อันตราย ไฟฟ้าแรงสูง สูงแค่ไหน
ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีสถิติการเกิดอุบัติภัยไฟฟ้าแรงสูงบ่อยครั้ง เนื่องจากมีพายุลมแรง และฝนตกหนัก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดเสาไฟฟ้าล้มและสายไฟฟ้าขาด การเรียนรู้วิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าแรงสูงและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยเมื่อเกิดอุบัติภัยจากไฟฟ้าแรงสูง จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นได้
ภาพที่ 1 สายไฟ้ฟ้าแรงสูง
ที่มา https://tech.mthai.com
ไฟฟ้าเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไฟฟ้าสูงเกินกว่า 1,000 โวลต์ขึ้นไป เราเรียกว่า ไฟฟ้าแรงสูง ทั้งนี้ไฟฟ้าแรงสูงมีทั้งประโยชน์และโทษ การส่งกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อการส่งกระแสไฟฟ้าไปยังพื้นที่ห่างไกล เช่น พื้นที่ต่าง ๆ ในต่างจังหวัด จำเป็นต้องส่งด้วยระบบไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งนับเป็นข้อดีของไฟฟ้าแรงสูง ในขณะเดียวกันข้อเสียก็สร้างความสียหายอย่างมหาศาล สมคำว่าไฟฟ้าแรงสูงกันเลยทีเดียว
ไฟฟ้าแรงสูงมีแรงดันไฟฟ้าที่สูงมาก โดยปกติระบบไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้านครหลวงจ่ายไฟฟ้า ตั้งแต่ 12,000 โวลต์ ถึง 115,000 โวลต์ เป็นส่วนใหญ่ หากเทียบกับไฟฟ้าแรงต่ำที่เราใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านทั่วไป (220 โวลต์) ถือว่ามีแรงดันสูงมากที่จะทำให้ไฟฟ้าแรงสูงสามารถกระโดดข้ามอากาศ หรือฉนวนไฟฟ้าเข้าหาวัตถุ หรือสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่ต้องสัมผัส หรือแตะสายไฟ
เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากสายไฟฟ้าแรงสูง เราจึงควรรู้ว่าสายไฟฟ้าแรงสูงมีลักษณะอย่างไร ซึ่งมีวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ สายที่มีฉนวนไฟฟ้าลักษณะเป็นถ้วยคว่ำ เรียกว่า ลูกถ้วยคว่ำ ทำจากกระเบื้องขึงตรึงไว้ และจะอยู่สูงจากพื้นดินระยะ 9 เมตรขึ้นไปโดยส่วนใหญ่นั้นสายไฟฟ้าแรงสูงจะไม่มีฉนวนหุ้ม หรือถ้ามีก็หุ้มบาง ๆ เท่านั้น มีการพันทับด้วยสายชีลด์ (Shield) หากวัตถุนั้นอยู่ในระยะอันตราย ซึ่งระยะอันตรายนี้ขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้ายิ่งสูง ระยะที่ไฟฟ้าสามารถกระโดดข้ามได้ก็ยิ่งไกล ไฟฟ้าแรงสูงจึงมีอันตรายมาก
มาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยจากสายไฟฟ้าแรงสูง
ระยะห่างระหว่างสายกับ อาคาร/สิ่งปลูกสร้าง/ป้ายโฆษณา
มาตรฐานระยะห่างในแนวนอนที่ปลอดภัยระหว่าง อาคาร/สิ่งปลูกสร้าง หรือป้ายโฆษณากับสายไฟฟ้าแรงสูงมีการกำหนดไว้ดังนี้
ภาพที่ 2 ระยะห่างสายไฟฟ้าแรงสูงกับอาคาร/ป้ายโฆษณา
ที่มา https://tech.mthai.com/tips-technic/41944.html
หมายเหตุ: ระยะดังกล่าวระยะดังกล่าวไม่ครอบคลุมการทำงานนอกตัวอาคาร หรือบนระเบียงเปิด อาจมีการยื่นวัตถุออกนอกตัวอาคารซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานหรือจะต้องมีการหุ้ม หรือคลุมสายเพื่อความปลอดภัย
ระยะห่างระหว่างสายกับผู้ปฏิบัติงาน/เครื่องมือกล
ระยะห่างระหว่างสายกับผู้ปฏิบัติงาน/เครื่องมือกล มาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยของการทำงานใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงสำหรับบุคคล หรือผู้ปฏิบัติงานถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือกลทุกชนิด เช่น ปั้นจั่น รถเครน หรือวัตถุที่ถืออยู่ในมือ จะต้องอยู่ห่างจากส่วนที่มีไฟฟ้าแรงสูงไม่น้อยกว่าระยะดังต่อไปนี้ ระยะห่างที่ปลอดภัย (เมตร)
ภาพที่ 3 ระยะห่างระหว่างสายกับผู้ปฏิบัติงาน/เครื่องมือกล
ที่มา https://tech.mthai.com/tips-technic/41944.html
หมายเหตุ: หากบริเวณที่ต้องการปฏิบัติงานมีระยะห่างที่ต่ำกว่ามาตรฐานจะต้องแจ้งให้การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการหุ้มหรือคลุมสายก่อนลงมือทำงาน
อุบัติเหตุจากไฟฟ้าแรงสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขณะทำงานใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงโดยมีสาเหตุมาจากความประมาทดังนั้นเราควรเรียนรู้ เข้าใจ และปฎิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับการทำงานต่าง ๆ ที่ต้องเกี่ยวกับไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง
แหล่งที่มา
ความรู้เกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง.สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560.จาก https://tech.mthai.com/tips-technic/41944.html.
การไฟฟ้านครหลวง.ข้อควรทราบเกี่ยวกับไฟฟ้าแรงสูง.สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560.จาก http://www.mea.or.th/profile/123/311.
-
7421 อันตราย ไฟฟ้าแรงสูง สูงแค่ไหน /article-physics/item/7421-2017-08-08-07-52-59เพิ่มในรายการโปรด