ใครคือนักวิทยาศาสตร์คนแรก?
นักวิทยาศาสตร์ (Scientist) คำนี้ถูกบัญญัติเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษในปีค.ศ. 1834 เมื่อวิลเลียม วีเวลล์ (William Whewell) นักประวัติศาสตร์และปรัชญาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้สร้างคำขึ้นเพื่อใช้อธิบายถึงบุคคลซึ่งศึกษาโครงสร้างทางกายภาพและพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตบนโลกผ่านการตั้งข้อสังเกตและทำการทดลอง
ภาพที่ 1 นักวิทยาศาสตร์
ที่มา FotoshopTofs/Pixabay
เพื่อตามหานักวิทยาศาสตร์คนแรก เราจำเป็นต้องเดินทางกลับไปในอดีตซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้มากที่สุดในยุคของชาวกรีกโบราณหรือราว 640-546 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยในช่วงเวลานั้นเราจะได้พบกับ เธลีสแห่งมิเลทัส (Thales of Miletus) นักปรัชญาที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ผู้คำนวณหาความสูงของพีระมิดในอียิปต์โดยใช้เงา แต่ผลงานของเขากลับไม่มีบันทึกที่เป็นหลักฐานอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับโฮเมอร์ (Homer) นักกวีในตำนานชาวกรีกที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งที่ยังคงถูกสงสัยถึงการมีตัวตนอยู่จริงในยุคสมัยนั้น หากเป็นเช่นนั้น เราอาจพิจารณาชาวกรีกโบราณท่านอื่น ๆ ได้ เช่น ยุคลิด (Euclid) บิดาแห่งวิชาเรขาคณิต หรือจะเป็นทอเลมี (Ptolemy) นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง แต่ทั้งหมดในบุคคลดังกล่าว แม้ว่าพวกเขาจะเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ พวกเขาก็ยังคงใช้การแสดงความคิดเห็นมากกว่าการใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์หรือหักล้างสมมติฐาน
นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สมัยใหม่มีต้นกำเนิดมาจากนักปรัชญาและคณิตศาสตร์ชาวอาหรับในช่วงยุคกลางถึงก่อนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้นประกอบไปด้วย อัล เคาะวาริสมี (al-Khwarizmi) นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวอาหรับในกรุงแบกแดด, อิบน์ ซินา (Ibn Sina) นักปราชญ์ชาวเปอร์เซียที่มีบทบาทด้านสาธารณสุข, อัล บิรูนี (al-Biruni) นักปราชญ์ผู้มีความเชี่ยวชาญหลายแขนง รวมทั้งอิบน์ อัลฮัยษัม (bn al-Haytham) นักฟิสิกส์ชาวอาหรับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านรู้จักอิบน์ อัลฮัยษัม ที่อาศัยอยู่ในอิรักราวปีค.ศ. 965-1039 ในฐานะนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่คิดค้นกล้องรูเข็ม (Pinhole camera) ค้นพบกฎของการหักเห (laws of refraction) และศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างเช่น รุ้งและสุริยุปราคา อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเจนว่า วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลของเขาเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่หรือเป็นเช่นชาวกรีกโบราณในยุคก่อน นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า เขาได้หลุดออกจากศาสตร์ของความลึกลับและเวทมนต์คาถาที่ยังคงมีอยู่และได้รับความสนใจในยุคสมัยนั้นแล้วหรือไม่
ภาพที่ 2 อิบน์ อัลฮัยษัม (Ibn al-Haytham)
ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Ibn_al-Haytham
เกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า อิทธิพลทางไสยศาสตร์ได้จางหายไปแล้วโดยสิ้นเชิงในหมู่นักวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การระบุลักษณะของนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการทดลอง มีการใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือพื้นฐาน พิจารณาข้อมูลโดยปราศจากอคติ รวมถึงต้องเข้าใจถึงความจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เขาผู้นั้นจะต้องไม่หวั่นไหวต่อหลักความเชื่อทางศาสนา และเต็มใจที่จะสังเกต ตอบสนอง และมีความคิดที่เป็นรูปธรรม และเพื่อค้นหานักวิทยาศาสตร์คนแรกที่มีลักษณะดังกล่าว เราอาจพบนักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นได้ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาจนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 16
เมื่อกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) คุณอาจนึกถึงกาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 1564-1642 ซึ่งเป็นผู้หักล้างแนวคิดการเคลื่อนที่ของอริสโตเติล (Aristotle) และเริ่มอธิบายถึงแนวคิดที่มีความซับซ้อน เช่น แรง ความเฉื่อย และความเร่ง นอกจากนี้เขายังเป็นผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ตัวแรกและใช้มันเพื่อทำการศึกษาดวงดาวและจักรวาล โดยสิ่งที่เขามองเห็นผ่านเลนส์ของอุปกรณ์นั้น ทำให้เขาพบกับความจริงที่ขัดกับแนวคิดของอริสโตเติลที่ว่า โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทั้งนี้การได้มาซึ่งข้อมูลและผลการศึกษาของเขายังเน้นในเรื่องของการสังเกตการณ์และการทดลอง แต่ถึงอย่างไร แม้ว่ากาลิเลโอจะมีคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่เขาก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในช่วง 20 ปีก่อนหน้า
ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เขาผู้ได้รับเกียรติให้เป็นนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ท่านแรกมีชื่อว่า วิลเลียม กิลเบิร์ต และข้อมูลนี้ค่อนข้างชัดเจนในประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์
ภาพที่ 3 วิลเลียม กิลเบิร์ต (William Gilbert)
ที่มา en.wikipedia.org/wiki/William_Gilbert_(astronomer)
วิลเลียม กิลเบิร์ต (William Gilbert) แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1544 ในเมืองโคลเชสเตอร์และเข้ารับการศึกษาวิชาแพทย์ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์นแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในช่วงปีค.ศ. 1558-1569 เขาประสบความสำเร็จในฐานะแพทย์ด้วยการได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ สมเด็จพระราชินีอะลิซาเบธที่ 1 และพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทั้งนี้ในระหว่างที่ทำอาชีพแพทย์ เขาได้ศึกษาทดลองเพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยต่างๆ มากมาย
หนึ่งในการทดลองที่ทำให้เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่คนแรกคือ การทดลองเพื่อพิสูจน์ในเรื่องของสภาวะของแม่เหล็ก โดยผลงานที่เป็นหลักฐานยืนยันการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นคือ "De Magnete, Magneticisque Corporibus, et de Magno Magnete Tellure" (ว่าด้วยแม่เหล็ก และวัตถุสภาพแม่เหล็ก และว่าด้วยแม่เหล็กใหญ่ของโลก) เป็นหนังสือเล่มแรกที่มีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์กายภาพที่ถูกตีพิมพ์ในอังกฤษ โดยในบทนำของหนังสือ กิลเบิร์ตได้อธิบายถึงความจำเป็นของการทดลองและพิสูจน์สมมติฐานแทนการคาดเดาและแสดงความคิดเห็นเช่นนักปรัชญาหรือนักวิเคราะห์ต่างๆ นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติในระหว่างการดำเนินการทดลองที่จะต้องมีความรอบคอบ มีทักษะและความชำนาญ และจะต้องไม่ประมาท ข้อมูลดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากปฏิบัติตามคำแนะนำของเขา ทั้งนี้เนื้อความภายในหนังสือของกิลเบิร์ตได้อธิบายถึงการทดลองที่ลงรายละเอียดมากกว่าบุคคลอื่น โดยเล่าถึงการทำซ้ำ รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ทำให้การศึกษาค้นพบข้อมูลสำคัญหลายประการเกี่ยวกับแม่เหล็ก และนั่นทำให้ผู้ร่วมงานของเขาต่างหันมาให้ความสนใจในความสงสัยใคร่รู้และความอยากรู้อยากเห็น อันนำมาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง ชัดเจน และพิสูจน์ได้
กิลเบิร์ตมีอิทธิพลโดยตรงต่อกาลิเลโอ ไม่ใช่เรื่องยากหากจะลองนึกภาพของกาลิเลโอกำลังนั่งอ่าน De Magnete และเห็นด้วยกับแนวคิดของกิลเบิร์ตเกี่ยวกับการทดลองและการสังเกตการณ์ ซึ่งแนวคิดเหล่านั้นอาจช่วยในการทำงานของกาลิเลโอเอง หนังสือดังกล่าวเป็นการรับรองเพียงอย่างเดียวที่อาจเพียงพอสำหรับการยกย่องให้วิลเลียม กิลเบิร์ตเป็นนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่คนแรก
ภาพที่ 4 ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon)
ที่มา en.wikipedia.org/wiki/File:Somer_Francis_Bacon
อย่างไรก็ดี หนังสือวิทยาศาสตร์หลายเล่มระบุว่า ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) เป็นบิดาแห่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดหลักฐานดังกล่าวจึงไม่ทำให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก? คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่า คุณสมบัติในการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์สมมติฐาน แต่ถึงอย่างนั้น เขายังเป็นนักปรัชญามากกว่านักทดลอง ซึ่งต่างจากวิลเลียม กิลเบิร์ตและกาลิเลโอ กาลิเลอี ที่ทำการออกแบบการทดลอง ดำเนินการทดลอง และบันทึกผลลัพธ์เช่นเดียวกับที่เหล่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายปฏิบัติการทดลองในห้องปฏิบัติการของชั้นเรียนฟิสิกส์ ความมุ่งมั่นในการดำเนินการทดลองอย่างแม่นยำและการทำซ้ำได้ถือเป็นจุดเด่นของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
แหล่งที่มา
William Harris. Who was the first scientist?
Retrieved January 30, 2018,
from https://science.howstuffworks.com/first-scientist1.htm
History of science.
Retrieved January 30, 2018,
from https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_science
William Gilbert (astronomer)
Retrieved January 30, 2018,
from https://en.wikipedia.org/wiki/William_Gilbert_(astronomer)
-
7852 ใครคือนักวิทยาศาสตร์คนแรก? /article-physics/item/7852-2018-02-22-02-22-48เพิ่มในรายการโปรด