทั้งหมดในถ้วยต้องเททิ้งใช่ไหมครับ ถ้ายังมีไข่ดิบเหลืออยู่เราก็เริ่มทำใหม่ได้ แต่ถ้าไม่เหลือ ก็คงไม่ต้องพูดถึงอารมณ์ของคนที่กำลังหิวขณะนั้นแล้ว ถ้าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกจะป้องกันได้อย่างไร
แม่บ้านหลายคนบอกวิธีป้องกันปัญหานี้ ด้วยการต่อยไข่ทีละฟองลงในถ้วยเล็ก ๆ ก่อน ถ้าเป็นไข่ดีก็เทลงในถ้วยใหญ่สำหรับตีไข่ ถ้าพบไข่เสียก็ทิ้งไป แบบนี้ ไข่ดีที่ใส่ในถ้วยใหญ่ไปแล้วก็จะยังใช้ได้ ไม่ต้องทิ้งทั้งหมด แต่ถ้าเราใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สักนิด เราก็สามารถแยกไข่ดีและไข่เสียออกจากกันได้ในคราวเดียวและง่ายต่อการทำด้วย แค่เรามีภาชนะใส่น้ำเช่น อ่างน้ำเล็ก ๆ ที่ใส่น้ำได้สูงสัก 7 – 10 เซนติเมตรก็พอ เอาไข่ดิบใส่ลงในน้ำ ไข่ฟองไหนจมน้ำ แสดงว่าเป็นไข่ดี แต่ฟองไหนลอยน้ำ ฟองนั้นเป็นไข่เสีย ง่ายแค่นี้เองครับ
เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ไข่ดิบที่ดี มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ เมื่อใส่ลงในน้ำจึงจมน้ำ ไข่ที่จมน้ำจึงบอกได้เลยว่าเป็นไข่ดี เปลือกไข่มีรูพรุนนะครับ แบคทีเรียที่มีขนาดเล็กกว่ารูพรุนจะผ่านเปลือกไข่เข้าไปได้ตลอดเวลา เมื่อทิ้งไว้นานหลาย ๆ วันจนไข่เก่ามาก แบคที่เรียที่เข้าไปภายในไข่ทำปฏิกิริยากับเนื้อในของไข่ที่เป็นโปรตีนมากขึ้น ๆ จนไข่เสีย และเกิดแก๊สภายในไข่มากขึ้นด้วย แก๊สนี้ส่วนใหญ่เป็นแก๊สไข่เน่า (H2S) มีกลิ่นเหม็น และก็ทำให้ไข่เสียมีความหนาแน่นน้อยลงจนน้อยกว่าน้ำ เมื่อใส่ลงในน้ำจึงทำให้ไข่เสียลอยน้ำครับ
..................................................
อ.นัทธี สามารถ
ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้
สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สสวท.
-
4800 ไข่ดี ไข่เสีย /article-physics/item/4800-2016-04-04-04-44-30เพิ่มในรายการโปรด